ฤาปัญหาคือ ประชาธิปไตย?
24 มีนาคม 2562 ประเทศไทยภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เหมือนจะวกกลับเข้ามาสู่แนวทางประชาธิปไตยตามนิยามสากล แต่หากพิจารณาความรู้สึกของประชาชนผมคิดว่าส่วนใหญ่มีความคาดหวังต่ำในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใครขึ้นมาสู่อำนาจในบริบทใดดูเหมือนประเทศไทยเพียงแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่น ย้ายค่ายบนกลุ่มผลประโยชน์ลักษณะเดิมเปรียบเสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่แต่ผลลัพธ์ไม่แตกต่าง ทั้งที่บทเรียนมีอยู่มากมายผ่านการเดินทางกลับไปมาระหว่างรัฐประหารและประชาธิปไตยหลายครั้ง เกี่ยวอะไรกับเราฉบับนี้จะพิจารณา 4 ข้อจำกัดประชาธิปไตยเพื่อตอบคำถามว่า ปัญหาสังคมไทยอยู่ที่ระบอบการปกครองที่เราเลือกเดินมากว่า 70 ปีหรือไม่
I. การทำงานที่หวังผลระยะสั้น:
ระบอบประชาธิปไตยมีรอบการเลือกตั้งที่แน่นอนและมักถูกวิจารณ์ว่าผู้เล่นระบบจะทำงานโดยหวังผลระยะสั้น เพราะต้องทำผลงานให้ได้รับการเลือกตั้งในรอบต่อไปทำให้มาตรการส่วนใหญ่ออกมาในลักษณะประชานิยมบนการใช้เงินของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพและทำให้การผลักดันนโยบายที่สำคัญแต่ใช้เวลาดำเนินการเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจหรือนำมาปฏิบัติ
ตัวอย่างที่พอเห็นชัดในประชาธิปไตยปัจจุบันคือ นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลทั่วโลกรวมถึงไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเพราะอานิสงส์ของการกระทำจะเห็นผลในระยะยาวที่มักจะผลัดเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างคือมาตรการการรัดเข็มขัด (Austerity) ที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอาจมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินและการคลังเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่รัฐบาลส่วนใหญ่อาจไม่อยากทำแต่แก้ปัญหาระยะสั้นผ่านนโยบายแจกเงินทางตรงและทางอ้อมเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและการยอมรับในระยะสั้น
II. การเข้ามามีบทบาทของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน
ในหลายประเทศประชาธิปไตยกลุ่มธุรกิจที่มีผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลต่างขยายอิทธิพลในการสนับสนุนนักการเมืองเพื่อหวังผลทางธุรกิจ ซึ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกลายเป็นวัฎจักรเพราะโครงสร้างทางสังคมได้เอื้อประโยชน์ระยะยาวให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ ผ่านสัมปทานงานรัฐต่างๆ และทำให้ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนไม่มีเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลส่วนใหญ่ที่เข้ามาในวัฎจักรนี้ก็ต้องดำเนินมาตรการประชานิยมเพื่อประครองสถานการณ์และฐานเสียงตนบนการใช้งบรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ
III. การสร้างความแตกแยกในสังคมผ่านการแข่งขันที่รุนแรง
ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายมีเสรีภาพการสื่อสารในสนามเลือกตั้งทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงการยอมรับนโยบายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งแม้จะเป็นนโยบายที่ดีก็ไม่สามารถยอมรับได้เพราะการแข่งขันต้องเน้นการสร้างความแตกต่างและโดดเด่น ที่สำคัญขั้นตอนของการสร้างความโดดเด่นนี้มักจะเน้นการเล่นกับอารมณ์ของประชาชนและจุดชนวนให้เกิดการคล้อยตามมากกว่าการให้ข้อเท็จจริง จนเกิดความแตกแยกที่เห็นชัดในสังคมไทย
IV. ความไม่รู้ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
ทฤษฎีประชาธิปไตยคาดหวังผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เข้าใจความต้องการตัวเองอย่างถ่องแท้สามารถวิเคราะห์ว่า นโยบายจากพรรคใดที่จะทำให้ตนได้รับความต้องการนั้นและเลือกผู้ลงสมัครทางการเมืองที่ดำเนินโยบายนั้นจนสำเร็จ แต่ในความจริงประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าในประเทศใดมักเลือกพรรคและผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นตน มีวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาเดียวกันหรือใกล้เคียง และส่วนน้อยที่จะเข้าใจความสัมพันธ์เชิงนโยบายของตัวผู้สมัคร พรรคและปัจจัยพื้นฐานประเทศว่านโยบายใดน่าจะส่งผลบวกตรงตามความต้องการตน ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิด ว่าการปกครองในรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (Authoritarian) หรือการปกครองที่อาศัย ผู้ทรงความรู้วิทยาการสมัยใหม่สาขาต่างๆ ที่มามีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายสาธารณะ (Technocrat) อาจมีความเหมาะสมกว่าระบอบประชาธิปไตย
หากพิจารณาระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นกลางบนข้อมูลเชิงประจักษ์จะพบว่าข้อจำกัดข้างต้นนอกจากจะมีอยู่ในเกือบทุกประเทศประชาธิปไตย ยังมีอยู่ในทุกระบอบการปกครองไม่ว่าจะเป็นระบอบผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จหรือระบอบเทคโนแครต เพราะต่างก็มีส่วนประกอบของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนผ่านการคัดเลือกพวกพ้องมาเป็นชนชั้นปกครอง ดำเนินนโยบายหวังผลระยะสั้นและทำให้เกิดการแตกแยกได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศไม่ว่าอยู่ในระบอบการปกครองใดก็สามารถแก้หรือบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ผ่านการวางกรอบนโยบายอย่างรอบคอบบนผู้นำที่มีคุณธรรมและความสามารถ
ผมมีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะก้าวผ่านข้อจำกัดส่วนใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยไปได้ในที่สุด หากภาคประชาชนซึ่งรวมถึงนักการเมืองและนักธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทด้านการเมืองเข้าใจว่าสิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กันผ่านการยกระดับการศึกษาที่มีมาตรฐานและความเท่าเทียมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถึงแม้ปัญหาระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่แก้ยากและหลายฝ่ายมองว่าไกลเกินกว่าจะเห็นผลในระยะสั้น แต่อย่างน้อยการปลูกฝังเรื่องสิทธิและหน้าที่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมสามารถทำได้โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัวที่คนรุ่นปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากหลายช่องทาง เปรียบเทียบข้อมูล ประสบการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แล้วสามารถตัดสินใจด้วยตนเองว่าสิทธิและหน้าที่ของประชาชนคนไทยควรจะมีและถูกแสดงออกอย่างไรในอนาคต