เหตุผลที่จีนอาจยังไปต่อได้ ในปี 2018
หากมองย้อนหลังกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ‘วิกฤตเศรษฐกิจจีน’ จัดเป็น Top List ของปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนมาโดยตลอด เคยขึ้นถึงอันดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำ
ในบางปี อาทิ ปี 2015 ที่ตลาดหุ้นจีนร่วงลงกว่า 30% จากเงินทุนของต่างชาติที่ไหลออก จนกระเทือนไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนหนึ่งเนื่องจากความกังวลเรื่องการลดค่าเงินหยวน การชะลอนโยบายการยกเลิกผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐ และความกังวลประเด็นเงินฝืดทั่วโลก อีกทั้งทางการจีนได้แทรกแซงตลาดหุ้นจีนทำให้ตลาดหุ้นจีนในช่วงนั้นบิดเบือนเป็นอย่างมาก ที่สำคัญ กระแสการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยทั่วประเทศของจีนต่อตลาดหุ้นจีนที่มีอยู่สูงสุดในช่วงนั้น
อย่างไรก็ดี ด้วยความเก๋าของผู้นำและเม็ดเงินที่มีอยู่อย่างมหาศาลของรัฐบาล ทำให้จนถึงวันนี้ ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังไม่ได้กลายมาเป็นวิกฤติแบบเป็นทางการ
ปี 2018 ก็เป็นอีกปีที่จีนอยู่ในเรดาร์ในมุมของความเสี่ยงอีกเช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นอันดับหนึ่ง ทว่าเมื่อ Trade War เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น ค่าเงินหยวนที่เริ่มอ่อนค่าลงแบบชัดเจนกว่าในอดีต ก็เริ่มถูกจับตาว่าจะกลายเป็นชนวนของวิกฤติของจีนหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนนั้น อาจถูกมองได้ว่าเป็นทั้งความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนเองจนนักลงทุนต่างชาติผวา หรือเป็นจากการที่ทางการจีนตั้งใจที่จะให้เงินหยวนอ่อนตัวเพื่อรองรับการตั้งกำแพงภาษีสินค้าส่งออกจีนของสหรัฐ เราขอให้เวลาอีกเล็กน้อยเป็นตัวชี้ว่าแท้จริงแล้วจะเป็นมาจากปัจจัยแรกหรือปัจจัยหลัง โดยในบทความนี้ จะขอโฟกัสไปที่ตัวเศรษฐกิจของจีนเองว่าเสี่ยงต่อวิกฤติมากน้อยแค่ไหน
ในมิติแรก เศรษฐกิจจีนในตอนนี้ ไม่ได้ชะลอตัวเร็วเท่ากับในช่วงปี 2015 การลดลงของอุปสงค์จีนใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา มิได้ส่งสัญญาณว่าการลงทุนที่ลดลงมากนัก ดังรูปที่ 2 ในส่วนของยอดขายจากด้านค้าปลีกมาจากการส่งสัญญาณขึ้นกำแพงภาษีของรัฐบาลจีนเพื่อตอบโต้ต่อมาตรการ Trade War ของสหรัฐ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นและตลาดแรงงานของจีนยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม
ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวลงของการลงทุนสินค้าทุน โดยส่วนใหญ่มาจากการหดตัวของ Shadow Banking ที่รัฐบาลจีนตั้งใจที่จะลดขนาดและควบคุมอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ชะลอตัวลงมากพอสมควร เพื่อต้อนรับมาตรการด้านการคลังที่ผ่อนคลายซึ่งจะประกาศในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีนภายใต้การควบคุมจังหวะของนายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนท่านใหม่ ที่ถนัดในการบริหารจัดการสำรองเงินตราระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ ผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายตามสไตล์ของจีนเพื่อรองรับและชดเชยผลกระทบของ Trade War ที่คาดว่าจะรุนแรงจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้การเติบโตของจีดีพีจีนยังสูงกว่า 6.5-7 %
ทั้งนี้ โกลด์แมน ซัคส์ ได้คำนวณดัชนีสภาวะทางการเงินของจีน ที่รวมถึงอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อ และการเติบโตของเงิน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยด้านเครดิต ระดับราคาของสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยน ปรากฎว่าดัชนีสภาวะทางการเงินของจีนในตอนนี้ ยังตึงตัวกว่าเมื่อ 18 เดือนก่อน ราว 3% ซึ่งสามารถอธิบายว่าเหตุใดอุปสงค์ในประเทศจีนจึงชะลอตัวลง โดยดัชนีดังกล่าวคาดว่าจะผ่อนคลายลงในปีนี้
หากพิจารณาในมิติด้านการลงทุนของจีนที่มักจะมองว่าเป็นปัจจัยที่อาจจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติได้ เนื่องจากการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่สูงกว่า 200% เนื่องจากทางการจีนเร่งการก่อหนี้เพื่อใช้ลงทุนหลังช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2009 ไว้เป็นหมากเพื่อต้านการชะลอตัวของการส่งออกที่เป็นตัวหลักที่ส่งเสริมการเติบโตของจีดีพีจีนในช่วง 10 กว่าปีก่อน
ล่าสุด สัดส่วนการลงทุนของจีนก็ยังไม่ได้ลดลงไปกว่า 10 ปีก่อนแบบมีนัยยะสำคัญ โดยยังคงสูงอยู่โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% เทียบกับจีดีพี ดังรูปที่ 1 อย่างไรก็ดี มีข่าวดีที่ว่า ณ วันนี้ แม้การลงทุนของจีนยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่เมื่อเทียบกับจีดีพี ทว่าอุปสงค์ของสินค้าและบริการของเศรษฐกิจจีนกลับพึ่งพาปัจจัยการลงทุนน้อยลงเป็นอย่างมาก ดังรูปที่ 2 นั่นคือ เศรษฐกิจจีนมิได้รับผลกระทบมากนัก หากการลงทุนของจีนลดลงจากกระบวนการ Deleveraging ที่น่าจะเริ่มขึ้นในเร็ววัน
ด้วยความที่จีนยังอยู่ในบรรยากาศ Trade War กับสหรัฐ ทางการจีนน่าจะยังออกนโยบายเศรษฐกิจอยู่ในโหมดผ่อนคลาย ทำให้โอกาสของวิกฤตจีนในช่วงนี้ถือว่าลดลงกว่าปีที่แล้วเล็กน้อยครับ