มองตุรกี แล้วย้อนดูไทย
สำหรับขาเที่ยวต่างประเทศแล้ว ต้องบอกว่าตุรกีเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
พิจารณาจากความถี่ของการสืบค้นคำว่า เที่ยวตุรกีหรือทัวร์ตุรกีในกูเกิล ด้วยตุรกีเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ 2 ทวีป มีภูมิประเทศและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นประเทศในฝันของหลายๆ คน
แต่สำหรับแวดวงการเงิน ตุรกีกำลังได้รับความสนใจในฐานะประเทศล่าสุดที่เผชิญกับวิกฤติค่าเงิน นักลงทุนทั่วโลกกำลังหนาวๆ ร้อนๆ ว่า เศรษฐกิจตุรกีจะดำเนินไปในทิศทางไหน และจะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกอย่างไร หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงเกือบ 20% ในวันเดียว หรือกว่า 70% นับจากต้นปี เทียบกับเงินดอลลาร์
ไทยกับตุรกีอาจจะห่างกันในเชิงภูมิศาสตร์ แต่ในการประชุมนานาชาติ คณะผู้แทนของทั้งสองประเทศมักนั่งติดกัน เนื่องจากชื่อภาษาอังกฤษ Thailand และ Turkey ขึ้นต้นด้วยตัว T เหมือนกัน ที่คนทั่วไปอาจจะไม่ทราบ คือ ทั้ง 2 ประเทศเคยถูกใช้เป็นกรณีศึกษาของวิกฤติเศรษฐกิจ (ไทยในปี 2540 และตุรกีในปี 2543) ต่อเนื่องเป็นนานเวลาหลายปี ในหลักสูตร Financial Programming ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมอันดับหนึ่งที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ จัดให้กับประเทศสมาชิก โดยปรกติ หลักสูตรนี้จะจัดปีละ 2 ครั้ง โดยใช้กรณีศึกษาของไทยและตุรกีสลับกันไป
18 ปี ผ่านไป ตุรกีกลับเข้าสู่โหมดวิกฤติค่าเงินอีกครั้ง
หลายคนโทษว่าเป็นเพราะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีเป็น 2 เท่า ผ่านทวิตเตอร์ในวันศุกร์ เพื่อบีบให้ตุรกีปล่อยนักโทษการเมืองชาวสหรัฐ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตุรกีแล้ว จะพบว่า เรื่องภาษีเป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยาเท่านั้น ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ (ตุรกี พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นปริมาณมาก) สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ และระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เหล่านี้บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระภาระหนี้ต่างประเทศในอนาคต ถึงไม่มีกรณีทรัมป์ วิกฤตก็คงเกิดขึ้นอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว
ตุรกีไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับวิกฤติค่าเงินในปีนี้ ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ค. อาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เคยเกิดวิกฤติค่าเงินในอดีต ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ หลังจากที่ค่าเงินเปโซอ่อนค่าเป็นประวัติการณ์ แม้ธนาคารกลางอาร์เจนติน่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 40% ต่อปี แล้วก็ตาม นอกจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอเหมือนแล้ว อีกปัจจัยร่วมหนึ่งที่สำคัญ คือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เงินทุนไหลกลับจากประเทศตลาดเกิดใหม่ไปสหรัฐฯ และมีผลกระทบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งโลก มากน้อยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของแต่ละประเทศ
หันมาดูประเทศไทย เครื่องชี้เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่สำคัญทุกตัวชี้ว่า เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมั่นคงกว่าตุรกีมาก แม้ทั้ง 2 ประเทศจะเคยเป็นกรณีศึกษาของไอเอ็มเอฟเหมือนกัน แต่โอกาสที่จะซ้ำรอยวิกฤติค่าเงินต่างกันมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยในช่วงที่ผ่านมาที่มุ่งรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ หลังจากบทเรียนราคาแพงในปี 2540
ในช่วงที่ผ่านมา แม้เงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศของไทยจะไหลออกไปไม่น้อย โดยเฉพาะเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่ตั้งแต่ต้นปีไหลออกไปเกือบ 2 แสนล้านบาท สูงที่สุดในภูมิภาค แต่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้ลดลงไปมากนักเทียบกับต้นปี ขณะที่ค่าเงินบาท แม้จะอ่อนค่าลงจากต้นปีพอสมควร แต่ถ้าเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคแล้ว เงินบาทอ่อนค่าเป็นระดับกลางๆ เท่านั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนความเข้มแข็งด้านต่างประเทศของไทยได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงยังทำหน้าที่เป็นกันชนอย่างดี หากมีเหตุที่ทำให้เงินทุนไหลออกในปริมาณมากอย่างฉับพลัน นักลงทุน นักธุรกิจและประชาชนทั่วไปจึงมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลกที่เกิดจากตุรกีในขณะนี้ไปได้
*ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน จึงไม่จําเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย*