การกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น (1)
การแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรทางการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และครอบคลุมทุกประเทศหลักของโลกแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นจีน สหภาพยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ มีเพียง 2 กรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เจรจาสำเร็จ และประเทศคู่ค้ายอมโอนอ่อนผ่อนตามคือ ออสเตรเลีย กับ เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าสหรัฐมาก และยังต้องพึ่งพาสหรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง 2 ประเทศดังกล่าว จึงยอมสมัครใจจำกัดการส่งออกสินค้าเหล็กกล้า และอลูมิเนียมของตนในปริมาณที่สหรัฐพึงพอใจ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในความเห็นของผมเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ คือการที่ตั้งสมมติฐานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ กล่าวคือ แนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับการค้านั้น พอสรุปใจความได้ดังนี้
- การที่สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่ง แปลว่าสหรัฐถูกเอาเปรียบ โดยประเทศดังกล่าว ดังนั้น สหรัฐจึงจะต้องดำเนินการในทุกทางที่จะให้การขาดดุลการค้าหมดสิ้นไป
- วัตถุประสงค์คือจะผลักดันให้สินค้าที่สหรัฐนำเข้ามาจากต่างประเทศนั้น ในที่สุดต้องนำกลับมาผลิตในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐ
- ในกรณีของจีนนั้น สหรัฐกล่าวหาว่าถูกจีนขโมยเทคโนโลยี และกลัวถูกจีนแซงหน้าจึงต้องกดดันให้รัฐบาลจีนยุติการให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมทันสมัย 10 อุตสาหกรรมตามแผนยุทธศาสตร์ของผู้นำจีนภายใต้ชื่อ Made in China 2025
ผมขอเสนอแนวคิดที่น่าจะใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากกว่าใน 3 ประเด็นข้างต้น
- การขาดดุลการค้านั้น หากมองในวงกว้างกว่านั้นจะเห็นว่าเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมของสหรัฐมายาวนาน ซึ่งสะท้อนว่าสหรัฐ มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ สหรัฐทำอย่างนั้นได้อย่างไร คำตอบคือ ทำได้เพราะเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก ดังนั้นสหรัฐจึงสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ โดยการพิมพ์ “กระดาษ” (เงินเหรียญสหรัฐ) ออกมาให้ประเทศคู่ค้า ซึ่งประเทศคู่ค้าก็เก็บ “กระดาษ” ดังกล่าวเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศในจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากการถือเงินเหรียญสหรัฐทำให้ไม่มีผลตอบแทน จึงต้องยอมเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แม้จะราคาแพง(ดอกเบี้ยต่ำ) เพราะต้องซื้อแข่งกับธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งทำมาตรการคิวอีต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี แล้ว กล่าวคือประเทศคู่ค้าของสหรัฐนั้น นอกจากจะต้องขายสินค้าและบริการเพื่อแลกกับ “กระดาษ” แล้ว ก็ยังต้องเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสหรัฐและมีความเสี่ยงว่าอาจต้องขาดทุนได้อีกในอนาคตจากการถือ พันธบัตรดังกล่าว สรุปคือ การดำเนินนโยบายของทรัมป์นั้น นอกจากจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมแล้ว ก็ยังจะเป็นผลเสียต่อผลประโยชน์พื้นฐานของสหรัฐที่มีอภิสิทธิ์ในการที่เป็นประเทศเดียวที่พิมพ์เงินให้โลกใช้จ่ายอีกด้วย
- พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การนำพาของสหรัฐนั้น คือการพัฒนาสู่โลกาภิวัตน์ (globalization) ซึ่งแปลว่าผู้ผลิตจะเลือกผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใดก็ได้ในโลกนี้ จะนำไปประกอบส่วนใดหรือทั้งหมดที่ใดก็ได้ในโลกนี้ และจะนำสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายได้ในทุกตลาดทั่วโลกแต่สิ่งที่ทรัมป์กำลังต้องการให้เกิดขึ้นคือ ให้ผลิตทุกชิ้นส่วนที่อเมริกาและประกอบขึ้นที่อเมริกา จึงจะสามารถขายได้ในอเมริกาโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรสูง ๆ กล่าวคือ เปลี่ยนจาก globalization เป็น autarky (ต่างคนต่างพึ่งพาตนเอง) ไม่ต้อง ค้า-ขาย กันมากนัก และการค้า-ขาย จะต้องให้สมดุลกัน
- ในส่วนของจีนนั้น ผมเข้าใจว่าการรู้สึกว่าถูกจีนเอารัดเอาเปรียบในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงนั้นเป็นเรื่องที่มีผู้เห็นด้วย และให้การสนับสนุนนโยบายของทรัมป์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และคงจะต้องเจรจากับจีนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อตกลงที่สมดุลที่สามารถยอมรับกันได้ ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ปัจจุบัน ไม่มีการเจรจากันแต่อย่างใด เพราะมีแต่การข่มขู่กันไป-มา โดยที่ทรัมป์มองว่าเมื่อสหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 5 แสนล้าน แต่จีนนำเข้าเพียง 1 แสน 3 หมื่นล้านสหรัฐ จึงมีไพ่เหนือจีนอย่างมาก และได้สั่งให้จีนต้องลดการขาดดุลการค้ากับสหรัฐลงไป 2 แสนล้านเหรียญต่อไปภายใน 2 ปี ซึ่งจีนรับไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว (อัตราว่างงานจึงต่ำเพียง 3.8%) ดังนั้นการยอมตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ รัฐบาลจีนก็จะต้องไปบีบบังคับผู้ส่งออกของจีนให้ลดปริมาณการส่งออกลงเอง และยังต้องยอมสหรัฐเรื่องยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ระยะยาวของจีน
คำถามต่อไปคือ เมื่อเกิดการตอบโต้กันทางการค้าแล้ว ทุกอย่างจะจบลงอย่างไร ซึ่งคงจะจบลงอย่างไม่พึงประสงค์ อย่างแน่นอน แต่จะรุนแรงมากน้อยเพียงใดนั้น ผมขอนำไปประเมินในตอนต่อไป ครับ