วิกฤติ ‘ธนาคารกลางอินเดีย’
ผมขอพูดสั้นๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง Midterm Election ของสหรัฐว่า สาเหตุที่ รีพับลิกัน มีที่นั่งในสภาล่างน้อยลง
เนื่องจากกลุ่มคนอเมริกันที่มีรายได้ต่ำสุด เลือกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น้อยลง ดังรูป เพราะ trade war คือปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อประชาชนในมลรัฐที่เน้นเกษตรกรรม ซึ่งคนเหล่านี้เคยโหวตให้รีพับลิกันเมื่อ 2 ปีก่อน กล่าวคือ ทรัมป์มีจุดอ่อนเหมือนกัน แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดีมาก ณ ตอนนี้ และจุดอ่อนที่ว่าก็สะท้อนผลการเลือกตั้งในครั้งนี้
ส่วน Trade War นั้น ต่อจากนี้ไปคงน่าจะไม่ลดลงจากปัจจัยเสียง เดโมแครต ในสภาล่างเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ไพ่ที่ทรัมป์เลือกจะเล่นได้มีน้อยลง จากเสียงในสภาที่แตก และ Trade War กลายเป็นไพ่ที่ทรัมป์เหลืออยู่โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงในสภา
ส่วนเรื่องที่ผมขอเขียนถึงในวันนี้ ถือว่า ดุเดือดมากกว่าและมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอินเดียเป็นอย่างมาก ผมขอเรียกว่าเป็น ‘วิกฤติธนาคารกลางอินเดีย’
โดยปกติ ธนาคารกลางจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นใด ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน เราคงได้ยินว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บ่นแบบดังๆ ต่อว่าเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วจนเกินไป ซึ่งหลายคนมองว่าแรงแล้ว แต่หากท่านได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างธนาคารกลางอินเดียและรัฐบาล จะมองว่าคู่ทรัมป์กับพาวเวลเป็นเรื่องเด็กๆ โดยผู้ว่าธนาคารกลางอินเดีย เออร์จิต พาเทล ถึงขนาดว่าส่อเค้าว่าจะลาออก โดยเรื่องราวที่ส่งผลต่อนำมาซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว มีดังนี้
(1.) รัฐบาลอินเดียมีความพยายามที่จะบั่นทอนความสามารถของธนาคารกลางอินเดียในการดำเนินนโยบายใดก็ตาม ที่จะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลในระยะสั้นผ่านการล็อบบี้ในสภา แม้นโยบายนี้ให้ผลดีต่อสังคมโดยรวม แทนที่รัฐบาลจะไปสนใจลงทุนในกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งยิ่งระบบนี้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมากเท่าไร คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ก็ยิ่งไม่อยากที่จะเข้ามาทำงานในธนาคารกลางอินเดีย ซึ่งก็ยิ่งทำให้ระบบการเงินและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับมหภาคของอินเดียโดยรวมยิ่งเติบโตได้ยากขึ้น โดยผู้ว่าแบงก์ชาติอินเดียย้ำว่า รัฐบาลมาประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จากไป ทว่าธนาคารกลางอินเดียนั้นอยู่มาคู่กับประเทศมานานแสนนานแล้ว
(2.) เมื่อรัฐบาลอินเดียสามารถที่จะกันไม่ให้ธนาคารกลางอินเดียดำเนินนโยบายที่ดีต่อสังคมทว่ามีผลเสียต่อรัฐบาล ‘ความเสี่ยงเชิงระบบ’ ย่อมสามารถหลุดลอดสายตาการกำกับของธนาคารกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่าน Shadow Banking ที่แบงก์ชาติไม่สามาถกำกับได้โดยตรง แม้ผลประโยชน์จะไปตกที่กลุ่มผลประโยชน์ในหมู่คนเพียงไม่กี่คน ทว่าเป็นภาระต่อคนรุ่นต่อๆ ไป ในรูปแบบของความอ่อนแอทางการเงินที่มิได้มีการคานอำนาจที่เหมาะสม
(3.) การกำกับสถาบันการเงินในอินเดียมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับของไทย นั่นคือแบงก์ชาติมีอำนาจอย่างค่อนข้างเต็มที่ในการกำกับแบงก์พาณิชย์ ตั้งแต่การขายสินทรัพย์หากแบงก์เกิดเจ๊งขึ้นมา การปรับเปลี่ยนผู้บริหารและคณะกรรมการหากจำเป็นต้องทำเพื่อเสถียรภาพของระบบการเงิน การยกเลิกใบอนุญาต และการควบรวมหรือขายกิจการหากจำเป็นต้องทำ ทว่าสำหรับสถาบันการเงินในระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจนั้น ธนาคารกลางอินเดียนั้นมีบทบาทที่จำกัดมาก ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐหลายแห่งในอินเดียจึงมีปัญหาที่ถือว่ารุนแรงแล้วไม่สามารถแก้ไขได้เป็นระยะเวลายาวนานด้วยเหตุผลดังกล่าว
(4.) สิ่งที่เป็นไฮไลต์ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติธนาคารกลางอินเดียในตอนนี้คือ การที่รัฐบาลอินเดียมีแผนที่จะนำสำรองในงบดุลของแบงก์ชาติอินเดียไปชำระหนี้สินของรัฐบาล ทำให้นายพาเทล มองว่ารัฐบาลได้บั่นทอนความเป็นอิสระของธนาคารกลางอินเดีย โดยมีการระบุว่ารัฐบาลเตรียมออกกฎหมายเพื่อถ่ายโอนสำรองของแบงก์ชาติ อินเดีย มูลค่า 3.6 ล้านล้านรูปี ไปยังมือของรัฐบาล โดยแบงก์ชาติอินเดียออกแถลงการณ์ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ด้วย 4 เหตุผล ดังนี้
1.) ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรเอง หรือใช้สำรองของธนาคารกลางอินเดีย ผลลัพธ์ต่อสถานการณ์การคลังของอินเดียก็ออกมาในรูปแบบเดียวกัน ในระยะยาว การใช้สำรองของแบงก์ชาติอินเดียไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ ให้รัฐบาล เพียงเป็นแค่ภาพลวงตาของการได้เม็ดเงินให้เปล่าในระยะสั้น
2.) การถ่ายโอนดังกล่าว จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอินเดียต่อความตั้งใจที่จะดำเนินการนโยบายการคลังที่เหมาะสม
3.) แม้ในทางทฤษฎี ธนาคารกลางอินเดียจะสามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ดีเท่าเทียมกันไม่ว่าระดับเงินกองทุนจะมีมากน้อยเพียงใด ทว่าในทางปฏิบัติ หากแบงก์ชาติมีเงินกองทุนอยู่น้อย ตลาดจะให้ความเชื่อถือต่อนโยบายที่ปฏิบัติน้อยมาก
4.) โอกาสที่รัฐบาลจะเสริมความแข็งแกร่งเงินกองทุนในอนาคตให้กับแบงก์ชาติอินเดีย ในทางการเมือง มีอยู่ต่ำมากท้ายสุด ความพยายามล่าสุดของทางการอินเดียที่จะขจัดอำนาจของธนาคารกลางอินเดียในการดูแลระบบการจ่ายเงินและ Settlement ของการชำระเงิน ด้วยการแต่งตั้งผู้กำกับระบบการชำระเงินออกมาอีกหน่วยงานต่างหาก โดยธนาคารกลางอินเดียได้ยื่นหนังสือคัดค้านความพยายามดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ในเชิงโครงสร้างแล้ว แบงก์ชาติอินเดียถือว่า มีประเด็นทางการเมืองกับรัฐบาลมาอย่างยาวนาน ถ้ายังจำกันได้ รากูราม ราจาน นักวิชาการชื่อดัง ก็เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติอินเดียได้เพียง 1 สมัย ก็ออกไปแบบที่น่าจะมีความเห็นขัดแย้งกับผู้นำอินเดียเช่นกัน