ไทยจะนำทุนสำรองส่วนเกินมาใช้ประโยชน์? (1)
เมื่อไม่นานมานี้ ไอเอ็มเอฟ ที่มาประเมินเศรษฐกิจไทย แนะนำว่าควรนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่เกินความจำเป็นอย่างมากมาใช้ประโยชน์
ในการตั้งกองทุนเพื่อบริหารให้ได้ผลตอบแทน และนำรายได้ดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้สูงอายุในประเทศไทยที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะประชากรของประเทศไทยจะแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วใน 20-30 ปีข้างหน้า
รัฐบาลไทยก็แบ่งรับแบ่งสู้ โดยบอกว่าคนไทยไม่มีความเคยชินกับการนำเอาเงินทุนสำรองออกมาใช้ประโยชน์ (ที่จริงแล้ว มีการเดินขบวนคัดค้านการแตะต้อง การใช้ทุนสำรองจนเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองในอดีต) และกำลังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยศึกษาเรื่องนี้อยู่ (ซึ่งผมเชื่อว่า อย่างไร ธปท. ก็จะไม่ยอมเพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เสียประโยชน์ หากจะลดปริมาณทุนสำรองที่ปัจจุบัน ธปท. มีอำนาจรับผิดชอบดูแลอยู่)
ไทยมีทุนสำรองเกินพอจริงหรือไม่? ผมเห็นว่ามีเกินพออย่างแน่นอนโดยในเดือน ก.พ.2018 ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 212,730 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์และยังมีสัญญาต้องรับแลกเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) อีก 36,130 ล้านดอลลาร์แปลว่าไทยมีเงินตราต่างประเทศสำรองรวมทั้งสิ้น 248,860 ล้านดอลลาร์
เงินสำรองดังกล่าวนั้น ในหลักการเป็นเงินที่มีสภาพคล่องสูง (และควรจะบริหารจัดการให้เป็นเช่นนั้น) คือจะถือเป็นเงินสด ทองคำ และตราสารหนี้คุณภาพดีที่สามารถขายเพื่อแปลงเป็นเงินสดได้ทันที แปลว่าเงินทุนสำรองนั้น ในหลักการนำมาใช้ได้ทั้งหมด แต่ก็อาจมีข้อกฎหมาย (เก่าแก่) บังคับให้ทุนสำรองส่วนหนึ่งนำมาหนุนหลังปริมาณเงินบาทที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งในหลักการนั้น ไม่จำเป็นแล้ว (แต่ไม่ได้แก้กฎหมาย)
เพราะการกำหนดให้มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลังเงินบาทนั้น เป็นแนวคิดในอดีตเพื่อให้ ธปท. มีวินัยทางการเงิน ไม่พิมพ์เงินบาทออกมามากเกินไป ทำให้เงินบาทเสื่อมค่า แต่ปัจจุบันเงินบาทมีแต่แข็งค่า ทั้งในเชิงของการเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น และในเชิงของการที่ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินให้เงินเฟ้อของไทยเท่ากับศูนย์ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา หมายความว่า ธปท. มีนโยบายการเงินที่มีวินัยเกินกว่าเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดเอาไว้ที่ 2.5% ต่อปีเสียอีก
ดังนั้นความเชื่อมั่นในค่าเงินบาทนั้น จะมาจากความเชื่อมั่นว่า ธปท. จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับ 1.0-4.0% ต่อปีได้ในระยะยาว อันจะทำให้เงินเฟ้อของไทยไม่สูงกว่าเงินเฟ้อของประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะประเทศใหญ่เช่นสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และประเทศยุโรป) ทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพไม่อ่อนค่า จึงไม่จำเป็นจะต้องมีทุนสำรองมาหนุนหลัง ปริมาณเงินบาทที่มีอยู่ในระบบแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ก็ได้ยกเลิกไปนานแล้ว
ดังนั้น ทุนสำรองภายใต้นโยบายการเงินที่กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงมีความสำคัญเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องนำเอาเงินสำรองดังกล่าวไปใช้ เวลาที่อาจจะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้ซื้อสินค้านำเข้า เช่น สมมุติว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตร เป็นหลักแล้วเกิดภาวะภัยแล้งทำให้ไม่มีผลผลิตเพื่อส่งออก จึงจะขาดเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ในการซื้อสินค้านำเข้าในช่วงสั้นๆ จากภัยธรรมชาติที่ไม่ได้คาดฝัน ดังนั้น จึงเป็นมาตรฐานสากลว่าประเทศควรมีทุนสำรอง มูลค่าเท่ากับการนำเข้า ทั้งหมดของประเทศ ประมาณ 3-4 เดือน ก็เพียงพอ
ประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้า ทั้งสิ้นเท่ากับ 222,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 แปลว่าตามมาตรฐานสากลนั้น ไทยควรมีทุนสำรองระหว่างประเทศ ประมาณ 75,000 ล้านดอลลาร์แต่เรามีทุนสำรอง (รวม Forward) มากถึง 248,860 ล้านดอลลาร์
อันที่จริงแล้ว หากไทยจะมีทุนสำรองเหลือเพียง 48,860 ล้านดอลลาร์ (หักออกไปใช้ 200,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.2 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณของรัฐบาลไทย 3 ปี) ก็สามารถทำได้ ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด(มีเงินสดไหลเข้าประเทศที่เป็นส่วนเกินจากการส่งออกสินค้าและบริการมากกว่าการนำเข้าสินค้าและบริการ) เท่ากับ 49,278 ล้านดอลลาร์ในปี 2017 และ 48,237 ล้านดอลลาร์ในปี 2016
หมายความว่า หากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดใน 2 ปีข้างหน้าเพียงครึ่งหนึ่งของการเกินดุลใน 2 ปีที่ผ่านมา ทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้นอีก 48,757 ล้านดอลลาร์ทำให้ทุนสำรองเพิ่มกลับไปสูงถึง 123,757 ล้านดอลลาร์ซึ่งน่าจะเกินกว่าปริมาณการนำเข้า 4 เดือนในปี 2020 (ในขณะที่ไทยก็ยังน่าจะอยู่ในภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2020 อยู่ดี) และยังมีทุนสำรองเหลือให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่อาจต้องจ่ายคืนหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 60,600 ล้านดอลลาร์อีกด้วย
การมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเกินพอดังกล่าว จึงทำให้ ไอเอ็มเอฟ ต้องตั้งคำถามไทยว่า ทำไมจึงจะไม่นำเอาเงินมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผมจะขอเขียนต่อในตอนหน้าครับ