ไทยจะนำทุนสำรองส่วนเกินมาใช้ประโยชน์? (2)
ครั้งที่แล้ว ผมสรุปว่า ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน และในกรอบของนโยบายการเงินที่กำหนดเป้าเงินเฟ้อนั้น ผมเห็นว่าประเทศไทยมีทุนสำรองส่วนเกิน
ที่จะนำไปใช้ได้ 200,000 ล้านเหรียญ หรือ 6.2 ล้านล้านบาท เท่ากับ งบประมาณของรัฐบาลไทย 3 ปี โดยที่ ทุนสำรองจะยังมีเหลืออยู่ 75,000 ล้านเหรียญเท่ากับมูลค่านำเข้า 4 เดือน (ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของระดับทุนสำรองที่เหมาะสม) โดยที่ ทุนสำรองน่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด สูงถึง 48,000 ล้านเหรียญ ต่อปี ในปี 2016 และ 2017 ดังนั้น หากใน 2 ปี ข้างหน้าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่าข้างต้น ทุนสำรองก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็น 123,757 ล้านเหรียญในปี 2020 จึงไม่น่าแปลกใจที่ ไอเอ็มเอฟ เสนอให้ไทยนำเอาทุนสำรองส่วนเกินมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และคงจะเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ท้าทายอนาคตทางเศรษฐกิจของไทยมากที่สุด คือการแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วของประชากรของประเทศไทย ซึ่งผมได้เคยรวบรวมการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ ในเรื่องนี้ ดังปรากฏในตารางข้างล่าง
จะเห็นว่าภายในช่วง 25 ปี ระหว่าง 2015-2040 นั้น โครงสร้างประชากรของไทยจะเป็นภาระทางเศรษฐกิจในหลายมิติ กล่าวคือ
1.คนในวัยทำงานลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือเพียง 35.2 ล้านคน ลดลงถึง 7.8 ล้านคน
2.คนในวัยชราเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวคือจาก 10.5 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน
3.คนในวัยเด็กลดลงจาก 11.8 ล้านคน เป็น 8.2 ล้านคน (เรากำลังจะมีปัญหาโรงเรียนต้องปิดตัวลง และครูจะว่างงานมากขึ้น) ทำให้เห็นได้ว่าการลดลงของคนในวัยทำงานนั้น จะเป็นปัญหายาวนานไปอีกหลายสิบปีไม่ใช่เพียง 25 ปีข้างหน้า
4.ดังนั้น จำนวนของคนในวัยทำงานที่ต้องทำงานเลี้ยงดูคนชรา (ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก) จึงมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ จำนวนคนในวัยทำงานที่ต้องแบ่งรายได้ (โดยทางตรงหรือโดยการเก็บภาษีของรัฐ) ไปเลี้ยงดูคนในวัยชรา จะมีสัดส่วนลดลงจากคนทำงาน 4.1 คน ต้องเกื้อกูลคนในวัยชรา 1 คน ในปี 2015 มาเป็น 2.6:1 ในปี 2025 1.9:1 ในปี 2035 และ 1.7:1 ในปี 2040
แต่ผมไม่แน่ใจว่า การนำเอาทุนสำรองไปบริหารเพื่อให้มีผลตอบแทนมาเลี้ยงดูคนชราจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะแปลว่าเราจะต้องนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศเข้ามาอีกสิบปี อย่าลืมว่าประเด็นปัญหาหลักคือ จำนวนคนในวัยทำงานของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง การนำเอาทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาใช้ซื้อสินค้าและบริการ(จากต่างประเทศ) จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตภายในประเทศแต่ก็เป็นแนวทางที่จะช่วยลดภาระของงบประมาณรัฐบาลได้
ผมได้เคยเสนอแนะว่าทุนสำรองที่มีอยู่เกินความจำเป็นอยู่มากมายนั้น น่าจะนำไปลงทุนในตัวของเยาวชนของไทยมากกว่าเอามาช่วยคนในวัยชรา (เช่นผม) กล่าวคือ หากจะนำเอาทุนสำรองเพียง 20,000 ล้านเหรียญ (10% ของส่วนเกินที่มีอยู่ในขณะนี้) ก็จะทำให้รัฐบาลไทยมีเงินที่จะให้ทุนการศึกษาขั้นสูง (มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก) ให้กับเด็กไทย 50,000 คน (คนละ 400,000 เหรียญ ซึ่งจะสามารถเรียนจบปริญญาตรี ถึงเอกได้ โดยไม่ลำบากนัก) นำเอาความรู้และประสบการณ์กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องตั้งเงื่อนไขที่เข้มข้นเหมือนของราชการก็ได้ แต่จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างน้อยเท่ากับจำนวนปีที่ขอทุนไปเรียนต่างประเทศจากรัฐบาลไทยเป็นต้น หากทำได้เช่นนี้ก็น่าจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย กล่าวคือ ทำให้คนที่อยู่ในวัยทำงาน (ที่มีจำนวนลดลง) มีศักยภาพในการผลิตและสร้างรายได้สูงขึ้นนั่นเอง
ถามว่าทำเช่นนี้จะมีปัญหาจากการรั่วไหลหรือความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีปัญหาตามมาบางอย่างแน่นอน แต่การจะปล่อยทิ้งเงินทุนสำรองส่วนเกินนอนนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ถือได้ว่าเป็นความเสียหายและเสียโอกาสอย่างยิ่ง เพราะเงินที่ว่านั้น ส่วนใหญ่ คือกระดาษที่พิมพ์ออกมาโดยธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว หรือการปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ซึ่งจะต้องถามว่าไทยจะเก็บ”กระดาษ”เอาไว้เฉยๆ เพื่ออะไร ในเมื่อรายงานภาวะสังคมไทยในปี 2017 ของสภาพัฒน์ พบว่า ทั้งปี 2017 การจ้างงานลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับปี 2016 และจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น (จาก 1.0% ในปี 2016 เป็น 1.2% ในปี 2017) ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานลดลง 0.1% ในปี 2017 เมื่อเทียบกับปี 2016 ดังนั้น การทุ่มเทเพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทย จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญเป็นดับแรกครับ