อัพเดต Stress Test แบงก์สหรัฐ 2018

อัพเดต Stress Test แบงก์สหรัฐ 2018

การทดสอบภาวะวิกฤติของระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐในปี 2018 ที่เรียกกันว่า Dodd-Frank Act Stress Testing หรือ DFAST 2018

ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดได้ทำการทดสอบภาวะวิกฤติแบงก์ 35 แห่ง ว่าหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แล้วอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบแบงก์สหรัฐจะเป็นอย่างไร เมื่อมองไปข้างหน้าเป็นระยะเวลา 2 ปีจากนี้ไป

 

บทความนี้ จะขออัพเดตในส่วนของเทคนิคการทดสอบ สมมติฐานของเหตุการณ์ต่างๆที่ถือว่าวิกฤต และผลการทดสอบโดยรวมและต่อแบงก์ต่างๆว่าเป็นเช่นไร 

ในส่วนของตัวแบบจำลอง มีการปรับปรุงให้ทันสมัยใน 2 ส่วน ได้แก่ การปรับปรุงให้การประมาณการณ์ Pre-provision net revenue (PPNR) เมื่อผ่านการทดสอบสมมติฐานของการทดสอบภาวะวิกฤต ให้รวมถึงกฎหมายภาษีใหม่ หรือ Tax Cuts and Jobs Act  ของรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่งออกมาช่วงต้นปีนี้ โดยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 20 ส่งผลให้มูลค่าของ Deferred Asset ของบริษัทลดลง โดย Stress Test ยุคใหม่ใช้ PPNR เป็นตัวตั้งแล้วปรับให้เป็นเงินกองทุนของแบงก์ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานใหม่ไปแล้ว และการปรับปรุงส่วนที่ใช้ประเมินความเสียหายจากธุรกิจบัตรเครดิตอีกด้วย

สำหรับสมมติฐานนั้น เฟดแบ่งวิกฤต ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ แบบรุนแรง (Adverse) และแบบรุนแรงมาก (Severely Adverse) โดยความแตกต่างหลัก มีดังนี้ อัตราการว่างงานสูงสุดที่ร้อยละ 6.5 และ 10 อัตราการเติบโตของจีดีพีต่ำสุดที่ี ติดลบร้อยละ 4 และ 10 ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ลดลงสูงสุดเหลือที่ 18,000 และ 10,000 จุด  และ ค่าความผันผวนตลาดหุ้น VIX สูงสุดที่ 29 และ 60 สำหรับการทดสอบ แบบรุนแรง (Adverse) และแบบรุนแรงมาก (Severely Adverse) ตามลำดับ

อัพเดต Stress Test แบงก์สหรัฐ 2018

ผลการทดสอบปรากฎว่าแบงก์ทั้ง 35 แห่ง ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย 5.78 แสนล้านดอลลาร์ จากการผ่านการทดสอบนี้ ทว่าเงินกองทุนที่มีอยู่สามารถที่จะล้างความเสียหายดังกล่าวและกลับมาปล่อยกู้ทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งพาภาษีของประชาชน

 อย่างไรก็ดี แบงก์ Big Name อย่าง โกลด์แมน ซัคส์ และ มอร์แกน แสตนลีย์ มีอัตราส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์หรือ Supplementary Leverage Ratio ที่ร้อยละ 3.1 และ 3.3 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับที่ทั่วโลกมองว่ายังปลอดภัยที่ร้อยละ 3 ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด 

อย่างไรก็ดี โกลด์แมน ซัคส์ ได้ชี้แจงผ่านจดหมายที่เป็นทางการว่า ทางแบงก์เองยังมั่นใจว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ โดยจะขอเคลียร์ตัวแบบจำลองกับเจ้าหน้าที่ของเฟดที่ดูแลในส่วนนี้ 

ส่วนด้านแบงก์เจพี มอร์แกน เชส และ มอร์แกน แสตนลีย์ ได้ออกแถลงการณ์ว่าผลการทดสอบรอบสองที่จะออกมาในสัปดาห์นี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าเงินกองทุนมากน้อยแค่ไหน ที่ทางแบงก์สามารถที่จะคืนในรูปแบบของเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนกลับมาให้กับผู้ถือหุ้นได้  แม้ว่าแบงก์ต่างๆจะทำเรื่องพร้อมด้วยตัวเลขการคืนเงินทุนให้กับผู้ถือหุ้นเสนอต่อเฟดแล้ว ทว่าเฟดอาจให้กลับไปทบทวนตัวเลขใหม่ก็เป็นได้ 

ส่วนตัวเลขที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ได้แก่ อัตราส่วน common equity tier one (CET1) ของโกลด์แมน ซัคส์ ก็ดูย่ำแย่ ทำได้เพียงร้อยละ 5.6  ดังรูปที่ 1 แม้จะยังสูงกว่าค่าต่ำสุดที่รับได้ที่ร้อยละ 4.5 ก็ตาม

อัพเดต Stress Test แบงก์สหรัฐ 2018

อย่างไรก็ดี ตัวเลขในภาพรวม 35 แบงก์ถือว่าทำได้น่าพอใจ โดยยังสูงกว่าร้อยละ 8.5 และทำได้ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา ดังรูปที่ 2 

ทั้งนี้ คาดว่า แบงก์ใหญ่ที่เข้ารับการทดสอบดังกล่าว สำหรับไตรมาสนี้ น่าจะจ่ายเงินปันผลมากกว่าปีที่แล้วราวกว่าหนึ่งในสี่

โดยภาพรวม ระบบแบงก์สหรัฐแข็งแกร่งกว่ายุโรปโดยรวม และอาจถือได้ว่าแข็งแกร่งระดับ TOP3 ของโลก