CSR เรื่องไหนที่ควรทำ
ผมได้นำเรื่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ที่แสดงถึง What (สิ่งที่ควรดำเนินการ) Who (ใครควรเป็นผู้ดำเนินการ)
How (วิธีดำเนินการ) Why (เหตุของการดำเนินการ) และ When (เวลาที่ควรดำเนินการ) ไปแล้ว 5 ตอน สำหรับบทความตอนนี้ จะมาพูดถึงเรื่องของ Which หรือ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมอันไหน ที่องค์กรควรนำมาดำเนินการ
เรื่อง CSR ที่ควรนำมาดำเนินการ ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ ขออนุญาตทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า มุ่งเน้นหรือเพื่อให้เป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งองค์กรผู้ดำเนินการ และกลุ่มผู้รับผลที่เป็นเป้าหมายของการดำเนินการ มิใช่ทำไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือ PR องค์กร เป็นที่หมาย
ข้อแนะนำตามแนวทางที่เป็นสากล ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการที่นำไปสู่ความยั่งยืน จะมีประเด็นดำเนินการที่ครอบคลุมใน 3 มิติด้วยกัน คือ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization: ISO)ระบุว่า มีอยู่ 7 หัวข้อหลักที่ควรดำเนินการ ได้แก่ เรื่องการกำกับดูแลองค์กร เรื่องสิทธิมนุษยชน (มี 8 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติด้านแรงงาน (มี 5 ประเด็น) เรื่องสิ่งแวดล้อม (มี 4 ประเด็น) เรื่องการปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (มี 5 ประเด็น) เรื่องประเด็นด้านผู้บริโภค (มี 7 ประเด็น) และเรื่องการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (มี 7 ประเด็น) รวม 36 ประเด็น
ในมาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) มีการจำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นมิติเศรษฐกิจ (มี 6 ประเด็น) สังคม (มี 19 ประเด็น) และสิ่งแวดล้อม (มี 8 ประเด็น) รวม 33 ประเด็น
ในเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐาน สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ที่จัดทำโดยสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก (World Federation of Exchanges: WFE) ได้จำแนกประเด็นที่ควรดำเนินการออกเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านธรรมาภิบาล (Governance) หรือเรียกว่า ประเด็นด้าน ESG ด้านละ 10 ประเด็นเท่ากัน รวม 30 ประเด็น
จะเห็นว่า ในมาตรฐานและแนวทางทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้อ้างอิงข้างต้น แนะนำให้องค์กรมีการดำเนินการรวมๆ แล้วก็ประมาณ 30 ประเด็น (ประเด็นส่วนใหญ่ของทั้ง 3 แหล่ง อ้างถึงเรื่องเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน แต่อาจใช้ชื่อประเด็นที่แตกต่างกันออกไปบ้าง)
คำถามต่อมา คือ แล้วองค์กรของเรา ควรที่จะต้องดำเนินการทั้งหมด 30 กว่าประเด็นนี้ หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ต้องทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นนั้น องค์กรมีความเกี่ยวข้องหรือมีการสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียมากน้อย เพียงใด
ในมาตรฐาน ISO 26000 แนะนำให้องค์กรใช้เกณฑ์ของความเกี่ยวเนื่อง (Relevance) ความมีนัยสำคัญ (Significance) และลำดับความสำคัญ (Priorities) สำหรับการระบุประเด็นที่องค์กรควรดำเนินการในแต่ละหัวข้อหลัก
ในมาตรฐานการรายงาน GRI แนะนำให้องค์กรใช้การทดสอบสารัตถภาพ (Materiality) เพื่อระบุประเด็นสาระสำคัญที่องค์กรควรดำเนินการในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาจากมุมมองนัยสำคัญของผลกระทบที่เกิดจากองค์กร เปรียบเทียบกับมุมมองอิทธิพลต่อการประเมินและตัดสินใจของผู้มีส่วนได้เสีย
ส่วนในแนวทางของ WFE เนื่องจากเป็นข้อแนะนำสำหรับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน ที่มีข้อกำหนดและขีดความสามารถในการเปิดเผยข้อมูล สูงกว่าบริษัททั่วไป ตัววัดที่แนะนำให้เปิดเผย เป็นตัวชี้วัดพื้นฐาน (Baseline Indicators) ที่บริษัทควรดำเนินการได้ทั้งหมด และให้เป็นไปตามหลักการ “Respond or Explain” คือ ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในรายการใด ต้องระบุเหตุผลที่ละเว้นการรายงานในรายการนั้นๆ ให้ทราบด้วย
สำหรับรายการข้อมูลทั้ง 30 ตัวชี้วัด ที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผย ตามเอกสารแนวทางและตัวชี้วัดพื้นฐานของ WFE ได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยอดการใช้พลังงาน ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน สัดส่วนการใช้พลังงาน การใช้น้ำ การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ การลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ
ด้านสังคม ประกอบด้วย อัตราส่วนค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อัตราส่วนค่าตอบแทนในมิติหญิงชาย ร้อยละของการออกจากงาน ความหลากหลายในมิติหญิงชาย อัตราการจ้างงานชั่วคราว การไม่เลือกปฏิบัติ อัตราการบาดเจ็บ สุขภาพในบริบทโลก แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
ด้านธรรมาภิบาล ประกอบด้วย ความหลากหลายในโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ความเป็นอิสระในคณะกรรมการบริษัท การจ่ายค่าตอบแทนแบบจูงใจ การร่วมเจรจาต่อรอง จรรยาบรรณต่อคู่ค้า จริยธรรมและการต้านทุจริต การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนและการรายงานข้อมูลตามข้อกำหนด ข้อปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล การให้ความเชื่อมั่นต่อการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลภายนอก (ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.world-exchanges.org/our-work/articles/wfe-esg-revised-metrics-june-2018)
หากบริษัท รู้ล่วงหน้าว่า ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลใดในรอบปีการดำเนินงาน ก็หมายความว่า กิจการควรจะต้องดำเนินการในเรื่องใด เพื่อให้มีข้อมูลหรือผลการดำเนินงาน สำหรับการรายงานนั่นเอง