จุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับคำให้สัมภาษณ์ของ Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐคนใหม่
ซึ่งตลาดพยายามตีความทุกคำพูด (และที่ไม่ได้พูด) โดยพยายามประเมินว่าเขาจะปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ หรือ น้อยกว่าหรือมากกว่านั้น ซึ่งล่าสุดนั้น ดูเหมือนว่า Powell จะเปิดทางไปสู่ความเป็นไปได้ของการปรับดอกเบี้ยขึ้นเกินกว่า 3 ครั้งทำให้ตลาดจะต้องหันมาจับตาคำสัมภาษณ์ของกรรมการของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คนอื่นๆ ว่าจะคล้อยไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 21 มี.ค.
แม้จะมีความพยายามวิเคราะห์คำให้สัมภาษณ์กันอย่างมากมายและหลากหลายแล้ว แต่ผมเชื่อว่าก็ยังควรนำเอาจุดยืนอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางสหรัฐที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร (โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ) มาอ่านดูอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐนั้น ประเมินสภาวการณ์ปัจจุบันอย่างไร และมองอนาคตเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ในลักษณะใดไม่เพียงแต่ในเดือนมี.ค. แต่ในอนาคตอีก 2-3 ปี ข้างหน้า
เอกสารที่ผมใช้เป็นข้อมูลในส่วนนี้ คือ รายงานที่ธนาคารกลางสหรัฐนำส่งรัฐสภาสหรัฐ ภายใต้กฎหมายธนาคารกลางสหรัฐ (เพื่อประเมินสภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินสหรัฐ) หรือที่เรียกกันว่า Humphrey-Hawkins Testimony เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นสำคัญๆ เกี่ยวกับแนวคิดและจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐดังนี้
1.ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวสูงมากและเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ในครึ่งหลังของปี 2017 (ขยายตัวกว่า 3% ในขณะที่ จีดีพี ขยายตัวระดับปกติที่ 2%)เพราะการบริโภค “expanded at a solid rate” และการลงทุนของภาคธุรกิจนั้น “robust” และดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่น “have been strong”
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง แต่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น (ทำให้จีดีพี ขยายตัวได้ช้าลงเพราะการซื้อสินค้าและบริการสุทธิจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ คนอเมริกันนำเข้าทั้งสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าทุนเพิ่มขึ้น
2.สภาวะและเสถียรภาพทางการเงิน สภาวะทางการเงินโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 2017 และสินเชื่อผู้บริโภค “remain widely available” แต่สินเชื่อยังถูกจำกัดอยู่สำหรับผู้ที่มีความอ่อนแอทางการเงินและสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตในภาพรวมนั้น ความเสี่ยงของระบบการเงินของสหรัฐ “are judged to be moderate” โดยความเสี่ยงสำคัญคือ ภาคการผลิตมีหนี้สินมาก “Leverage has remained high and net issuance of risky assets have climbed in recent months” (แต่หนี้ครัวเรือน “remained at a relatively low level)”
ที่น่าสนใจคือ การสรุปในภาพรวมว่าสินทรัพย์ในสหรัฐราคาแพง “valuation pressures continue to be elevated across a range of asset classes even after taking into account the current level of treasury yields and the expectation that the reduction in corporate tax rates should generate an increase in after-tax earnings”
ตรงนี้ขอแปลเป็นไทยให้ชัดเจนว่า ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทอยู่ที่ระดับสูง แม้เปรียบเทียบว่าดอกเบี้ยระยะยาวปัจจุบัน อยู่ที่ระดับต่ำและแม้จะรวมถึงการคาดการณ์กำไรที่จะเพิ่มขึ้นเพราะรัฐบาลได้ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมา ทั้งนี้สามารถตีความได้ว่า เนื่องจากหุ้นราคาแพงเกินไปอยู่แล้ว ดังนั้น หากราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลงบ้าง ก็เหมาะสมดีแล้ว แปลว่า อย่าคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะแสดงความเป็นห่วง หากราคาหุ้นปรับตัวลดลง 10-15%
3.ตลาดแรงงานและเงินเฟ้อตลาดแรงงานตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและอัตราการว่างงาน (ที่ 4.1%) ก็ต่ำกว่าเกณฑ์แล้ว ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังสร้างงานเพิ่มขึ้นในปริมาณที่สูงกว่าการขยายตัวของจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แต่ค่าจ้างแรงงานก็ยังขยายตัวที่ระดับ “moderate likely held down in part by the weak pace of productivity growth in recent years” ในส่วนของเงินเฟ้อนั้นธนาคารกลางสหรัฐ สรุปว่าต่ำกว่าเป้าของประเทศพัฒนาแล้วมานานหลายปีแล้วและรับว่า “our understanding is imperfect” (ตรงนี้ค่อนข้างจะน่ากลัวเพราะหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือการคุมเงินเฟ้อ แต่หากพูดว่าตัวธนาคารกลางเองก็ยังไม่มีความเข้าใจเงินเฟ้อที่สมบูรณ์ ก็เหมือนกับหมองู บอกว่ายังขาดความเข้าใจงูอย่างครบครัน) และอ้างปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่อาจเป็นเหตุทำให้ราคาสินค้าไม่ปรับตัวขึ้น
โดยสรุปอย่างไม่ยอมฟันธงว่า “Policy makers remain attentive to the possibility of such forces leading to confirmed low inflation; they also are watchful regarding the opposite risk of inflation moving undesirably high.” ผมแปลว่า หมองูยังไม่รู้เลยว่า งูตัวนี้มีพิษหรือไม่
นโยบายการเงิน นั้น ยังยืนยันว่า
- ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังต่ำกว่าเกณฑ์ และจะยังต่ำกว่าเกณฑ์ต่อไปถึงปลายปีหน้าตามการคาดการณ์ของเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน
- การปรับดอกเบี้ยนั้น จะต้องรอดูข้อมูล “The committee has continued to emphasize (that) the actual path of the federal funds rate will depend on the economic outlook as informed by incoming data.”