เรียนรู้ภาวะผู้นำจาก Avengers:Infinity War

เรียนรู้ภาวะผู้นำจาก Avengers:Infinity War

เคยนึกภาพบ้างไหมคะว่าเวลาที่คนเก่งๆเลิศๆมาทำงานด้วยกันนั้น คนที่เป็นผู้นำทีมจะมีความสบายใจหรือลำบากใจอย่างไรบ้าง?

คอภาพยนตร์ประเภทซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลคงได้ชม Avengers: Infinity War กันแล้ว ดิฉันเองก็เป็นแฟนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่นี้เช่นกัน ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้มาวิเคราะห์เจาะภาพยนตร์ชุดนี้ด้วยกัน เพราะนอกจากจะเพลินเพลินตื่นเต้นกับฉากและเอฟเฟ็กต์อันยิ่งใหญ่ตระการตาและแอ็คชั่นสุดมันของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่กันแล้ว ยังมีสาระอื่นๆที่เราสามารถนำมาใช้สั่งสอนลูกหลานของเราหรือแม้กระทั่งตัวของเราเองได้ด้วย

ทั้งนี้คงมีนักวิจารณ์อีกหลายท่านที่มองว่าภาพยนตร์ประเภทซูเปอร์ฮีโร่มักมีฉากของการใช้ความรุนแรงมากมาย มีส่วนสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่เยาวชนที่ยังแยกผิดชอบชั่วดีไม่ออกให้อาจทำตามอย่างตัวละครในเรื่องของการใช้ความรุนแรงได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องนั่งประกบเยาวชนในการชมภาพยนตร์ประเภทนี้แล้วคอยช่วยชี้แจงให้คำแนะนำสั่งสอนในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดกั้นไม่ให้เยาวชนดูการแสดงที่ใช้ความรุนแรงหรือมีฉากการแสดงที่ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยสื่อต่างๆได้เข้าถึงตัวเยาวชนอย่างที่เราไม่สามารถขัดขวางได้ และเมื่อไม่สามารถขวางกั้นได้ก็จงอยู่ตรงนั้นกับลูกหลานของท่านและคอยพูดคุยชี้แนะพวกเขาในทางที่ถูกที่ควร ให้รู้จักเลือกสิ่งดีๆมาใช้กับชีวิต น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมนะคะ

การรวมตัวของซูเปอร์ฮีโร่คือการรวมตัวของซูเปอร์อัตตา?

สำหรับตัวซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวลที่ยกทัพมาร่วมวงใน Infinity War ครั้งนี้มีถึง 76 คนด้วยกัน แต่ละคนก็มีจุดเด่นความเก่งกันคนละแบบ ซึ่งในโลกของการทำงานเราย่อมอยากให้มีแต่คนดีๆเก่งๆหล่อๆสวยๆมาทำงานกับองค์กรของเราทั้งสิ้น แต่เคยนึกภาพบ้างไหมคะว่าเวลาที่คนเก่งๆเลิศๆมาทำงานด้วยกันนั้น คนที่เป็นผู้นำทีมจะมีความสบายใจหรือลำบากใจอย่างไรบ้าง ถ้านึกไม่ออก ก็ลองนึกย้อนไปถึงภาพยนตร์ Avengers ภาคแรกๆเลยที่กัปตันอเมริกาทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้นำทีม มันมีความขัดแย้งทางด้านความคิดของซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนซึ่งต่างก็ไม่ค่อยจะยอมอ่อนข้อให้ใครง่ายๆ และเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นจนถึงขีดสุดจนมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน แต่ละฝ่ายก็ใช้ความสามารถของตนเข้ามาขัดขวางอีกฝ่าย ตอนแรกๆก็ยังออมมือให้กันบ้างเพราะยังนึกถึงความเป็นเพื่อนกันมา แต่พอเริ่มเจ็บตัวกันมากขึ้น คราวนี้ก็เริ่มใช้พลังทำร้ายกันมากขึ้น พูดจาเชือดเฉือนดูถูกท้าทายจุดประกายความโกรธของแต่ละคนให้เพิ่มมากขึ้น เพราะซูเปอร์ฮีโร่ก็ยังมีความเป็นปุถุชนตรงที่ยังมีอัตตา มีรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นหากผู้นำทีมซูเปอร์ฮีโร่ไม่สามารถบริหารทีมรวมดาวของเขาให้ดี การรวมตัวของซูเปอร์ฮีโร่ก็จะกลายเป็นการรวมตัวของอัตตาของแต่ละคนซึ่งมีกันสูงๆทั้งนั้น การทำงานเป็นทีมของซูเปอร์ฮีโร่จึงเกิดขึ้นได้ยาก คำถามของเราก็คือว่าเราจะบริหารคนเก่งที่เป็น Super Talent ของเราได้อย่างไร เพราะคนเหล่านี้ทำงานคนเดียวได้เก่งกาจ แต่ถ้าต้องทำงานกับคนอื่นที่เก่งพอๆกับตนหรือเก่งกว่ามักจะทำงานด้วยกันไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ใคร

ให้ซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนเป็นสมาชิกของทีมในแบบฉบับของตนเอง

ผู้การนิค ฟิวรี่ซึ่งรับบทเป็นผู้ติดต่อประสานงานสร้างทีม Avengers ขึ้นมาเพื่อรับภารกิจกอบกู้โลกให้พ้นหายนะเป็นผู้ที่มีจิตวิทยาอย่างลึกซึ้ง เขามีศิลปะสามารถบริหารซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนซึ่งล้วนแต่มีอัตตาสูง เช่น โทนี่ สตาร์คที่เป็นไอรอนแมน หรือฮัลค์ ยักษ์ตัวเขียวที่เบื้องลึกคือนักวิทยาศาสตร์หัวใจอ่อนไหวที่มีความเหงาโดดเดี่ยวภายในแต่คุมโทสะไม่อยู่ หรือธอร์ เทพเจ้าสายฟ้าที่มีอารณ์ขัน แต่ก็มีโทสะสูงเช่นกัน ฯลฯ แต่ละรายที่กล่าวมาล้วนมีความสามารถในการปราบอธรรมด้วยการทำงานแบบศิลปินเดี่ยวมาแล้วในอดีต คนเหล่านี้ไม่เคยทำงานร่วมกับคนอื่นและพอใจที่จะจัดการปัญหาต่างๆตามความคิดของตน พวกเขาได้รับการเคารพและยอมรับจากคนในสังคมของเขาให้เขาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เขาจึงค่อนข้างคุ้นเคยกับการสั่งการคนอื่นและทำตามความคิดของตนเองเป็นหลัก ออกแนวเผด็จการ ค่อนข้างจะอวดดีเสียด้วยสำหรับไอรอนแมน แต่แล้วเมื่อศัตรูที่มารุกรานโลกมีพลังมหาศาลเกินที่เขาแต่ละคนจะจัดการได้ จึงจำเป็นต้องรวมพลังกัน ตรงนี้เองที่บทบาทของผู้การนิค ฟิวรี่จะเด่นชัดเพราะเขารู้วิธีที่จะจูงใจให้ซูเปอร์ฮีโร่มาทำงานในทีม Avengers ได้ ทั้งนี้เขาไม่ได้พยายามสร้างมาตรฐานวิธีการทำงานของทีมขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกทุกคนยอมรับและปฏิบัติตาม เพราะรู้ดีว่าไม่มีใครสนใจอยากจะทำหรือสามารถทำตามได้ แต่ละคนมีแบบฉบับการทำงานของตนเองที่เปลี่ยนได้ยาก และถ้าไปเปลี่ยน พวกเขาอาจสูญเสียจุดเด่นนั้นๆไปเลย วิธีการทำงานกับคนเก่งมากๆหลายๆคนก็คือพยายามสร้างโครงการที่แต่ละชิ้นงานจะได้ใช้คุณสมบัติเด่นของแต่ละคน เช่น งานที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีสูงๆ ก็น่าจะเหมาะกับไอรอนแมนที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีสูง งานที่เกี่ยวกับความคล่องตัวต้องใช้ไหวพริบ อาจจะเป็นแบล็ควิโดว์ เป็นต้น ถ้าเปรียบเทียบกับเวทีการแสดง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารทีมรวมดาวอาจจะไม่ใช่ผู้ที่เก่งกาจที่สุด เช่นเดียวกับผู้การนิค แต่ต้องเป็นผู้ที่มีจิตวิทยา มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง รู้จักแจกบทให้ดาราแต่ละคนได้มีฉากที่เขาเป็นตัวเอกในฉากนั้นๆอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ซูเปอร์ฮีโร่แต่ละคนมีความพอใจไม่แย่งกันเด่น

ผูกความสมัครสมานด้วยเป้าหมายเดียวกัน


ดังที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้นว่าอย่าพยายามสร้างมาตรฐานของวิธีการทำงานให้พวกซูเปอร์ฮีโร่ ต้องปล่อยให้เขาทำงานด้วยวิธีที่ถนัด แต่พยายามผูกใจและความรับผิดชอบของเขาด้วยเป้าหมายที่ต้องมีร่วมกัน ซูเปอร์ฮีโร่ต่างมีอาวุธประจำตัวตลอดจนเครื่องแต่งกายที่ต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือพวกเขารู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก เขามีความห่วงใยประชาชนในโลกของเขา อย่างแบล็คแพนเธอร์ก็รักและห่วงใยชาววากันดา กัปตันอเมริกาและไอรอนแมนห่วงใยคนอเมริกัน ธอร์เป็นห่วงชาวแอสการ์ด จุดที่พวกเขาทุกๆคนเห็นความสำคัญคือชีวิตของพลเมืองในประเทศหรืออาณาจักรของเขาเป็นลำดับแรกก็จริง แต่สามารถพูดโดยรวมได้ว่าทุกคนห่วงใยชีวิตของผู้บริสุทธิ์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดก็ตาม นี่คือประเด็นหรือเป้าหมายหลักที่สามารถดึงให้ทุกคนละอัตตาลงบางส่วนและมาร่วมมือกันได้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักเรื่องชีวิตของผู้คนอาจยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้ซูเปอร์ฮีโร่บางคนมาร่วมงานได้ ซึ่งผู้นำทีมก็ต้องมองหาปัจจัยช่วยตัวต่อไปซึ่งก็คือ ประเด็นเรื่องส่วนตัว (Personal issue) ที่จะเป็นปัจจัยจูงใจให้ซูเปอร์ฮีโร่บางคนที่มีความแค้นส่วนตัวเป็นพิเศษกับใครคนใดคนหนึ่งจนยอมโดดเข้ามาร่วมมือกับคนอื่น เช่น ในตอนภาคแรกๆ ซูเปอร์ฮีโร่บางคนก็ไม่ได้รู้สึกเกลียดโลกิหรืออยากปราบโลกิเป็นพิเศษ แต่เมื่อผู้ที่รับบทเป็นเจ้าหน้าที่หรือสายลับคูลสันถูกโลกิหลอกแทงตาย ทุกคนก็เห็นความเจ้าเล่ห์ชั่วร้ายของโลกิและร่วมมือกันล่าโลกิ เพราะทุกคนเกิดมีอารมณ์ร่วม (personal attachment) กับเหตุการณ์นั้น สิ่งที่เราเรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ ในการเป็นผู้นำทีมเราต้องเข้าใจว่าแรงจูงใจในการทำงานของสมาชิกทีมแต่ละคนคืออะไร แม้ว่าโดยทั่วไปพวกเขาอาจจะเห็นด้วยด้วยกับเป้าหมายขององค์กร เช่น การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามทุกคนล้วนแต่มีความสนใจหรือความอยากเป็นส่วนตัวด้วยกันทั้งสิ้น เช่น บางคนชอบเรื่องเทคโนโลยีก็จริง แต่ชอบเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสารเป็นพิเศษ ในขณะที่อีกคนสนใจเทคโนโลยีด้านการผลิต ดังนั้นผู้นำต้องรู้จักที่จะดึงข้อมูลความสนใจและความชอบเฉพาะของแต่ละคนมาเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างชิ้นงานหรือชูประเด็นนั้นๆเพื่อดึงดูดให้สมาชิกทีมมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น

เชื่อมั่นในตัวเขา และให้การสนับสนุนเบื้องหลังอย่างเต็มที่


การบริหารคนเก่งก็เหมือนกับการที่แฟนของซูเปอร์แมนหรือไอรอนแมนยอมให้ซูเปอร์แมนหรือไอรอนแมนโอบตัวเหาะพาไปชมท้องฟ้าอันสูงลิ่วนั่นเอง ต้องเชื่อใจว่าเขาไม่ปล่อยท่านหล่นแน่ แทนที่จะร้องหวีดว้ายให้เขาเสียสมาธิหรือคอยเฝ้าเตือนเขาว่า “อย่าทำฉันหล่นนะ” เพราะมันจะทำให้เสียความรู้สึกว่าท่านไม่มั่นใจในตัวเขา อัตตาของซูเปอร์ฮีโร่ก็เหมือนกับอัตตาของพนักงาน Talent ที่ท่านต้องบริหารนั่นแหละค่ะ คนเก่งคนฉลาดมักมีความมั่นใจในตัวสูง และไม่ค่อยชอบให้คนแสดงความกังขาไม่มั่นใจในตัวเขา คอยตรวจสอบการทำงานของเขาทุกฝีก้าว ถ้าผู้นำไปจู้จี้จุกจิกกับพนักงานที่เก่งๆมากเกินไป เขาจะรู้สึกรำคาญเพราะท่านทำเหมือนกับเขาเป็นเด็กไม่รู้จักโต แน่นอนละที่พวกเขาไม่ได้รู้ไปทุกอย่าง แต่ความที่เขามีอัตตาสูงเขาก็ไม่ชอบฟังคำเตือน บางครั้งผู้นำจึงต้องปล่อยให้พวกเขาผิดพลาดบ้าง เจ็บตัวบ้าง เพื่อที่จะได้ตระหนักเองว่าตัวเขาไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่คิดหรอกนะ การบริหารคนเก่งจึงเป็นเรื่องไม่ง่ายและอาจต้องซื้อบทเรียนให้พวกเขาด้วยราคาที่แพงลิบ ส่วนจะคุ้มค่าหรือไม่ที่ต้องยอมเสี่ยงกับคนเก่งๆ ผู้บริหารก็ต้องคิดคำนวณต้นทุนให้ดีเอาเองว่าจะไว้ใจและหนุนหลังคนเก่งของท่านในขอบเขตเท่าไร ตกลงกันให้ชัดเจนเสียก่อนก็ไม่เสียหลายนะคะ


มีอารมณ์ขันในการทำงาน มีทั้งความฉลาดและความเฉลียว


เมื่อเปรียบเทียบไอรอนแมนกับฮัลค์ แบล็ค แพนเธอร์ กัปตันอเมริกา และอีกหลายคน โทนี่ สตาร์คดูจะมีอารมณ์ขันมากกว่าคนอื่น แม้อยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานในช่วง Avengers: Civil War เขาก็ยังมีอารมณ์ขันพูดจาเหน็บแนมล้อเลียนคนอื่นๆเสมอๆ โทนี่เคยกล่าวว่า “มีอยู่เรื่องนึงที่ผมทำให้พวกคุณสามารถมั่นใจในตัวของผมได้ก็คือผมรู้จักทำให้ตนเองมีความสุข” (“If there’s one thing I’ve proven it’s that you can count on me to pleasure myself.” – Tony Stark, Iron Man)
นอกจากเรื่องของอารมณ์ขันที่บางครั้งออกแนวเสียดสีและโหดๆตามแบบไอรอนแมนแล้ว ความที่โทนี่เป็นวิศวกรอารมณ์ติสต์ เขาจึงเป็นคนที่มีอารณ์ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยและไม่ค่อยยึดติดกับอะไรมากนัก ดังนั้นเมื่อโทนี่ไปพบ ดร. สเตรนจ์ (รับบทโดยเบเนดิค คัมเบอร์บาค) ที่ทำหน้าที่ปกป้องหินไทม์สโตนอยู่ก้อนหนึ่ง และแนะนำว่าดร. สเตรนจ์น่าจะทำลายหินก้อนนั้นก่อนที่จะตกไปอยู่ในมือของธานอส เพราะการรักษาเอาไว้ดูจะเป็นภาระที่เกินกำลังยุ่งยากมากไปแล้ว แต่ดร. สเตรนจ์ไม่ฟังความเห็นของโทนี่เพราะยึดมั่นกับคำสัญญาว่ารักษาหินเอาไว้ให้ปลอดภัยจากมือธานอสไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม อันที่จริงแล้วความคิดของโทนี่นั้นถูกต้อง เพราะวิธีการป้องกันไม่ให้ธานอสได้หินทุกก้อนเพื่อไปสร้างพลังทำลายล้างนั้นมีอยู่หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการเก็บเอาไว้ แต่ถ้าเก็บรักษาไว้ไม่ได้ การทำลายมันเสียไม่ให้ธานอสได้หินไป ก็มีค่าเท่ากัน แต่ดร. สเตรนจ์ไม่ได้เฉลียวใจนึกถึงความจริงข้อนี้ จะว่าไปก็เหมือนปัญหาเส้นผมบังภูเขาที่ผู้นำหลายคนเชื่อว่าสิ่งที่เขายึดมั่นทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถึงกับบางคนยอมสละชีวิตเพื่อหน้าที่นั้นๆ แต่ถ้ารู้จักฉุกคิดในมุมที่ต่างออกไป อาจคิดได้ว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้นำอาจต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงาน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าท่านเสียสัจจะหรืออุดมการณ์ในการทำงานแต่อย่างใด ผู้นำจึงต้องมีทั้งความฉลาดและความเฉลียว

มั่นใจที่จะแหวกประเพณีและรับฟังคำวิจารณ์ นี่เป็นบทเรียนจากกษัตรย์เทชัลลา


ในภาพยนตร์เรื่องซึ่งเป็นตอนที่เกี่ยวกับการก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระบิดาที่ถูกพวกก่อการร้ายลอบวางระเบิดปลดชีวิต โดยในการที่จะสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์ เจ้าชายเทชัลลาต้องเข้าพิธีตามโบราณราชประเพณีของชาววากันดา ซึ่งชาววากันดาพึงพอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบไม่ยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอก ไม่ต้องการให้คนวากันดาเองออกไปนอกอาณาจักร และก็ไม่อยากให้คนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวล่วงรู้เกี่ยวกับความลับต่างๆของตน เช่นอำนาจลึกลับและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันสูงล้ำในอาณาจักรของตน แต่เมื่อไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกจากสังคมโลกนอกภายนอก และต้องร่วมมือกับพันธมิตรข้างนอกในการต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตของชาวโลกทั้งมวลที่เป็นผู้บริสุทธิ์ กษัตริย์เทชัลลาก็ต้องรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นของผู้อื่นที่อยู่ในฐานะต่ำกว่าตน และทำการเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณีด้วยการนำชาววากันดาติดต่อกับโลกภายนอกเมื่อตระหนักว่าประเพณีหลายอย่างต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ถือเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่น่าจดจำสำหรับผู้นำหลายคนที่ยังยึดติดกับค่านิยมเก่าๆโดยไม่พิจารณาทบทวนว่าเมื่อเวลาผ่านไป ความเชื่อหรือแนวทางปฏิบัติบางอย่างสมควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเอง


บทเรียนข้อนี้น่าจะเป็นอมตะที่สุด เพราะเมื่อใดที่ผู้นำหยุดพัฒนาตนเอง หมายความว่าท่านกำลังถึงจุดเสื่อมที่จะนำไปสู่จุดจบก็เป็นได้ ไปๆมาๆอยากจะคิดว่าในบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมด เผลอๆโทนี่ สตาร์คอาจเป็นคนที่ฉลาดที่สุด (และมีอัตตาสูงที่สุดด้วย?)เพราะเขาไม่เคยหยุดพัฒนาเสื้อเกราะไอรอนแมนของเขา นอกจากนี้เขายังสนใจที่จะพัฒนาชุดให้กับสไปเดอร์แมนเพื่อที่จะแผลงศักดาได้มากกว่าเดิมในการจะไปร่วมต่อกรกับธานอส โดยชุดที่โทนี่ขอให้ฟรายเดย์ช่วย “อัพเกรด” ให้คือชุด 17-A ที่ทำให้สไปเดอร์แมนสำแดงฤทธิ์ได้มากขึ้นพอตัว


มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับดิฉันนะคะว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีแต่ฉากอลังการ โหด มัน ฮา เท่านั้น แต่มีแนวคิดดีๆแฝงอยู่ในบทสนทนาและบทบาทการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่คอยพิทักษ์โลกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ซูเปอร์ฮีโร่มีความเป็นปุถุชนคือผิดพลาดได้ ถูกหลอกให้หลงทางได้ เคยอวดดีแต่แล้วก็ต้องมีการเสียหน้าบ้าง มีแพ้บ้างก่อนที่จะร่วมมือกันชนะทำให้เราเข้าใจได้ว่าการเป็นผู้นำใช่ว่าจะต้องเก่ง ต้องถูกทุกครั้งไป ต่อให้เก่งเท่าเก่งก็ต้องมีพลาด จึงควรลดอัตตาของตนลงบ้าง ยอมรับยกย่องคนอื่นบ้าง หัดอยู่ข้างหลังบ้าง ร่วมมือกับคนอื่นบ้าง โลกของเรามันถึงจะไปกันได้