ประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม ที่เท่าทันยุค Disruptive Technology
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง
และที่ผ่านมา ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากเทคโนโลยี่หลากหลายประเภทที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอีกด้วย ต้วอย่าง เช่น เทคโนโลยี่ด้านการสื่อสารดิจิทัล เทคโนโลยี่สมองกลและปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมยานยนต์แบบไร้คนขับ เทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรม นวัตกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
บทบาทสำคัญของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของ Disruptive Technology ในยุค 4.0 นั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องของการพัฒนาทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยี่ หรือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอื่นที่มีความสำคัญมากกว่ามาก เช่น เรื่องการพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบัน (institutional factors) ที่เป็นเหมือนกุญแจที่ใช้ปลดล็อคประตูให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถออกไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่แม้จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่พวกเขากลับจะสามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้หากยังอยู่ในวิสัยที่สามารถแข่งขันได้ในระบบตลาด
แล้วอะไรคือ “ปัจจัยเชิงสถาบัน” ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้
เพื่อให้ได้คำตอบที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ จึงขอเริ่มพิจารณาในประเด็นเรื่องของ “ปัจจัยเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจ” ก่อนเป็นลำดับแรก โดยขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงรอยต่อของสมัยยุคกลางกับยุคเรเนสซองส์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมความเชื่อของคนในสังคมที่เปิดกว้างให้ยอมรับหลักคิดเรื่อง “อัตราดอกเบี้ยเงินกู้” ได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมเหมือนเช่นในยุคกลางอีกต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงสถาบันนี้ ได้ช่วยทลายความเชื่อเดิมๆ ของสังคมยุคกลางในเรื่องข้อจำกัดของสิทธิความเป็นเจ้าของเงินทุน (และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่ได้มีการคิดค้นขึ้นมาโดยชาวยิวเป็นส่วนใหญ่ในขณะนั้น) ส่งผลให้ในที่สุดแล้ว “สิทธิความเป็นเจ้าของเงินทุนโดยปัจเจกบุคคล (private property rights in financial instruments)” มีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้ตุ้นทุนในรูปของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดโดยเฉลี่ยที่ผู้ประกอบการรายย่อยในยุโรปต้องจ่ายกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถูกปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจนเหลือเพียง 1 ใน 10 ของต้นทุนเงินกู้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 อันเป็นผลจากการที่ตลาดทุนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยเชิงสถาบันดังกล่าวแล้ว ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำพาระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาถึงระดับหนึ่ง นายทุน นักการเมือง และผู้ปกครองในยุโรปก็เรียนรู้ที่จะร่วมมือกันเพื่อกำหนดกฎกติกาของสังคมที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจและทางการเงินแก่กลุ่มของตน โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการส่งเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจบนหลักการของสิทธิความเป็นเจ้าของทุนโดยปัจเจกบุคคลมาเป็นเกราะกำบัง จึงนำไปสู่การกระจุกของเงินทุนและความมั่งคั่งเฉพาะแต่ในกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีอำนาจในสังคม มีการเอาเปรียบกันทางสังคมโดยไม่ชอบธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการคอร์รัปชันในระบบราชการ ปัญหามาเฟียหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่คอยรีดไถผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ปัญหาเศรษฐกิจใต้ดินและตลาดมืด และปัญหาเงินกู้นอกระบบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ดำรงอยู่เป็นเวลานานจนกลายเป็นเรื่องปกติและสร้างความยากลำบากให้กับประชาชนทั่วไป จนในที่สุดก็นำไปสู่ความวุ่นวายในระบบเศรษฐกิจเพราะเกิดการประท้วงลุกฮือของกลุ่มแรงงานและคนยากจนในสังคมที่ไม่พอใจกับสภาพชีวิตและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ และพากันเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงสถาบันที่จะช่วยทำให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น
แล้วปัจจัยเชิงสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในสังคมที่ว่านั้น มีอะไรบ้าง
ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีของการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยเชิงสถาบันที่อาจก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นและกระทบโดยตรงต่อหลักการของ “สิทธิความเป็นเจ้าของปัจจัยทุนโดยปัจเจกชน” นั้น นอกจากเรื่องระบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ก็ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ เช่น หลักการในเรื่องของโฉนดชุมชน และหลักคิดเรื่องป่าชุมชน ทีมีกระแสเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ส่วนที่ดูจะเป็นนวัตกรรมที่ใหม่หน่อยก็มีเช่น เรื่องหลักการโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม และ กระบวนการสินเชื่อรายย่อยแบบ Grameen Bank ของประเทศบังกลาเทศ เป็นต้น โดยรวมๆ แล้ว ข้อจำกัดหลักของแนวคิดและหลักการของโครงการต่าง ๆ
ที่กล่าวมานี้ก็คือการสร้างผลกระทบที่ยังมีค่อนข้างจำกัด กล่าวคือสำหรับบางโครงการที่กล่าวไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะสามารถใช้ปฎิบัติให้ได้ผลดีเฉพาะเมื่อยังเป็นโครงการขนาดเล็กหรือยังมีจำนวนโครงการไม่มาก ซึ่งข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและจำนวนโครงการนี้ถือเป็นปัญหาพื้นฐานในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจนั้น อาจแก้ไขได้ในอนาคตหากว่าพัฒนาการของนวัตกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ใหม่ ๆ จะสามารถนำมาใช้ช่วยลดต้นทุนของโครงการเหล่านี้ได้ (โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถจัดการกับข้อเสียของนวัตกรรมใหม่เหล่านั้นด้วย เช่นปัญหาการฉ้อโกง ปัญหาเรื่องธุรกรรมผิดกฎหมาย และการเก็งกำไรที่นำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ เป็นต้น)
ดังนั้น นัยเชิงนโยบายที่ได้จากการวิเคราะห์ทั้งหมดข้างต้นนี้ จึงสรุปได้เป็นข้อเรียกร้องและความคาดหวังที่มีต่อทุกรัฐบาลและคณะผู้แทนของประเทศทั้งหลายในสากลที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมความดี (altruism) ว่า อำนาจของรัฐในการออกระเบียบกฎหมายและกติกาทางสังคมนั้น มีไว้เพื่อมุ่งก่อให้เกิดสวัสดิภาพและประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมต่อสังคมโดยรวมในระยะยาวเท่านั้น
*ผู้สนใจสามารถติดตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้จาก ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือกับ สกว.