เมื่อ “ฟินเทค” กำลังถูก disrupt โดย “เทคฟิน”
เมื่อ FinTech เองก็กำลังจะถูก disrupt…..คำว่า FinTech
ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน เมื่อดูจาก Google Trend เพิ่งจะเป็นคำที่รู้จักกันกว้างขวางในโลกประมาณ 5 ปี โดยเกิดมีบริษัท FinTech Startup ใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการเงินประเทศหลัก ๆ ของโลก อย่าง Lufax, OneConnect ในประเทศจีน บริษัท Square, Paypal ของสหรัฐฯ หรือ Pure Digital Bank อย่าง Revolut, N26 ในยุโรป โดยบริษัทเหล่านี้สามารถใช้เงินทุนที่ต่ำ มีพนักงานจำนวนน้อยแต่สามารถขยายฐานผู้ใช้บริการสู่คนนับล้านและมีมูลค่ากิจการเทียบเคียงได้กับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่ตั้งมาเป็นสิบปีร้อยปี
โลกดิจิทัลดูจะหมุนเร็วอย่างไม่น่าเชื่อเมื่อล่าสุดบริษัทฟินเทคสตารท์อัพเองก็กำลังถูก disrupt เช่นกัน โดยผู้ที่เข้ามาขอแบ่งเค้กไม่ใช่ใครอื่นไกลแต่เป็นเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในโลกที่เป็นเจ้าของ Platform ที่มีผู้ใช้นับพันล้านคนนั่นเอง ซึ่งหลัก ๆ ก็ได้แก่ Facebook Apple Amazon Alibaba และ Tencent ส่วนของบ้านเราที่มาแรงมาก ๆ ก็คือ LINE อีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งในโลกต่างเรียกบริษัทเหล่านี้ว่าเป็น TechFin Companies คือบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มยอดนิยมของโลกที่เริ่มขยายวงธุรกิจของตัวเองเข้าไปในอุตสาหกรรมการเงิน ด้วยข้อได้เปรียบหลักคือการเป็นเจ้าของ “เวลา” ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงทุก ๆ วันอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างเช่นกรณีของ LINE ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมี Platform ที่เรียกว่า LINE Bank ซึ่งเป็นการจับมือเป็น Joint Venture กันระหว่าง LINE กับ Mizuho เพื่อประกอบธุรกิจ Digital Bank หรือธนาคารที่อยู่บนโลกออนไลน์ จากที่ก่อนหน้านี้ทาง LINE ได้มีการนำเสนอ LINE Financial ที่เริ่มทำธุรกิจด้านการเงินการลงทุนมากขึ้น ข้อได้เปรียบที่สำคัญของบริษัท TechFin อย่างกรณีนี้ก็คือ Time Sharing ของผู้บริโภค เช่นในญี่ปุ่นปัจจุบันมี Monthly Active User หรือจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในแต่ละเดือนอยู่ที่ 78 ล้านบัญชี มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรญี่ปุ่นประมาณ 127 ล้านคนเลยทีเดียว
ในกรณีของประเทศจีนก็เช่นกันที่ WeChat ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานนับพันล้านคนต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันคนจีนมีพฤติกรรมจ่ายเงินผ่านแอพ WeChat กันเป็นเรื่องปกติแล้ว (ในบ้านเราก็คือ Line Pay นั่นเองที่กำลังขยายตลาด) นอกจากนี้ในปัจจุบัน คนจีนจำนวนมากยังใช้ WeChat ในการซื้อประกัน จ่ายบิล ไปจนถึงจ่ายค่ารถไฟ และนัดหมอฟัน ซึ่งกรณีของ WeChat นี้เองที่ดูเหมือนจะเป็นโมเดลของ Banking Ecosystem หรือระบบนิเวศน์ของธุรกิจการเงินการธนาคารในอนาคตที่ธุรกรรมทางการเงิน กับธุรกรรมการอุปโภคบริโภคอยู่ในประสบการณ์ผู้ใช้แบบที่แยกกันไม่ออกอีกต่อไป (Seamless Integration)
นอกจากนี้เองตัวเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าสมัยใหม่เองก็กำลังมีส่วนทำให้ Ecosystem เปลี่ยนไปอย่างเช่นการ “ระดมทุน” ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของระบบการเงินที่ปัจจุบันเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างบล็อคเชนกันมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในระยะนี้คือการระดมทุนด้วยกลไก STO หรือ Securities Token Offering ซึ่งสามารถทำให้เจ้าของสินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตึก ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน หรือผู้ออกหลักทรัพย์อย่างหุ้น ตราสารหนี้ กองทุน สามารถที่จะใช้กลไกที่ทรงประสิทธิภาพและต้นทุนถูกกว่าบนระบบบล็อคเชนในการระดมทุน และซื้อขายสินทรัพย์/หลักทรัพย์ในตลาดรองได้อย่างรวดเร็ว
โดยสรุปคือเรากำลังเข้าสู่โลกที่ระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยผู้บริโภคในปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันบน Platform การสื่อสารและสารสนเทศสมัยใหม่ที่เป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของโลก ส่งผลให้ journey ของผู้ทำธุรกรรมทางการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังทำให้กลไกการประกอบธุรกิจการเงินการธนาคารแบบเดิม ๆ กำลังล้าสมัย วันนี้ เราจึงอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการบ้านเราทั้งสถาบันการเงิน และบริษัท FinTech Startup ที่จะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ การไม่ทำอะไรผิดเลยคงไม่เพียงพอที่จะทำให้การทำธุรกิจแบบเดิม ๆ อยู่รอดต่อไปได้ครับ