หนังสือของกุนซือทรัมป์ ด้าน Trade War
จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงกับประเทศข้างเคียงอื่นๆ ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะจุดติดไปพอสมควรแล้ว ในวันหยุดนี้
ผมจึงขอพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับหนังสือที่เขียนโดยที่ปรึกษาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นามว่า ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ได้เขียนหนังสือเกือบ 10 เล่ม เกี่ยวกับจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองที่วิจารณ์ว่าด้วยการเอาเปรียบสหรัฐในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
หนังสือของนาวาร์โรที่ค่อนข้างมีคนพูดถึงกันในวงการ มีอยู่ด้วยกัน 3 เล่ม ได้แก่
เล่มแรก เพิ่งออกมาได้ 2-3 ปี ชื่อว่า Crouching Tiger: What China’s Militarism Means for the World หนังสือเล่มนี้ถือว่าอ่านแล้วมีลูกเล่นในการเล่าเรื่องให้ชวนติดตามต่อไปในบทต่อไปว่าจะเผยความลับว่าเหตุใดและด้วยเครื่องมือใดที่จีนจะพยายามสกัดอิทธิพลของสหรัฐในย่านเอเชียตะวันออก และนำพาตัวเองขึ้นมาครองอำนาจแทนสหรัฐ รวมถึงจะค่อยๆตอบคำถามว่า ท้ายที่สุดแล้ว จีนจะต้องทำสงครามกับสหรัฐหรือไม่
หนังสือเล่มนี้ จะพยายามสื่อว่าจีนกับสหรัฐไม่ได้อยู่ในหลุมพลางของ “Thucydides trap” หรือที่เรียกกันแบบชาวบ้านว่า “เสือ 2 ตัว อยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้” หรือโดยธรรมชาติแล้ว จีนซึ่งเป็นดาวรุ่งจะต้องต่อสู้กับสหรัฐที่เป็นแชมป์เก่า ทว่าจีนจะก้าวไปไกลกว่าขั้นนั้นอีก ด้วยการที่พยายามจะสร้างเส้นทางลัดสู่ดวงดาวทั้งเอาเปรียบด้านการค้า และลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก อาทิ แอฟริกา เพื่อสั่งสมทรัพยากรต่างๆทั้งพลังงาน การเงิน และอำนาจการเมือง จากสิ่งที่ตนเองลงทุนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสั่งสมกำลังทางทหารอยู่แบบที่ไม่เปิดตัว เพื่อที่จะรอเวลาที่จะแตกหักกับสหรัฐในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังปกปิดข้อมูลข่าวสารกับประชาชนของตนเอง ด้วยการป้อนข้อมูลเฉพาะที่ตนเองต้องการให้ประชาชนทราบเท่านั้น โดยยังวิจารณ์ว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานกับประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยังมองว่ารัฐบาลในสมัยของโอบามาอ่อนข้อและยอมต่อจีนมากจนเกินไป
หนังสือเล่มที่สอง มีชื่อว่า Death by China: Confronting the Dragon ที่ร่วมเขียนกับ เกรก ออร์ทรี โดยเล่มนี้ นาวาร์โรให้ความเห็นถึงเทคนิคของจีนในการเอาเปรียบสหรัฐ ไม่ว่าจะประเด็นการหมกเม็ดในการส่งออกสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี กระเทียม ไก่ และอาหารหมวดอื่นๆ รวมถึงเสื้อผ้า ในยุค 90 รวมถึงใส่สาร anti-biotic ต่างๆในสินค้าที่ส่งออกเพื่อให้ดูมีความสด รวมถึงมีการนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่ส่งออก หรือการอุดหนุนต่อผู้ส่งออกของตนเองเพื่อให้สามารถทำราคาลงมาจนชนะคู่แข่งได้ แม้แต่การปล่อยสารที่เป็นมลพิษต่อสภาวะอากาศของโลกจากกระบวนการผลิตในเฟสต่างๆ เพียงเพื่อที่จะสามารถผลิตสินค้าในราคาที่ถูกที่สุดให้ได้
นาวาร์โรยังคิดไปไกลกว่านั้น ว่าจีนถึงขนาดคิดล่วงหน้าในการส่งออกยาที่จะมารักษาโรคจากผลข้างเคียงของสารที่เป็นมลพิษดังกล่าว โดยกล่าวว่าวิตามินซี จีนมีสัดส่วนในการผลิตสู่ตลาดทั่วโลกถึง 90% 70% สำหรับตลาดยาเพนนิซิลิน และ 50% ของยาแอสไพลิน โดยยาจากจีนที่นาวาร์โรกล่าวว่าไม่ได้มาตรฐาน ได้มาตีตลาดร้านขายยาทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและยุโรป
จากนั้น นาวาร์โร ยังกล่าวว่าที่แรงงานสหรัฐในยุค 80-90 โดยเฉพาะในโรงงานเหล็กและโรงงานประกอบรถยนต์ต้องตกงานกันมากมาย ก็เพราะเป็นแผนของจีนที่จะใช้แรงงานราคาถูกของตนเองเป็นอาวุธหรือ “Weapons of Job Destruction” โดยเล่าถึงกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์ในลักษณะที่นำมาซึ่งแนวคิดดังกล่าว
ในส่วนท้ายของหนังสือ นาวาร์โร พูดถึงการทำสงครามการค้าโดยใช้มาตรการกำแพงภาษีว่าจะต้องทำกับจีนเพื่อหยุดยั้งความห้าวของจีน และต้องนำ “Great Walls of Protectionism” มาปกป้องตลาดของตนเองจากการเข้ามาของจีน
เล่มสุดท้ายที่จะขอพูดถึง ชื่อว่า The Coming China Wars ซึ่งออกมาแล้วเป็นที่รู้จักระดับหนึ่งเป็นเล่มแรกๆ เล่มนี้จะพูดถึงนโยบายด้านอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อทำลายคู่แข่งของในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังจะใช้การส่งออกสินค้าที่เกินดุลด้วยมูลค่ามากมายในยุค 20 ปีก่อนเพื่อสร้างอิทธิพลในมิติอื่น อาทิ การถือครองดอลลาร์ในเงินสำรองระหว่างประเทศ เพื่อที่จะสร้างอำนาจต่อรองให้กับตนเองในฐานะเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ และการมีอิทธิพลต่อประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
อย่างไรก็ดี หลายคนมีมุมมองว่าหนังสือของนาวาร์โร ไม่ค่อยมีหลักการเศรษฐศาสตร์หรือวิชาการมารองรับในการวิเคราะห์ ส่วนใหญ่จะใช้มุมมองและความเชื่อของตนเองเป็นหลัก ดูแล้วเหมือนจะเป็นรองหนังสือของเจมส์ ริคาร์ดส ที่ออกมาแนว conspiracy theory ใกล้เคียงกัน
หมายเหตุ : ผู้ที่สนใจเข้ารับการอบรมเรื่อง “เจาะลึก Trade War & Brexit” พบกับมุมมอง Macro และการลงทุน ในครึ่งปีหลัง 2018 ในวันเสาร์ที่ 4 ส.ค.2018 ติดตามรายละเอียดได้ที่ LINE ID: MacroView MacroViewblog.com และ facebook.com/ MacroView ครับ