เศรษฐกิจโลกจะ “ดี” ไปได้อีกนานเท่าไหร่?
เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกขยายตัว “ดี” มาก คือขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ตอนต้นปี และยังเป็นการขยายตัว
ที่กระจายตัวไปอย่างกว้างขวางและทั่วถึง มาปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นชะลอตัวลง แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเป็นเหตุมาจากปัจจัยชั่วคราว เช่น ภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ ดังนั้นจึงคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวดีต่อไปอีกในไตรมาส 2 และในครึ่งหลังของปีนี้ ตราบใดที่ไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่นสงครามการค้าและการปรับขึ้นอย่างฉับพลันของราคาน้ำมัน
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าในการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะ “ดี” และ ดีต่อไปอีกนานเท่าใดนั้น น่าจะขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจ กล่าวคือในปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังเป็นขาขึ้น หรืออยู่ในช่วงที่ปรับตัวใกล้จุดสูงสุดแล้ว คนที่มองโลกในแง่ดีก็จะเชื่อว่าตอนนี้ เศรษฐกิจก็ยังเป็นขาขึ้น มีเวลาขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี โดยมีเหตุผลดังนี้
1.เงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำ และจะปรับขึ้นอย่างเชื่องช้า เพราะเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุน ตลอดจนประชากรแก่ตัวไม่ขับเคลื่อนอุปสงค์อย่างก้าวกระโดด
2.นโยบายการคลังของสหรัฐ (ทั้งการลดภาษีและการเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐ) จะยังกระตุ้นเศรษฐกิจไปได้อีกนาน
3.นโยบายการเงินของยุโรปและญี่ปุ่น ยังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพราะยังจะต้องทำคิวอี (การพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตร) ต่อไปอีก เนื่องจากเงินเฟ้อในยุโรปและญี่ปุ่นยังต่ำกว่าเป้ามาก
4.ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และในแถลงการณ์ล่าสุดยังเพิ่มคำว่า symmetric อีกด้วย แปลว่า ในอดีตเมื่อได้ปล่อยให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า 2% ต่อปี เป็นเวลานานหลายปี ดังนั้นในอนาคตเพื่อความทัดเทียมกัน ก็จะสามารถปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงเกินกว่าเป้า 2% ได้ กล่าวคือจะไม่ต้องเร่งรีบปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่สภาวะปกติ (ที่ 3%) แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะเกินเป้า 2% ไปแล้ว
แต่ในความเห็นของผมนั้น เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะ late cycle และใกล้ Peak แล้ว ซึ่งแบงก์ออฟอเมริกา พันธมิตรของ ภัทรฯ มีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวได้ดีอีกในปีนี้ (จีดีพีโต 2.9%) และในปีหน้า (จีดีพีโต 2.4%) แต่หลังจากนั้น จีดีพี ก็จะชะลอตัวและมีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในปี 2020 ข้อสรุปคือเศรษฐกิจสหรัฐจะ “ดี” ไปได้อีก 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นในขาลง ซึ่งก็น่าจะส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะเศรษฐกิจจีน (ซึ่งใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐ) ก็ต้องค่อยๆ ชะลอตัวลงอยู่แล้ว (จากโต 6.5% ต่อปี เป็นประมาณ 6% ต่อปี) ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐกับจีนนั้นรวมกันมูลค่าประมาณ 40% ของจีดีพีโลก สำหรับเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ก็น่าจะขยายตัวได้เพียง 1.0-1.5% ต่อปี โดยที่เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่นนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของจีดีพีโลก
นอกจากนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ ต้องถือว่ายั่งยืนมายาวนานเข้าเดือนที่ 108 แล้ว ซึ่งโดยปกตินั้นเศรษฐกิจจะขยายตัวเป็นขาขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-6ปี (และเข้าสู่สภาวะถดถอยประมาณ 1.0-1.5 ปี จึงจะกลับมาฟื้นตัว) ดังนั้นจึงต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ มีอายุยืนยาวดีมากจนเป็นที่ 2 รองจากการฟื้นตัวยาวนานรวม 10 ปีในช่วงทศวรรษ 90 ซึ่งช่วงนั้นได้รับอานิสงส์สำคัญจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการเข้าสู่โลกทุนนิยมของประเทศที่อยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้เสมือนกับว่าระบบทุนนิยม มีแรงงานเข้ามาเพิ่มในระบบอีก 50%
มาวันนี้อัตราการว่างงานในสหรัฐเหลืออยู่เพียง 3.9% (ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ถือว่ามีการใช้แรงงานเต็มศักยภาพที่อัตราการว่างงาน 4.5-5.0%) และจีนเองก็กำลังขาดแคลนแรงงาน เพราะประชากรเข้าสู่สภาวะแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย สำหรับยุโรปและญี่ปุ่นนั้น ก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้วเช่นกัน
เมื่อขาดแคลนแรงงานค่าจ้างก็จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงนี้ย่อมจะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุน (ซื้อเครื่องจักรเพื่อทำงานร่วมกับคน) ลดลง นอกจากนั้น เมื่อราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกลางก็ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งหมายความว่าต้นทุนทางการเงินก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลคือการลงทุนจะต้องปรับลดลงทำให้เศรษฐกิจก็จะต้องชะลอตัวลง หรืออาจเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในที่สุดครับ