ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติ ดีอย่างไร?

ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติ ดีอย่างไร?

ประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มักถกเถียงกันระหว่าง 2 แนวความคิด ความคิดแรกมองว่า การปรับขึ้นเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้าง

ทำให้เกิดการหดตัวของการจ้างงาน ในอีกด้านแย้งว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการช่วยปกป้องแรงงานจากการแสวงหาผลประโยชน์ของนายจ้าง ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ จึงมีความท้าทายในการหาทางออกที่ดีระหว่าง 2 แนวคิดนี้

จริงอยู่ที่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการกำหนดรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงาน และเป็นหลักประกันป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของนายจ้าง แต่การประกันนี้ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ความเสี่ยงหนึ่งของการปรับเพิ่มขึ้นคือ เมื่อต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น นายจ้างอาจยกภาระนี้ให้กับผู้บริโภคสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าครองชีพและอาจทำให้เกิดการเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง เกิดเป็นกระแสเงินเฟ้อ ผลกระทบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Wage Price Spiral” ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่าจะเกิดปัญหาตามมา ถ้ารัฐบาลตัดสินใจขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโยงกับอัตราเงินเฟ้อ

ประเทศไทยเริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่วนกลาง ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และควบคุมการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ

จนถึงปี พ.ศ. 2541 ได้เปลี่ยนกฎระเบียบเป็นการกระจายอำนาจ โดยให้คณะกรรมการระดับชาติเป็นผู้กำหนดตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำเบื้องต้น ก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดเป็นผู้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่สะท้อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในแต่ละจังหวัด การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนภายในจังหวัด และให้แรงงานท้องถิ่นwกลับสู่ชนบทมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2556 มีการยกเลิกเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้ และกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300 บาท ในทุกจังหวัด ตามหลักการอาจส่งผลให้เกิดการว่างงานในจังหวัดที่ด้อยพัฒนา เนื่องจากนายจ้างบางพื้นที่ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากข้อมูลการว่างงานมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำของนายจ้าง

หลังจากนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับขึ้นอีกใน ปี พ.ศ. 2560 และ 2561 (เดือนเม.ย.) โดยใน 2 ครั้งนี้มีการปรับค่าจ้างแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ล่าสุดมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 308 - 330 บาททั่วประเทศ

แม้ที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำจะได้รับการปรับเพิ่ม แต่ความท้าทายในการหาทางออกที่จะตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างกำลังประชุมเพื่อหาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งต่อไป โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย และมีการยกประเด็นเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำระบบอัตโนมัติมาใช้เป็นแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามระบบอัตโนมัติ มีข้อดีที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้าในกระบวนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยให้เท่าทันกับดัชนีค่าครองชีพเพิ่มขึ้นทุกปี โดยส่วนหนึ่งของความล่าช้ามีผลจากการตัดสินใจและความไม่แน่นอนทางการเมือง

ที่ผ่านมา การจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ และปรับอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ข้อมูลที่นำมาใช้ คือ ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับจังหวัด อัตราเงินเฟ้อ และกระบวนการตัดสินใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การตัดสินใจค่าจ้างขั้นต่ำที่ล่าช้าอาจไม่สะท้อนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จริง ดังนั้นในบางประเทศจึงมีการเชื่อมโยงค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค ค่าครองชีพ หรือดัชนีราคาขายปลีก เป็นต้น

ตัวอย่าง ในประเทศลักเซมเบิร์กมีการปรับระดับค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีราคาผู้บริโภค หากดัชนีราคาผู้บริโภคถึงเกณฑ์ 4% ค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน ลักเซมเบิร์กจึงไม่เกิดปัญหา “Wage-Price Spiral” ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพและอัตราเงินเฟ้อที่มั่นคง โดยเติบโตต่อปี 0.09% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 - 2559 (ข้อมูลจาก World Bank) ส่วนประเทศไทยก็มีลักษณะร่วมที่ใกล้เคียงประเทศลักเซมเบิร์ก อัตราเงินเฟ้อของไทยมีการควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีการใช้มาตรการเพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นสูงเกินความเป็นจริง ทำให้ไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามระบบอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทางการเมืองที่ล่าช้า ผนวกกับการเติบโตของอัตราเงินเฟ้อที่เชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้อัตราเงินเฟ้อโดยลำพังอาจไม่สะท้อนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในบางประเทศจึงมีการเพิ่มตัวแปรอื่นในการคำนวณเพื่อให้ค่าจ้างขึ้นทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ในกรณีของไทย หากนำการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามระบบอัตโนมัติมาใช้ ควรเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามาในสูตรให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละจังหวัด ได้แก่ ผลิตภาพแรงงาน และตัวแปรอื่นๆ ที่แสดงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของในระดับจังหวัด

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามระบบอัตโนมัติมีการดำเนินการในหลายประเทศ เช่น ประเทศไซปรัส เบลเยียม มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความเหมาะที่ประเทศไทยจะนำ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามระบบอัตโนมัติ มาพิจารณาเป็นเกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกัน เพราะค่าครองชีพเป็นสิ่งที่ปรับขึ้นอัตโนมัติ ค่าจ้างแรงงานก็ควรเป็นสิ่งที่ปรับปรุงสอดรับกันไป โดยไม่ควรติดอยู่กับกับดักการตัดสินใจที่ล่าช้าภายใต้สถานการณ์การทางเมืองไทยที่ไม่แน่นอน

โดย... 

ขวัญกมล ถนัดค้า

แมกซ์ นอย