ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมพ์ สร้างความกังวลอย่างแพร่หลาย จึงเป็นข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่ง มีหลายประเด็น และมีการพูดถึงตัวเลขหลายๆ ตัวเลขทำให้เกิดความสับสนได้อย่างมาก และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากจริงๆ ผมจึงขอพยายามสรุปประเด็นที่น่าห่วง สำหรับเศรษฐกิจโลก ดังต่อไปนี้

ประธานาธิบดีทรัมป์บอกว่า “trade wars are easy to win” และประธานาธิบดีทรัมป์มองว่า หากเก็บภาษีศุลกากร สินค้านำเข้าก็จะทำให้ต้องหันมาผลิตในประเทศสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการสร้างงานและสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ในความเป็นจริงนั้น หากสหรัฐเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากประเทศนาฟต้า(แคนาดา และเม็กซิโก) จากสหภาพยุโรป (รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์) และจากประเทศจีน (ทั้งหมด 5 แสนล้าน) ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ขู่เอาไว้ ก็ย่อมจะทำให้ประเทศคู่ค้าต้องตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้(เพราะสหรัฐทำผิดกฎเกณฑ์การค้าโลก และสร้างกระแสทางการเมืองให้ต้องตอบโต้) หมายความว่าการกีดกันการค้าจะครอบคลุมการค้าของประเทศใหญ่ๆ ของโลกทั้งหมด (รวมถึงญี่ปุ่นด้วย เพราะส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐเป็นจำนวนมาก) กล่าวคือ ประเทศสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น แคนาดา และเม็กซิโก มี จีดีพี มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 60% ของจีดีพีโลก ที่สำคัญคือการกีดกันการค้า ส่งผลต่อเศรษฐกิจในเชิงลบ 3 ประการคือ

1.เป็นการขึ้นภาษี (ศุลกากร) ซึ่งย่อมเป็นผลเสียต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.ลดประสิทธิภาพ ทางเศรษฐกิจ เพราะการขึ้นภาษีศุลกากรทำให้ต้องเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าที่ราคาถูกและคุณภาพดีที่สุดไปอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งผลิตสินค้าเดียวกันได้ในราคาที่แพงกว่า กล่าวคือ เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพลดลง

3.ทำให้การลงทุนชะงักงัน เพราะบริษัทต่าง ๆ จะต้องรอดูสภาวการณ์ ว่าการกีดกันการค้าจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และรุนแรงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งการชะลอตัวของการลงทุน ย่อม ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องชะลอตัวลง

ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ นาย Jerome Powell ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะมองว่าเป็นการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ซึ่งจะกระตุ้นให้สหรัฐขาดดุลการค้ามากขึ้น การแทรกแซงดังกล่าว ทรัมป์ อ้างว่าทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาวของสหรัฐ แต่ที่จริงแล้วเป็นการบั่นทอนผลประโยชน์ระยะยาวของสหรัฐอย่างคำนวณค่าไม่ได้ เพราะปัจจุบันสหรัฐมีอภิสิทธิในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในโลกที่พิมพ์เงินให้โลกใช้ กล่าวคือเงินดอลลาร์เป็น global currency แปลว่าสหรัฐอยู่ในฐานะที่สามารถพิมพ์กระดาษ(ทั้งเงินดอลลาร์และออกพันธบัตรรัฐบาล)เพื่อแลกกับสินค้าและบริการจากทั่วโลก โดยที่ สหรัฐไม่มีทางเจอปัญหาวิกฤติค่าเงิน เช่นที่ไทยเผชิญในปี 1997 (เพราะสูญเสียทุนสำรองจนเกือบหมด) เพราะสหรัฐสามารถพิมพ์ทุนสำรองออกมาใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด แต่หากต้องการให้ดอลลาร์เป็น global currency ต่อไป ในระยะยาวก็ต้องยืนยันว่าจะดำเนินนโยบายการเงินให้เงินดอลลาร์มีเสถียรภาพ หรือแข็งค่า ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐจึงยึดโยงนโยบายที่ชัดเจนโดยเสมอมาว่า a strong dollar is good for America 

แต่การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ ว่าต้องการให้เงินดอลลาร์อ่อนค่านั้น ในระยะยาวจะเป็นการบั่นทอนสถานะของเงินดอลลาร์ที่เป็น global currency หรือเงินสกุลหลักของโลกเพราะประเทศต่าง ๆ ที่ปัจจุบันถือเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะยินยอมถือสินทรัพย์ที่จะด้อยค่าลง ให้เป็นทุนสำรองได้อย่างไร? กล่าวคือ หากทรัมพ์ยืนยันนโยบายดอลลาร์อ่อนค่า ก็จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมองหา เงินสกุลหลักของโลก สกุลใหม่ แต่ในระหว่างนี้ ระบบการเงินของโลกก็จะปั่นป่วน ทำให้เป็นภาระกับการทำธุรกิจ และธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งย่อมจะบั่นทองการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ประเด็นสุดท้ายคือการที่จีนต้องพยายามตอบโต้สหรัฐ และไม่ยอมตอบสนองสหรัฐ ทำให้จีนต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อ “อุ้ม” เศรษฐกิจภายในและส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของทางการของจีนในอีกทางหนึ่ง เพราะจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกของจีน แต่การดำเนินการดังกล่าวนั้น ย่อมจะส่งผลกระทบข้างเคียงเช่น

1.ทำให้ค่าเงินของประเทศคู่ค้าใกล้เคียงเช่นประเทศไทยและประเทศอาเซียนอื่น ๆ อ่อนค่าตามไปด้วย

2.หากจีนควบคุมให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่สำเร็จ ก็อาจต้องควบคุมการไหลออกของเงินอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจกระทบการใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยวของชาวจีนอีกด้วย

3.จีนเป็นประเทศที่บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภท ซึ่งเมื่อได้รับผลกระทบและเงินหยวนอ่อนค่าก็จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง เช่น ราคาถั่วเหลือง ราคายาง และราคามันสำปะหลัง จะปรับลงลงได้ ซึ่ง 2 รายการหลังนั้น ไทยพึ่งพากำลังซื้อจากจีนค่อนข้างมาก