สภาพัฒน์ จะเปลี่ยนชื่อไปทำไม

สภาพัฒน์ จะเปลี่ยนชื่อไปทำไม

เมื่อเดือนก่อน เห็นข่าวว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบพ.ร.บ.สภาพัฒน์ฉบับใหม่ ข้อใหญ่ใจความหนึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ครม.เห็นชอบ

ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของสภาพัฒน์ฯในยุคหนึ่ง กลับไปใช้ชื่อเดิม คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้สภาพัฒน์ฯใหม่(แต่ชื่อเดิม)นี้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายและวางแผนสำหรับอนาคตของประเทศไทย ตามนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมจะไม่วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาที่เขียนไว้ในพ.ร.บ.ใหม่นี้ สาเหตุประการณ์หนึ่งก็เพราะผมไม่รู้รายละเอียดมากพอ แต่ที่อยากจะขอให้ความคิดเห็นคือเรื่อง ชื่อขององค์กรนี้ องค์กรนี้ในสมัยแรกๆ เป็นเพียงองค์กรที่พัฒนาเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น จึงมีชื่อเรียกกันว่า‘สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะในสมัยเริ่มต้นพัฒนาประเทศ หรือใน“แผนชาติ”ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือแม้แต่ครั้งถัดมานั้น ประเทศเราต้องการสร้างประเทศให้แข็งแรงในด้านรายได้ แต่เมื่อทำไปๆ รายได้ชาติมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น แต่มีปัญหาสังคมตามมา คือเริ่มมีความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น เข้าใจว่า อาจารย์ป๋วยนี้แหละที่เริ่มเห็นปัญหานี้เป็นคนแรก จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนทัศน์รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลให้หันมาสนใจประเด็นสังคมมากขึ้น และเป็นที่มาของคำว่า “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” โดยมีการเติมคำว่าสังคมเข้าไปในชื่อขององค์กร เพื่อเน้นหลักคิดและปรัชญาการทำงานว่าประเทศจะเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานพัฒนาด้านสังคมไปพร้อมกันและควบคู่ไปด้วยกัน

เวลาผ่านไป แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีอายุคราวละ 5 ปี ก็ได้ผ่านไปอีกหลายแผน แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังมิได้ลดน้อยลง การกระจายรายได้ยังทำได้ไม่ดี แถมปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ

เวลานี้เราหันไปทางไหนจะเห็นแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่ฟังดูราวไร้คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟไหม้กองขยะที่ปล่อยก๊าซพิษออกมามหาศาล การนำเข้าขยะพิษจากต่างประเทศ การใช้ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืชอย่างไร้การควบคุม การจัดการน้ำท่วมโดยนักการเมืองที่ขาดความรู้ การมีปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อยู่กลางเมืองได้เป็นเดือนๆโดยทำอะไรกันไม่ได้ การที่ผู้ประกอบการบางคนอาศัยเล่ห์กลในการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น เลี่ยงไปทำการก่อสร้างท่าเรือขนาดเล็กที่ไม่ต้องทำการศึกษาและทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)ที่ยุ่งยาก และต้องการทำเพียงรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)ซึ่งง่ายกว่า หลายๆท่ามาต่อกัน ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วท่าเรือขนาดเล็กหลายๆท่ารวมกันนี้ก็คือท่าเรือขนาดยักษ์ที่ต้องทำรายงาน EHIA ที่ยุ่งกว่าตั้งแต่แรกนั่นเอง

ตัวอย่างอย่างนี้ยังมีอีกมาก คงไม่ต้องยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เพิ่มเติม ประชาชนไทยทุกคนก็ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มงวดและทันที เพราะจะว่าไปแล้ว 3 มิติคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนี้ เมื่อผนวกรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว มันก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development (SD) ที่โลกกำลังผลักดันและเดินไปสู่นั่นเอง ส่วนรัฐไทยไม่ใช่จะไม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของเรื่องนี้ และได้ตกขบวนรถไฟ SD นั้นไปแล้ว เพราะรัฐเองก็ยังเน้นย้ำในเรื่อง SD รวมถึงได้ไปลงนามผูกพันในระดับโลกที่จะมุ่งเน้นไปในทิศทางนี้แล้วเสียด้วยซ้ำ

แต่ว่า....ถ้ารัฐรวมทั้งสภาพัฒน์ฯเห็นว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมี 3 ขาที่ยาวเท่ากัน คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แล้วใยจึงยังตั้งชื่อองค์กรใหม่นี้โดยกำหนดภาพให้เด่นชัด(ในชื่อองค์กร)ว่าให้ดูแลเพียง 2 ประเด็น เอาละ บางคนอาจแย้งว่านามนั้นสำคัญฉไน ให้ดูภารกิจที่เขียนไว้ในรายละเอียดว่ามีการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด จะไม่ดีกว่าหรือ

หากใช้ตรรกะนั้นมาอธิบาย ก็คงมีคำถามย้อนกลับว่าถ้าเช่นนั้นเราตั้งชื่อองค์กรนี้ว่า ‘สภาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม’ได้ไหม แล้วเอารายละเอียดด้านเศรษฐกิจไปใส่ไว้ในเนื้อหา

เราทุกคนก็คงคิดเหมือนๆ กันว่า นั่นไม่ใช่หลักคิดที่ถูกต้อง และรู้ด้วยว่าถ้าจะทำให้ถูกต้องต้องทำเช่นไร เสียดายครับ เสียดายที่มีโอกาสเปลี่ยน พ.ร.บ. ให้สามารพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้แล้ว แต่เราไม่คว้าโอกาสนั้นกันเสียเอง

จะโทษใครดีครับ

 

โดย... 

ธงชัย พรรณสวัสดิ์

นักวิชาการอิสระ