เติ้งเสี่ยวผิงกับจุดเปลี่ยนประเทศจีน
เดือนหน้าจะครบรอบ 40 ปี การเปิดและปฏิรูปประเทศจีนของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำจีนถัดจากเหมาเจ๋อตง
เมื่อมองย้อนกลับไปที่จีนแดงในปี ค.ศ. 1978 ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เติ้งเสี่ยวผิงเปลี่ยนประเทศจีนสำเร็จได้อย่างไร
อย่าลืมนะครับว่า นี่เป็นการเปลี่ยนขั้วความคิดของคนทั้งชาติ (ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ล้านคน) จากประเทศจีนในยุคเหมาเจ๋อตง ที่เป็นระบบคอมมูนและระบบเศรษฐกิจที่รัฐวางแผนการผลิตเต็มตัว ไม่คบค้ากับใคร พลิกโฉมกลับลำ 360 องศามาเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาด เปิดให้มีเอกชน และเปิดให้ต่างชาติมาลงทุน จนจีนวันนี้กลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้
อาจพูดได้ว่า ถ้าไม่มีเติ้งเสี่ยวผิง ก็ไม่มีจีนอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ ความโดดเด่นจริงๆ ของเติ้งเสี่ยวผิงคือ เขาเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของคนและการเมืองอย่างถ่องแท้ แถมอาจเรียกได้ว่าเขาเป็นนักทดลองและนักการตลาดตัวยง
เขารู้ดีว่า ถ้าเขาเลือกเปลี่ยนประเทศจีนอย่างฉับพลันทันที โดยไม่สนใจการสร้างแนวร่วมและฉันทามติในเรื่องการพัฒนาประเทศ สุดท้ายเขาเองนั่นแหละจะถูกโค่นก่อนใครเพื่อน เพราะศัตรูทางการเมืองของเขาก็จะต้องลุกขึ้นชี้หน้าด่าเติ้งเสี่ยวผิงว่า เอ็งทรยศประธานเหมา
เติ้งเสี่ยวผิง จึงเลือกปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป และให้ความสำคัญกับการทดลอง พร้อมการทำข่าวสร้างฉันทามติร่วมอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น มีคนมารายงานเติ้งเสี่ยวผิงว่า หมู่บ้านหนึ่งชื่อหมู่บ้านเสี่ยวกัง เกษตรกรอดอยากจนทนไม่ไหว ชาวบ้านมาประชุมร่วมกันทำสัญญาเลือด โดยตกลงกันว่า แต่ละบ้านจะส่งผลผลิตเข้ากองกลางจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก่อน แต่ส่วนที่ปลูกได้เกินจะเก็บไว้กินกันเองในแต่ละบ้าน ดังนั้น ใครเพาะปลูกได้ผลผลิตมาก ก็จะมีเก็บไว้กินเองมาก แทนที่แต่เดิมทุกบ้านจะต้องส่งผลผลิตให้กองกลางทั้งหมด แล้วค่อยมาหารเฉลี่ยเท่าๆ กัน
จริงๆ แล้ว สิ่งที่หมู่บ้านเสี่ยวกังทำ ผิดกฎหมายของประเทศจีนในตอนนั้นอย่างชัดเจน แต่เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ว่าอะไร แถมบอกว่าน่าสนใจดี ลองปล่อยให้พวกเขาทดลองดู ปรากฏว่า ผลผลิตทางการเกษตรของหมู่บ้านนี้สูงกว่าหมู่บ้านรอบข้างทั้งหมด และคนในหมู่บ้านก็พอใจกับระบบนี้ พอเติ้งเสี่ยวผิงเห็นอย่างนี้ ก็ให้หนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์มาทำข่าวหน้าหนึ่ง พร้อมคำพูดของเติ้งเสี่ยวผิงว่านี่เป็นโมเดลใหม่ให้กับทุกหมู่บ้าน
เมื่อทุกหมู่บ้านของจีนปรับใช้โมเดลใหม่นี้ ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างทบทวีคูณ เพราะแต่ละบ้านต่างมีแรงจูงใจในการทำการเกษตร ทำมากก็จะเก็บได้มาก ต่อมาก็เปิดให้ค้าขายได้ มีตลาด ทำมากยิ่งขายได้มาก นี่แหละครับจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปจากระบบคอมมูนมาเป็นการใช้กลไกตลาดของจีน
ตอนนั้นในพรรคคอมมิวนิสต์ ก็มีการถกเถียงกันดุเดือดระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายหัวก้าวหน้า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลัวการเปลี่ยนแปลงและอยากให้ทำแบบที่เหมาเจ๋อตงวางแนวทางไว้ วิธีการเปลี่ยนความคิดของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ ขีดให้พื้นที่เมืองเล็กๆ ชื่อเสินเจิ้น ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวประมงอยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกง ตั้งขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน จากนั้นก็ไปชวนเศรษฐีฮ่องกงให้ข้ามมาลงทุนตั้งโรงงานที่เสินเจิ้น ใช้ประโยชน์จากค่าแรงราคาถูกในจีนทำโรงงาน ภายในเวลาไม่นาน เสินเจิ้นก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
เติ้งเสี่ยวผิง พอเห็นความสำเร็จ ก็ไปเรียกหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์มาทำข่าวใหญ่โต ที่นี้เมืองไหนๆ ก็อยากขอทำแบบเสินเจิ้น อยากปฏิรูปบ้าง จนเกิดการแข่งขันกันดึงดูดนักลงทุน แข่งขันกันพัฒนาเศรษฐกิจ รู้ตัวอีกทีประเทศจีนทั้งประเทศก็เปลี่ยนความคิดมาเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างเมืองใหม่อย่างรวดเร็ว
แต่การเปิดประเทศของจีนก็ไม่ได้ราบรื่น จีนปฏิรูปได้ไม่กี่ปี ก็นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่เทียนอันเหมินเมื่อปี ค.ศ. 1989 ทำให้ฝรั่งเลิกคบค้ากับจีนไปพักหนึ่ง จนคนทั่วไปคิดว่าจีนคงค่อยๆ ถอยหลังกลับไปปิดประเทศเบบเดิม แต่พอเรื่องเหตุการณ์เทียนอันเหมินซาลง เติ้งเสี่ยวผิงก็กลับมาแผลงฤทธิ์อีกครั้ง
เติ้งเสี่ยวผิง ในวัย 88 ปี ออกเดินทางทัวร์ภาคใต้ ในปี ค.ศ. 1992 เพื่อไปเยี่ยมชมความสำเร็จในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จูไห่ เสินเจิ้น และกวางเจา กลายเป็นทริปเรียกความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศว่าผู้นำจีนจะเลือกเดินหน้าต่อไป
ในระหว่างการเยือนภาคใต้ในครั้งนั้น เติ้งเสี่ยวผิงไปชมทิวทัศน์ที่ภูเขาจงชาน เมื่อเดินขึ้นไปถึงยอดเขา คนที่ติดตามถามเติ้งเสี่ยวผิงว่า ท่านจะเลือกเดินลงทางเดิม หรือเดินต่อไป เติ้งเสี่ยวผิงตอบสั้นๆ ว่า “ผมไม่เดินกลับทางเก่า”
วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ทั่วประเทศจีนพาดหัวหน้าหนึ่งว่า “ไม่เดินกลับทางเก่า” นี่กลายเป็นคำตอบที่ตรงที่สุดต่อคำถามที่หลายคนในจีนและในโลกขณะนั้นสงสัย และหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนก็ไม่เคยเดินกลับทางเก่าจริงๆ
อัจฉริยภาพของเติ้งเสี่ยวผิง ก็คือความห้วนและความชัดเจน ซึ่งแฝงไปด้วยความเฉียบคม สะท้อนทิศทางที่ชัดเจนว่าจะเดินไปทางไหน ดังเช่นคำพูดของเติ้งเสี่ยวผิงที่เรารู้จักกันดี เช่น “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” “ความยากจนไม่ใช่สังคมนิยม” “ต้องยอมปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งรวยขึ้นมาก่อน” “จีนยังอยู่ในยุคของการพัฒนาพลังการผลิต” และ “การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่ต้องถกเถียงกัน”
หลายคนถามว่า จุดเปลี่ยนประเทศจีนคือจุดไหน บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงมาเยือนสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ในช่วงเดือนนี้เมื่อ 40 ปี ที่แล้ว ก่อนที่จะกลับไปพลิกโฉมประเทศจีน (ไทยเราก็เคยเป็นตัวอย่างให้จีนนะครับ) บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงแกล้งหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้หมู่บ้านเสี่ยวกังทำการทดลองสัญญาเลือด บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงขีดเส้นเมืองเสินเจิ้นให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ บางคนบอกว่า คือจุดที่เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางลงใต้อันลือลั่น
แต่ถ้าถามผม จุดเปลี่ยนประเทศจีนที่แท้จริงก็คือ การเปลี่ยนวิธีคิดของผู้นำ จากที่เน้นลัทธินิยมและการรวมศูนย์อำนาจ เปลี่ยนมาเป็นการเน้นการทดลอง เน้นความยืดหยุ่น ขณะเดียวกันก็เก่งพอที่จะสร้างศรัทธาและภาพทิศทางใหญ่ที่ชัดเจนให้คนทั้งประเทศเห็นพ้องและพร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจร่วมกัน