กีดกันการค้า หรือเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์เศรษฐศาสตร์? (2)***

กีดกันการค้า หรือเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์เศรษฐศาสตร์? (2)***

ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐได้ดำเนินมาตรการทางการค้าในทางปฏิบัติที่กระทบจีน (และประเทศอื่น ๆ

รวมทั้งไทย) อย่างชัดเจนในการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาเซลล์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา แต่นักลงทุนก็ยังเพิกเฉย เพราะคงยังมีข้อสรุปว่า ทรัมป์ต้องการสร้างภาพทางการเมืองกับฐานเสียงของเขาแต่คงไม่กล้าเผชิญหน้ากับจีน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและภาคอุตสาหกรรมก็ขยายตัวดีอยู่แล้ว (ทำให้พรรคริพับริกัน ได้เปรียบในการเลือกตั้งปลายปีนี้) ตรงกันข้ามหากเปิดสงครามทางการค้ากับจีนก็เสี่ยงที่จีนจะตอบโต้โดยการไม่นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมพ์และพรรคริพับลิกัน นอกจากนั้น ทรัมพ์ก็ยังต้องพึ่งพาความร่วมมือจากจีนในการกดดันเกาหลีเหนืออีกด้วย

แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ผมเชื่อว่า นาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมการค้าคนใหม่ของสหรัฐ จะ”เอาจริง” กับจีนเพราะเป็นนักกฎหมายด้านการค้า (ชำนาญด้านการฟ้องร้องสินค้านำเข้า) และต้องการบังคับใช้กฎหมายการค้าอย่างจริงจังและยุติการเจรจาระดับสูงกับจีน เป็นที่ทราบกันดีว่า นาย Lighthizer มีความเชื่อว่าองค์กรการค้าระหว่างประเทศ (WTO) “ไม่มีน้ำยา”และไม่สามารถควบคุมความประพฤติของจีนได้ ซึ่งสะท้อนการรายงานล่าสุดของ USTR ว่าจีนไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO และกลไกยุติข้อพิพาทของ WTO ก็ไม่สามารถจัดการกับผู้ที่ละเมิดระบบการค้าเสรีของโลกได้ กล่าวคือรายงานของ USTR สรุปได้ดังนี้ “WTO’s dispute settlement mechanism is not effective in addressing a trade region that broadly conflicts with the fundamental underpinnings of the WTO system. No amount of enforcement activities by other WTO members would be sufficient to remedy this type of behavior ” ซึ่งผมแปลว่ารัฐบาลทรัมพ์จะ “ทำเอง” เพราะ WTO “ไม่มีน้ำยา”

แต่ในจังหวะนี้ ผู้นำของจีนคือประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ถือได้ว่าครองอำนาจอย่างมั่นคงสูงสุดดังที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี พร้อมกับเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และกำลังขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกว่า 1 เท่าตัว (จีดีพีสหรัฐขยายตัว 2.5% จีนขยายตัว 6.5%) กล่าวคือ จีนกำลังมีความมั่นใจในตัวเองสูงมากและต้องการให้ทุกประเทศและทุกคนต้อง “เกรงใจ” จีน เช่นกรณีที่รัฐบาลจีนสั่งปิดเว็บไซด์ของโรงแรม Marriott เป็นเวลา 1 สัปดาห์ (และกล่าวโทษ Qantas, Zara และ Delta) เพียงเพราะไปกล่าวถึง ไต้หวัน ฮ่องกง และทิเบต อย่างผิดพลาดในเชิงการทูตว่าเป็น “ประเทศ” เพราะดินแดนดังกล่าวเป็นเขตปกครองของประเทศจีน หลังจากที่สหรัฐประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 และทรัมพ์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 

จีนยิ่งมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า “The capitalist system is rife with abuse. A new international order is waiting to spring forth” ตามความเห็นของบทบรรณาธิการของ นสพ. People’s Daily ของจีน ซึ่งผมคิดว่าคงจะเดากันไม่ยากว่า ระเบียบระหว่างประเทศ “ใหม่” หรือ “new international order” นั้น จีนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งและเป็นผู้นำ ซึ่งผมประเมินว่าจะมิใช่ระบบการค้าเสรีซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของสหรัฐ โดยการกำกับของ WTO , IMF, UN และ World Bank แต่จะเป็นการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของจีน ซึ่งมีกลไกสำคัญคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจของยุโรปและเอเชียภายใต้โครงการเส้นทางสายไหม ศตวรรษที่ 21 (one belt on road) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง หมายความว่าจีนจะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจของโลก โดยทุกประเทศย่อมจะต้องยอมรับการชี้นำทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของจีนในลักษณะ State-led neo- mercantilism ซึ่งแตกต่างจากระบบ Democracy – free market ที่สหรัฐเคยสนับสนุนและขับเคลื่อนมาโดยตลอด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันนี้ แม้แต่สหรัฐเองก็ยังบอกว่า WTO นั้น ไม่มีน้ำยาแล้ว และ IMF ก็ไม่ใช่องค์กรหลักในการกำกับดูแลระบบการเงินของโลกมาตั้งแต่การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หลังจากที่ประธานาธิบดีนิกสันของสหรัฐประกาศลอยตัว (ลดค่า) เงินดอลลาร์ในปี 1971 ดังนั้น บทวิเคราะห์บทหนึ่งของ Wall Street Journal จึงสรุปว่า “The new Chinese-led order is already well underway” (23 มกราคม 2018)

ทั้งนี้ Gallup ได้ทำโพลทั่วโลก สรุปว่าความนิยมชมชอบผู้นำสหรัฐตกต่ำสุดในรอบ10 ปี (3 ประธานาธิบดี) ที่ผ่านมากล่าวคือปัจจุบัน ความนิยมชมชอบประธานาธิบดีทรัมพ์ลดลงเหลือเพียง 30% จากในอดีตที่เคยต่ำสุดตอนวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ภายในประธานาธิบดีบุช ที่ 34% และความนิยมชมชอบประธานาธิบดีโอบามาเฉลี่ยประมาณ 41-49% ตรงกันข้าม ความไม่พอใจประธานาธิบดีสหรัฐปัจจุบัน อยู่ที่ระดับสูงถึง 43% เทียบกับบุช ที่ประมาณ 33-34% (เพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ) และโอบามาที่เฉลี่ยประมาณ 21-28%

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำจีนคงจะพร้อมมาเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐอเมริกาและคงมิได้เกรงกลัวการเผชิญหน้ากันทางการค้ากับสหรัฐแต่อย่างใด

*** ชื่อเต็มเรื่อง: การกีดกันการค้า หรือการเผชิญหน้ากันทางอุดมการณ์เศรษฐศาสตร์? (2)