ปลดล็อกเที่ยวเหนือ : ดึงดูดนักท่องเที่ยวนอกฤดูหนาว
เมืองท่องเที่ยวเป้าหมายของคนไทยและคนต่างชาติ ตามภาคต่างๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบัน
หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยกำลังได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน
ดูจากรายได้การท่องเที่ยวจังหวัดในภาคเหนือ เมื่อปลายปี 2559 มีมูลค่า 158,771 ล้านบาท โดย 72% ของรายได้จาการท่องเที่ยวมาจากนักท่องเที่ยวไทย และ 28% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
หากพิจารณาในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคเหนือ พบว่าระหว่าง ม.ค.-มี.ค. ปี 2559 มีนักท่องเที่ยว (Tourist) ผู้มาเยี่ยมเยือน (Visitors ) และนักทัศนาจรเดินทาง (Excursionist) รวมทั้งสิ้น 16.8 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยว 6.2 ล้านคน ผู้เยี่ยมเยือน 8.4 ล้านคน และนักทัศนาจร 2.2 ล้านคน
ในปีเดียวกันนี้อัตราค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 2,593 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าภาคการท่องเที่ยวได้ช่วยสร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเหนือ คำถามที่เกิดขึ้นตามมา คือ ภาคเหนือมีเสน่ห์อะไรที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
แน่นอนว่าภาคเหนือมีความโดดเด่นเรื่องอากาศที่หนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ โดยระหว่างเดือนพ.ย. -ก.พ. เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณยอดดอย สภาพอากาศที่หนาวเย็นดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมทะเลหมอก แม่คะนิ้งและดอกไม้เมืองหนาว เช่น ดอกพญาเสือโคร่ง ที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก ในช่วงนี้จึงมีนักท่องเที่ยวเที่ยวมากเป็นพิเศษ
ในกรณีของจ.เชียงใหม่ ดัชนีฤดูกาล (Seasonal Index) ระหว่างปี 2546-2550 ที่วิเคราะห์โดย ดร.อัครพงษ์ อั้นทอง นักวิจัยสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่าช่วงก.ค.-ส.ค. และ ต.ค.-ก.พ. เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวยอดนิยมของเชียงใหม่ เห็นได้จากค่าดัชนีฤดูกาล (Seasonal Index) มีค่ามากกว่า 100 โดยเดือนธ.ค.เป็นช่วงที่มีดัชนีสูงที่สุด
ในกรณีของจ.เชียงราย ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจ.เชียงราย ระหว่างปี 2554-2559 ชี้ให้เห็นว่าระหว่างเดือนธ.ค.-ม.ค. เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยค่าดัชนีฤดูอยู่ที่ 136.59 และ 136.72 ตามลำดับ
ผลการวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวในภาคเหนือพึ่งพาอากาศหนาวเป็นอย่างมาก จึงนำมาสู่ข้อสังเกตว่า ถ้าในอนาคตฤดูหนาวอากาศไม่ค่อยหนาวหรือฤดูหนาวสั้นลง การท่องเที่ยวของภาคเหนือจะได้รับผลกระทบอย่างไร ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนือจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และควรมีการปรับกลยุทธ์ด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนืออย่างไรเพื่อรองรับกับความท้าทายนี้
จากการศึกษาโดยศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี คาดการณ์ภูมิอากาศอนาคตบริเวณจ.เชียงราย พบว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่อาจมีผลต่อการท่องเที่ยวในจ.เชียงรายในอนาคต ทั้งด้านอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนวันที่มีอากาศหนาวเย็นในรอบปีมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ผลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อฤดูกาลท่องเที่ยวของจ.เชียงราย เนื่องจากห้วงเวลาที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว (Tourism Supply Chain) ในจ.เชียงรายจะได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะสั้นลงด้วย เพราะฤดูหนาวที่ไม่หนาวอาจทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่มาเที่ยว หรือมีระยะเวลาหนาวเพียงสั้นๆ ซึ่งจะลดโอกาสในการทำธุรกิจท่องเที่ยวลง
ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงต้องเริ่มปรับตัวและคิดหากลยุทธ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดังกล่าว
แนวคิดเรื่องการปรับตัวสอดคล้องกับคำกล่าวของสมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเสนอความเห็นว่าบริษัทสตาร์ทอัพ (Start-up) ท้องถิ่น ควรร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการสร้างวิถีการท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจกว่าเดิม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหลัก และควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและสถานที่ใหม่ๆ ซึ่งสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี เช่น นาข้าวแบบขั้นบันไดที่จ.แม่ฮ่องสอน โครงการหลวงต่างๆ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศกึ่งผจญภัย และประเพณีท้องถิ่นต่างๆ
การสร้างเรื่องราวประกอบสถานที่ท่องเที่ยว ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะนอกจากจะสร้างความสามารถด้านการแข่งขันได้ในกลุ่มผู้ให้บริการแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาคด้วย กลยุทธ์เหล่านี้คือสิ่งที่ควรนำไปปรับใช้เพื่อให้ภาคเหนือพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่จริงแล้ว ภาคเหนือมีเสน่ห์บางอย่างอันน่าหลงใหล อย่างการเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรม ของคนท้องถิ่นในหมู่บ้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน อาทิ กะเหรี่ยง มูเซอ อีก้อ ฯลฯ ที่แต่ละกลุ่มมีเอกลักษณะเด่นชัด เช่น เครื่องแต่งกายของชาวเหนือ การแสดง อาหาร รวมถึงศาสนสถานหลายแห่งที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบล้านนา เช่น วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีภูมิประเทศที่เชื่อมต่อกับเมียนมาและ สปป. ลาว นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวได้ อาทิ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และบริเวณตลาดแม่สายหรือท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นแหล่งชอปปิงชื่อดัง
ดังนั้น ในการวางแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือ จึงจำเป็นต้องนำจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศน้อย จึงช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต อีกทั้ง ช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนภาคเหนือตลอดทั้งปี ซึ่งช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีได้อีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันปรับกลยุทธ์การท่องเที่ยวภาคเหนือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอย่างจริงจัง
โดย... กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์