ชี้เป้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยบุกตลาดอียู
ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหภาพยุโรป(อียู) มีมูลค่ากว่า 30.7 ล้านล้านยูโร หรือกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่
มีส่วนแบ่งถึง 40% ของตลาดโลก จัดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีส่วนแบ่ง 50% โดยมีอัตราขยายตัว 12% ต่อปี อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้เป็นผลจากอิทธิพลกระแสรักสุขภาพที่แผ่กระจายไปทั่วโลก โดยผู้บริโภคยุโรปส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยของอาหารและความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐฯ เองก็มีนโยบายเกษตรร่วมของอียู (Common Agriculture Policy: CAP) เป็นเครื่องมือสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน (sustainable agriculture) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
สิ่งที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือพื้นที่ในการปลูกเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,125,000 ไร่ต่อปี โดยในปี 2559 องค์กร International Federation of Organic Agriculture Movements หรอ IFOAM รายงานว่า มีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ในประเทศสมาชิกอียู รวมทั้งสิ้น 84,375,000 ไร่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ในอียู
โอกาสของผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย
เทรนด์บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ในยุโรปเวลานี้มาแรงแซงทุกเทรนด์ ไม่ได้เป็นแค่ตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป และมีแนวโน้มที่จะได้รับส่วนแบ่งของตลาดเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากชั้นวางสินค้าตามร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ที่มีการจัดแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงสินค้าของใช้ในบ้านต่างๆ และเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายอินทรีย์ โดยปัจจุบัน บริษัท H&M ผู้จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่นยักษ์ใหญ่จากสวีเดน เป็นหนึ่งในผู้สั่งซื้อผ้าฝ้ายอินทรีย์รายใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประเทศไทยเองได้เพิ่มการผลิตฝ้ายอินทรีย์ในปี 2559 ถึง 100% โดยมีปัจจัยต่างๆ เอื้อการขยายตัวของตลาด เช่น เทรนด์ผู้บริโภค ประเภทสินค้าที่หลากหลาย และช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในยุโรปที่มียอดขายสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่ เยอรมนี (370 ล้านล้านบาท) ฝรั่งเศส (263 ล้านล้านบาท) และอิตาลี (103 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้อียูเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยุโรปให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ความสามารถในการตรวจสอบที่มาของสินค้า (traceability) อียูจึงได้ปรับปรุงกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารให้เข้มงวดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2561 อียูได้ประกาศกฎระเบียบ Regulation (EU) 2018/848 on organic production and labelling of organic products ซึ่งเป็นกฎระเบียบฉบับใหม่ที่ใช้ในการควบคุมการผลิตและการติดฉลากสินค้าอินทรีย์แทนฉบับเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2552 โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 (อ่านรายละเอียดของกฎระเบียบฉบับใหม่นี้ ได้ที่ https://goo.gl/ugMUfK)
เพื่อการเตรียมความพร้อมและส่งเสริมโอกาสของผู้ประกอบการไทย สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ จึงร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านการเกษตร (DG AGRI) จัดการสัมมนาเรื่องโอกาสและอุปสรรคในการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปยังสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอียูฉบับใหม่ ตลอดจนมาตรฐานการควบคุมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของอียู ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย รวมถึงการจัดการหารือระหว่างคณะผู้แทนจากอียูกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ตลอดจนการศึกษาดูงานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ใน จ.นครนายกและ จ.นครปฐม เพื่อต่อยอดความร่วมมือ ด้านเกษตรอินทรีย์ระหว่างไทยกับอียู
ความท้าทายในการส่งออก
กฎระเบียบฉบับใหม่ของอียูมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มีความยั่งยืน มีความเท่าเทียมกันในด้านการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยสินค้านำเข้าจากประเทศที่สาม จะต้องมีมาตรฐานเทียบเท่ากับสินค้าที่ผลิตในอียูเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในอียู ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจและมีความพร้อมส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ควรพิจารณาขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอียู ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวและเป็นการรับประกันคุณภาพของสินค้าไทยว่า ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากมาตรฐานของอียูสามารถกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดในโลก
นอกจากประเด็นมาตรฐานแล้ว การที่ตลาดเกษตรอินทรีย์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องใน 178 ประเทศทั่วโลก เช่น ตลาดฝรั่งเศสเองมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 22% ซึ่งหมายถึงผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่างๆ ย่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยอาจจะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ ผลสำรวจจาก Soil Association พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร ได้แก่ ประโยชน์ต่อร่างกาย รสชาติ ความเหมาะสมของราคา และความโดดเด่นของบรรจุภัณฑ์
จะเริ่มอย่างไรดี
ช่องทางการส่งสินค้าเกษตรอินทรีย์มาอียูมี 2 ช่องทางหลัก คือ การติดต่อหาบริษัทนำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายของประเทศนั้นๆ โดยสามารถติดต่อไปที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศเป้าหมายเพื่อขอรับรายชื่อบริษัทผู้นำเข้า
อีกช่องทาง คือ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่างๆ เช่น งาน Biofach ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะจัดในช่วงเดือน ก.พ. ของทุกปี ที่เมืองเนิร์นแบร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งการเข้าร่วมงานเหล่านี้จะเป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้า เพิ่มช่องทางการตลาด และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เจรจากับผู้นำเข้า/ผู้บริโภคจากทั่วโลกโดยตรง รวมถึงโอกาสในการสำรวจสินค้าของคู่แข่งและติดตามเทรนด์ของตลาดเกษตรอินทรีย์ระดับโลกอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดเกษตรอินทรีย์ในเอเชียก็เติบโตไม่แพ้ยุโรป โดยไทยเป็นตลาดอันดับ 4 ในเอเชีย เพราะไทยมีความพร้อมในด้านการผลิต มีประสบการณ์การทำเกษตรกรรม และมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาตร์ที่อุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อภาคการเกษตร ตรงกันข้ามกับประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ที่ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตร โดยกลุ่มผู้จัดงาน Biofach พยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแสดงสินค้าจากธรรมชาติและสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งที่ 7 ของโลกและเป็น “ศูนย์กลางออร์แกนิคอาเซียน” เพราะมองว่าตลาดเกษตรอินทรีย์ในไทยยังมีโอกาสให้พัฒนาได้อีกมาก ผู้ประกอบการไทยจึงควรใชโอกาสนี้ในการขยายตลาดมายังอียูในอนาคต โดยทีมงาน thaieurope.net พร้อมจะนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ผ่านเว็บไซต์ thaieurope.net