การท่องเที่ยว “เมืองเก่า” ภาคเหนือตอนล่าง
ผมได้รับเกียรติไปร่วมประชุมกับเครือข่ายนักวิจัยในโครงการ “การท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง“ สนับสนุนโดย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมี ผศ.ดร.ชุรีรัตน์ จันทร์เชื้อ ( อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ) เป็นผู้ประสานงานในโครงการงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือตอนล่าง
เป้าหมายสำคัญของโครงการการศึกษาการท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคเหนือตอนล่าง คือ การสร้างพื้นที่การท่องเที่ยวโดยที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อที่จะจัดการการบริหารการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนโดยคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งแต่ต้น อาจจะจำแนกพื้นที่ที่เข้าร่วมในโครงการฯได้อย่างกว้างๆว่าประกอบด้วยพื้นที่ “ชนบท” และพื้นที่ “เมืองเก่า”
ผมขอหยิบพื้นที่ “เมืองเก่า” มาเล่าให้ฟังในคราวนี้นะครับ ส่วนพื้นที “ชนบท” ซึ่งเน้นอยู่ในประเด็นของธรรมชาติที่สวยงามและมีคุณค่าประกอบกับวิถีชีวิตธรรมดา/ธรรมชาติของพี่น้องในภาคเกษตรกรรมนั้นจะขยายความในคราวต่อๆไป
การรื้อฟื้นการท่องเที่ยวพื้นที่ “เมืองเก่า” ได้ขยายตัวมากขึ้นมากในช่วง 20 ปีหลังมานี้ อาจจะกล่าวได้ว่าการทำงานร่วมกับเทศบาลสามชุก สุพรรณบุรี เป็นต้นตอหนึ่งที่ออกดอกออกผลอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากกระแสการโหยหา “อดีต” ( Nostalgia ) ของชนชั้นกลางรุ่นที่สองและสามของสังคมไทย
แม้ว่าการโหยหาอดีตเป็นสิ่งที่สวยงามและประเทืองจิตใจของผู้คน แต่หากจะคิดถึงการท่องเที่ยวที่ให้ผลมากกว่าความรู้สึกประทับใจเฉพาะหน้า จำเป็นที่จะต้องสร้าง “การโหยหาประวัติศาสตร์” เข้ามาร่วมด้วย เพราะไม่เช่นนั้น การโหยหาอดีตก็จะเลือกหยิบเอาบ้านเรือนเก่าๆ หรือขนม อาหาร แบบเก่ามาเสนอให้แก่นักท่องเที่ยวได้เสพเท่านั้น อาหาร ขนมแบบเก่า ไม่ได้หมายความว่าจะอร่อยไปเสียทุกอย่างนะครับ เพราะในสมัยนั้น การประกอบอาหารหรือขนมทำก็ขึ้นมาอย่างง่ายๆ บางอย่างจึงเป็น “โบราณ” (primitive) ไม่สอดคล้องกับรสนิยมทางลิ้นของชนชั้นกลางหรอกนะครับ (ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีเมื่อก่อนนั้นมีคนรวยจำนวนมากพอที่จะซื้อหาอาหารและขนมที่เข้าถึงเครื่องปรุงได้มากกว่าที่อื่นๆ)
การเสนอการท่องเที่ยวในพื้นที่ “เมืองเก่า” ของภาคเหนือตอนล่างจึงควรจะทำให้เกิดการขยับเขยื้อนนักท่องเที่ยวออกไปจากบางส่วนเสี้ยวของเมืองเก่า ( อาหารและบ้านเก่า ) มาสู่ความสำคัญของ “เมืองเก่า” ในกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์
ชุมชน ”เมือง” ในภาคเหนือตอนล่างได้เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างมากหลังจากการทำสนธิสัญญาการค้าเสรีในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2398 การขยายตัวเครือข่ายการค้าที่เข้มข้นมากขึ้นได้สร้างเส้นทางการค้าทางเรือขึ้นเป็นเครือข่าย ภาคเหนือตอนล่าง (ภาคกลางตอนบน) ที่มีแม่น้ำสายใหญ่มารวมกันที่ปากน้ำโพกลายเป็นจุดเชื่อมต่อทางการค้าที่สำคัญที่กระจายออกไปแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำสาขาอีกหลายสาย
การค้าที่ขยายตัวไปตามสายน้ำเช่นนี้สอดคล่องไปกับการขยายตัวของการส่งสินค้า “ไม้สัก” ล่องลงมาตามแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำยม ( หากสนใจ โปรดอ่านงานเขียนที่ดีเยี่ยมของศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร หลายเล่มในหัวเรื่อง “นายห้างป้าไม้”) จึงยิ่งทำให้ “ชีวิตและโลก” ของผู้คนในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ การสร้างบ้านเรือนแบบใหม่จากเดิม การประดิษฐ์อาหาร/ขนมรสชาติใหม่จากเดิม
พลังของการสร้างสรรค์ความแปลกใหม่เพื่อตอบสนอง “ชีวิตและโลก” ที่แปรเปลี่ยนมาได้เกิดขึ้นในพื้นที่ “เมืองเก่า” ริมน้ำของภาคเหนือตอนล่างและได้เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง
ไม่เพียงแค่นั้น ความเปลี่ยนแปลง “ชีวิตและโลก” ได้ผลักดันให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สะสมทุนจากการค้าขายได้สร้างการเชื่อมต่อกับ “รัฐ” และได้มีส่วนร่วมในการสร้าง “รัฐสมัยใหม่” ขึ้นมาในช่วงรัชกาลที่ 5
การศึกษาระดับปริญญาเอกของอาจารย์ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว แห่ง ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง “สามัญชนในหัวเมืองฝ่ายเหนือกับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่สยามทศวรรษ 2400-2450 มีข้อเสนอที่สำคัญว่า “สามัญชน” ในหัวเมืองต่างๆ ( โดยยกพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเป็นกรณีศึกษา) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3-5 มีส่วนอย่างสำคัญในกระบวนการก่อตัวของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย โดยอาจารย์ณัฏฐพงษ์ ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดและพิสูจน์สมมติฐานของตนเองได้อย่างน่าสนใจและน่าเชื่อถือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเครือข่ายการค้าที่ทำให้พ่อค้าคหบดีขยายตัวขึ้นนั้น ทำให้พ่อค้าคหบดีกลายเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในรัฐไทยและสังคมไทย เช่น บทบาทในการ “บริจาค” หรือจัดทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ แม้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็ทำให้พ่อค้าคหบดีสามัญชนเหล่านี้ดิ้นรนต่อสู้โดยการดึงเอารัฐและกลไกรัฐมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้สถาบันทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่มีพลังขึ้นมา
พื้นที่ “เมือง” ในภาคเหนือตอนล่างจึงเป็นการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่างๆให้แปรเปลี่ยนมาสู่ “ รัฐ” สมัยใหม่ ผู้นำในพื้นที่ที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จึงไม่ใช่เพียงคนร่ำรวยในชุมชนตลาดเท่านั้น หากแต่เป็นผู้ร่วมในการสร้าง “ รัฐ/ชาติ”ไทยสมัยใหม่อีกโสดหนึ่งด้วย
การวิจัยพื้นที่ “เมืองเก่า” เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มจากการที่คนในชุมชนวางพื้นที่ “เมืองเก่า” ของตนในประวัติศาสตร์อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ซึ่งจะต้องสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เห็นการเชื่อมกันเป็น “เครือข่าย” ของ “เมือง” ในภาคเหนือตอนล่าง
การศึกษาประวัติศาสตร์แม้ว่าจะทำไปเพื่อการท่องเที่ยวจึงไม่ใช่แค่การไปเยี่ยมชมพื้นที่กายภาพที่แปลกแตกต่างจากปรกติเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความเข้าใจ “ อดีต” ที่อยู่ร่วมกับเราทุกขณะจิต (The Past within us)