“อาหารใจ”สำหรับปีใหม่
เมื่อจะถึงวาระปีใหม่ ผู้เขียนขอเสนอ “อาหารใจ” เพื่อเป็นพลังปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกและเกิดการนำไปใช้ในชีวิตในช่วงปีหน้า
ผู้เขียนขอนำคำกล่าวที่ไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยนักของคนต่างชาติที่เราอาจไม่คุ้นเคยมาเป็น “อาหารใจ”
คำกล่าวที่สร้างพลังปลุกเร้า (inspiration; คำนี้การออกเสียงที่ถูกต้องคือ“อิน-สปิ-เร-ชั่น ไม่ใช่อิน-สไป-เร-ชั่น)เป็นสิ่งสำคัญ เพราะให้ทั้งความเข้าใจโลกและชีวิต อีกทั้งเป็นแรงผลักดันชีวิตทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับผู้รับสารว่าจะนำไปใช้ประโยชน์หรือไม่
(1) “The child is father of the man” (เด็กคือพ่อ) ผู้กล่าวคือ William Wordsworth กวีเอกชาวอังกฤษ (ค.ศ.1770-1850)เขียนประโยคนี้ในบทกวีชื่อ“My Heart Leaps Up" ในปีค.ศ. 1802 บทกวีสั้นๆ นี้ที่มีอีกชื่อว่า “The Rainbow” มาจากการที่ตัวเขาชอบรุ้งตอนเป็นเด็ก เมื่อโตขึ้นก็ยังคง ชอบรุ้งและหวังว่าจะชอบมันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ สิ่งที่เขาแนะก็คือ สิ่งที่เราชอบตอนเด็กจะเป็นตัวกำหนดรสนิยมของเราตอนเป็นผู้ใหญ่
เมื่อได้ยินประโยคนี้ในตอนแรกก็อาจคิดว่ามันเขียนกลับกัน เด็กจะเป็นพ่อได้อย่างไร แต่Wordsworth บอกว่าเป็นได้เพราะสิ่งที่ชอบตอนเด็กจะสืบทอดไปยังตอนเป็นผู้ใหญ่เสมือน “เด็กเป็นพ่อ”
เราจะมีรสนิยมในการใช้ชีวิตในครึ่งชีวิตหลังอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ครึ่งชีวิตแรกอย่างไร ถ้าชอบความหวานมากเป็นพิเศษและไม่ดูแลตัวเองให้ดีในครึ่งชีวิตแรก ก็พอจะมองออกว่าครึ่งชีวิตหลังจะเป็นอย่างไรและถ้ารวมเวลาของสองครึ่งเข้าด้วยกันก็คงคาดได้ว่าไม่ยาวนัก
ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงกับเรื่องสุขภาพของเรา เพราะwe are what we eat สาเหตุการ ป่วยไข้ของมนุษย์ส่วนใหญ่นั้นมาจากวิถีการดำรงชีวิต ไม่ว่าจากการกิน นอน ดื่มหรือสูบมากกว่าจากการติดเชื้อโรค การมีวินัยในการดำรงชีวิตตอนเด็กๆจากคำแนะนำและตัวอย่างที่ดีจะทำให้มีสุขภาพที่ดีในตอนเป็นผู้ใหญ่ นิสัยใจคอตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ต่อเนื่องมาจากตอนเป็นเด็กอย่างมิต้องสงสัย ดังนั้น “เด็กจึงเป็นพ่อ” อย่างแท้จริง
(2) “A week is a long time in politics.” (เวลาหนึ่งอาทิตย์นั้นแสนนานในการเมือง) ผู้กล่าวคือ Harold Wilson อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานระหว่างค.ศ. 1964-1970และจากค.ศ. 1974-1976 (โดยมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1916-1995)
ระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี Wilson ประสบปัญหาเศรษฐกิจที่ผันผวนและจำเป็นต้องส่งทหารอังกฤษเข้าไปสู้รบในไอร์แลนด์เหนือ(ดินแดนของอังกฤษอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไอร์แลนด์) และในสมัยที่สองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจหนักกว่าเก่าจนต้องลาออกในค.ศ. 1976
นักการเมืองไทยที่เตรียมตัวจะหาเสียงกันอยู่ในเร็วๆ นี้ คงจะซาบซึ้งกับคำกล่าวนี้เป็นพิเศษในเวลาอีกไม่นาน แต่อาจด้วยบริบทของความหมายที่แตกต่างกันกล่าวคือ ยิ่งหาเสียงนานเท่าใดก็ยิ่งเปลืองตังค์มากเพียงนั้น(ถ้าไม่ต้องการให้มีการซื้อเสียงกันมากหนทางหนึ่งคือให้เวลาหาเสียงอย่างเป็นทางการนานเป็นพิเศษ) นอกจากนั้นก็ยังต้องเหนื่อยสายตัวแทบขาดมากขึ้นอีกด้วย ต้องกินข้าวเพราะชาวบ้านเลี้ยงอีกหลายมื้อในหนึ่งวันต้องอุ้มและกอดเด็กเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันคน ฯลฯ
หนึ่งอาทิตย์จะยาวนานอีกครั้งในอีกบริบทของความหมายก็คือ ตอนตั้งรัฐบาลที่ต้องรวมเสียงจากหลายพรรค วิ่งแย่งตำแหน่งกันจนโผแปรเปลี่ยนในแต่ละนาที(อย่าว่าแต่ละวันหรืออาทิตย์เลย)
(3) “No one can make you feel inferior without your consent” (ไม่มีใครทำให้ท่านรู้สึกมีปมด้อยได้ถ้าท่านไม่ให้ความยินยอม) ผู้พูดคือ Eleanor Roosevelt อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง(ค.ศ. 1884-1962)ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีFranklin Roosevelt
เธอเป็นหญิงเก่งที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกในการร่วมร่าง Universal Declaration ซึ่งเป็นแถลงการณ์สำคัญของสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอนเธอเป็นตัวแทนสหรัฐ ประจำสหประชาชาติซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่
ในตอนหาเสียงประธานาธิบดีในปีค.ศ. 1960 เธอก็ช่วย John F. Kennedy อย่างได้ผล เธอเป็นผู้ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากประชาชนจากบทบาทของเธอทั้งในและนอกทำเนียบขาว คำพูดนี้เธอชอบมากและพูดอยู่บ่อยๆ
ประโยคข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนมีศักยภาพ และสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการก็คือ โอกาส ตอนเกิดมาอาจรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยจะด้วยสาเหตุของการเป็นชนกลุ่มน้อย ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางสังคม การขาดโอกาส ฯลฯ ก็ตามแต่ความรู้สึกนี้จะอยู่ได้ไม่นานตราบที่ไม่ยินยอมรับมัน
มนุษย์มีพฤติกรรมออกมาอย่างใดก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่อยู่ในใจเป็นสำคัญ ถ้าไม่คิดว่าตนเองมีปมด้อย มันก็ไม่มีปมด้อย มันจะมีขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อให้ความยินยอมในใจว่าตนเองมีปมด้อย คนสำคัญที่จะช่วยตั้งแต่เด็กๆ ให้ไม่เกิดการยินยอมรับมันในใจก็คือพ่อแม่และครู
ปีใหม่เป็นโอกาสสำคัญแห่งการมีความคิดใหม่ มีพฤติกรรมใหม่ และประการสำคัญมีความมุ่งมั่นใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากการได้พบเรื่องราวดีๆเป็น “อาหาร” ให้คิด