51 รายงานความยั่งยืนที่น่าศึกษา
เมื่อวันศุกร์ (7 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน ปี 2561
ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club และสถาบันไทยพัฒน์
รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นรายงานรายปีที่องค์กรจัดทำขึ้นสำหรับให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อให้บรรลุซึ่งความยั่งยืนทั้งขององค์กรและสังคมโดยรวม
จากข้อมูลของ Corporate Register มีองค์กรกว่า 16,000 แห่งทั่วโลกในปัจจุบัน ได้จัดทำรายงานประเภทดังกล่าวเผยแพร่ อยู่ราว 98,000 ฉบับ และจากการสำรวจของ KPMG ในปี พ.ศ.2560 ระบุว่า การรายงานความยั่งยืน ถือเป็นวัตรปฏิบัติปกติ (standard practice) ของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ
โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนที่จัดขึ้น มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนและส่งเสริมให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดทุนที่ต้องการข้อมูลด้าน ESG เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการที่เปิดเผยข้อมูล เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของสังคมโดยรวม
สำหรับโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 100 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 84 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 9 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 7 ราย
องค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 51 ราย เป็นรางวัล Award Of Sustainable Excellence จำนวน 1 ราย รางวัลระดับยอดเยี่ยม (Excellence) จำนวน 7 ราย ระดับดีเยี่ยม (Best) จำนวน 12 ราย ระดับดีเด่น (Outstanding) จำนวน 11 ราย และรางวัลเกียรติคุณ (Recognition) จำนวน 20 ราย รวมทั้งรางวัลพิเศษเพิ่มเติมอีก 4 รางวัล คือ รางวัล First Time Sustainability Report รางวัล Most Improved รางวัล Best SDGs Reporting และรางวัล Best Report Design ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ http://bit.ly/SRaward2018 )
รายงานความยั่งยืนที่องค์กรส่งเข้ารับการพิจารณารางวัลในปีนี้ ได้มีพัฒนาการในการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนและมีความครบถ้วนมากขึ้น โดยกว่าหนึ่งในสี่ขององค์กรที่ส่งรายงานเข้ารับการพิจารณารางวัล ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยอ้างอิง GRI Standards ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จัดทำขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)
ในระดับโลก ได้มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI ที่เผยแพร่แล้วรวมกว่า 30,000 ฉบับ จากองค์กรเกือบ 9,000 แห่ง ในกว่า 90 ประเทศ โดยประเทศไทยมีจำนวนองค์กรที่มีการจัดทำรายงานอ้างอิง GRI เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน (GRI Sustainability Disclosure Database, 2018)
ภาพรวมของการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า มีการยกระดับการเปิดเผยข้อมูล ทั้งในด้านความสมบูรณ์ของรายงาน ความเชื่อถือได้ของรายงาน การสื่อสารและการนำเสนอของรายงานได้ชัดเจนและมีความครบถ้วนเพิ่มขึ้น และยังพบอีกว่า มีจำนวนองค์กรที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับสากล ทั้งในระดับเป้าหมาย กลยุทธ์ และตัวชี้วัด (KPIs) เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจและการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการจัดทำรายงานความยั่งยืนให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานสากล รวมถึงการผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เข้ากับองค์กรได้เป็นอย่างดี
ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ทั้ง 51 ราย และคาดหวังว่าจะสามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องต่อไป