มาสร้าง GDP ชุมชนกันเถอะ
อย่างที่เกริ่นไปในบทความตอนที่แล้วว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ที่หมายรวมถึงเศรษฐกิจนอกภาคทางการ
ซึ่งมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มิได้ถูกบันทึกรวมอยู่ในตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทำให้ตัวเลขการเติบโตของ GDP ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของเศรษฐกิจฐานรากตามที่ควรจะเป็น
ชุมชน ถือเป็นทั้งหน่วยผลิตและหน่วยบริโภคที่สำคัญในเศรษฐกิจระดับฐานราก ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจที่ไม่ได้จัดตั้งในรูปนิติบุคคล ฯลฯ ซึ่งสร้างธุรกรรมที่มิได้นับรวมเป็นมูลค่าในระบบเศรษฐกิจทางการ
เราสามารถสร้าง GDP ชุมชนขึ้น เพื่อหาวิธีการหรือตัวแปรในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ด้วยการศึกษาการไหลเวียนของธุรกรรมในชุมชน โดยพิจารณาจากปัจจัยนำเข้า 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เงิน ของ และ คน
เริ่มจากการพิจารณาการไหลของ “เงิน” ในฝั่งขาเข้าสู่ชุมชน ว่าไหลเวียนไปเพื่อการผลิต หรือไปเพื่อการบริโภค โดยในกรณีแรก หากเป็นเงินที่ไหลไปยังหน่วยผลิต สามารถจัดอยู่ในหมวดเงินลงทุน ที่ชุมชนนั้นไม่มีข้อกังวลมากนัก เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าว ถูกใช้ไปในการสร้างผลผลิตที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของกระบวนการผลิตซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนโดยตรง และยังอาจก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้แก่แรงงานในชุมชนโดยอ้อมด้วย ในที่นี้ จะใช้ตัว I (Investment) แทนมูลค่าการลงทุนของชุมชนในกิจกรรมการผลิต
ในกรณีที่สอง หากเป็นเงินที่ไหลไปยังครัวเรือน ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็น คือ หากเป็นเงินที่สมาชิกในครัวเรือนนั้นส่งกลับเข้ามายังชุมชน จากก้อนรายได้หรือผลตอบแทนจากการทำงานนอกถิ่นที่อยู่ ก็จัดว่าเป็นเงินออม
แต่หากเป็นเงินที่นำเข้ามาบริโภคใช้จ่ายในครัวเรือน ก็หมายความว่ารายได้ในครัวเรือนอาจมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคใช้สอย จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค ในที่นี้ จะใช้ตัว C (Consumption) แทนมูลค่าการใช้จ่ายของชุมชนที่เป็นไปเพื่อการบริโภค
ส่วนการไหลของเงิน ในฝั่งขาออกจากชุมชน ที่มิใช่การซื้อของเข้าสู่ชุมชน ต้องพิจารณาว่าเกิดจากกิจกรรมใดได้บ้าง เช่น เป็นเงินที่เข้ามาสู่สถาบันการเงินในชุมชน โดยหวังดอกผลในรูปดอกเบี้ย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสร้างงานหรือมูลค่าเพิ่มในชุมชน หรือเป็นเงินที่นำมาลงทุนเพื่อสร้างกระบวนการผลิต โดยบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกของชุมชนเป็นเจ้าของหน่วยการผลิต แล้วนำเงินผลกำไรแทบทั้งหมดกลับออกไป (เช่น การครอบงำของกลุ่มทุนจีนในธุรกิจท่องเที่ยว) ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนจะได้ร่วมกันหามาตรการในการป้องกัน แก้ไข หรือทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว เช่น การกำหนดเงื่อนไขการประกอบธุรกิจ การเก็บภาษีอากรท้องถิ่น การจัดตั้งกองทุนสร้างเสริมชุมชนโดยเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการที่มิใช่สมาชิกของชุมชน เป็นต้น
ถัดมาเป็นการพิจารณาในส่วนที่เป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ “ของ” ที่นำเข้าสู่ชุมชน ว่าไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภค ในกรณีแรก หากของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยผลิต ชุมชนก็อาจเบาใจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากของดังกล่าวถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตที่สามารถสร้างเงินได้สุทธิให้แก่ชุมชนจากผลกำไรในการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน ในที่นี้ จะรวมอยู่ในตัว I (Investment) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายลงทุนของชุมชนในการจัดหาปัจจัยการผลิต
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจในชุมชน ควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า ของที่นำเข้ามาเพื่อเป็นทรัพยากรการผลิตนั้น สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับการพิจารณาใช้ ฐานทรัพยากร เช่น วัตถุดิบที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันในชุมชน หากเกิดการขาดแคลนทรัพยากรอย่างกระทันหัน หรือในสภาวะปกติก็เป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในการผลิตที่สามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากฐานวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน และลดภาระเรื่องค่าขนส่งไปในตัว ในที่นี้ จะใช้ตัว G (Government Spending) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายของรัฐเพื่อการพัฒนาฐานทรัพยากรของชุมชน
หากเป็นในกรณีที่สอง ซึ่งของส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยบริโภค โดยเฉพาะของใช้ที่เป็นความสะดวกสบายหรือความฟุ่มเฟือย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ชุมชนอาจมีสถานภาพที่น่าเป็นห่วงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเงินในชุมชนจะถูกดูดซับออกไปจากชุมชนเรื่อยๆ โดยที่หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ชุมชนก็อาจตกอยู่ในสภาพที่วกกลับไปกู้ยืมเงินจากภายนอกเข้ามาเพื่อบริโภค ในที่นี้ จะใช้ตัว M (Imports) แทนมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อการบริโภคในชุมชน
สุดท้าย เป็นการพิจารณาในส่วนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ หรือ “คน” ที่เข้ามายังชุมชน ว่าไหลไปยังหน่วยผลิตหรือหน่วยบริโภคเช่นกัน โดยในกรณีแรก หากคนส่วนใหญ่ไหลไปยังหน่วยผลิต ชุมชนควรต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า เหตุใดจึงมีแรงงานต่างถิ่นหรือแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นทรัพยากรมนุษย์ของหน่วยผลิตในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเกี่ยวโยงกับ ฐานความรู้ เช่น การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทักษะหรือความถนัดในเชิงภูมิสังคม ผู้มีหน้าที่ดูแลนโยบายการพัฒนาชุมชน อาจจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะให้แก่สมาชิกในชุมชนเพื่อเป็นการทดแทนผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานนำเข้าในระยะยาว ในที่นี้ จะรวมอยู่ในตัว G (Government Spending) ในส่วนที่เป็นมูลค่าการใช้จ่ายของรัฐเพื่อการพัฒนาฐานความรู้ของชุมชน
ส่วนในกรณีที่สอง หากคนส่วนใหญ่ ไหลไปยังหน่วยบริโภค ก็แสดงให้เห็นถึงการมีแหล่งสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการจากภายนอก หรือมีแหล่งท่องเที่ยวหรือประเภทของบริการที่สามารถชักจูงให้คนนอกชุมชนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือใช้บริการภายในชุมชน ซึ่งประเด็นนี้จะไปเชื่อมโยงกับ ฐานวัฒนธรรม เช่น ตำนานท้องถิ่น เทศกาล ประเพณี ที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชุมชน ฯลฯ ในที่นี้ จะใช้ตัว X (Exports) แทนมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการแก่คนนอกชุมชนหรือนักท่องเที่ยว
ในที่สุด เราจะได้สมการ GDP ชุมชน = C + I + G + (X - M) ที่ก็มิได้มีความแตกต่างจากการคำนวณ GDP ตามหลักสากล แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือ ชุมชน จะทราบว่า เราควรจะให้ความสำคัญกับตัวแปรใด (เช่น การไม่เน้นเพิ่ม GDP ด้วยการเพิ่มตัว C หรือการบริโภค) ให้ความสำคัญกับเรื่องใด (เช่น การใช้จ่ายของรัฐในตัว G ควรมุ่งไปที่การพัฒนาฐานทรัพยากรและฐานความรู้ของชุมชน) และใช้วิธีการใด (เช่น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกในตัว X ด้วยการใช้ฐานวัฒนธรรม)