คุณภาพบริการรถเมล์ที่ดี ต้องมีกลไกปรับค่าโดยสารที่เป็นระบบ

คุณภาพบริการรถเมล์ที่ดี ต้องมีกลไกปรับค่าโดยสารที่เป็นระบบ

การควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากบริการรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง

แต่สภาพการประกอบการ ที่ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอกชนจำเป็นต้องแบกรับภาระการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐโดยตรง จำเป็นต้องควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมาก ส่งผลต่อการพัฒนาด้านบริการ รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่สำคัญ คือการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ควรเป็นธรรมกับการประกอบการของเอกชน รวมถึงเป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย

ในอดีตค่าโดยสารมีการปรับเปลี่ยนไปตามราคาน้ำมันเป็นหลัก โดยค่ารถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการปรับขึ้นสูงในช่วงปี 2549 - 2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และปรับลดลงเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงปี 2551 - 2557 และมีการปรับขึ้นอีกครั้ง ในปี 2558 ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก็ทยอยปรับขึ้นในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา 

คุณภาพบริการรถเมล์ที่ดี ต้องมีกลไกปรับค่าโดยสารที่เป็นระบบ

ปัญหาของการปรับขึ้นค่าโดยสารในอดีต เกิดจากการพิจารณาปรับค่าโดยสารโดยอิงกับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยไม่สะท้อนต้นทุนอื่นๆ ของการประกอบการ ซึ่งโครงสร้างต้นทุนการประกอบการรถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประกอบไปได้วยค่าจ้างพนักงาน (31%) ค่าเชื้อเพลิง (27%) ค่ารถ (19%) และค่าบริหารจัดการอื่นๆ  (23%) ซึ่งต้นทุนดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามดัชนีทางเศรษฐกิจเช่นกัน

รายได้หลักของการประกอบการรถเมล์ คือรายได้จากค่าโดยสาร เมื่อผู้ประกอบการจัดเก็บค่าโดยสารที่ไม่ได้มีการปรับปรุงตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องบริหารการเดินรถให้อยู่ในระดับที่เท่าทุนหรือขาดทุนน้อยที่สุด จึงทำให้ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการที่ดีขึ้น จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการขับขี่และการให้บริการของพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทำให้ความพึงพอใจในการใช้บริการรถเมล์ของประชาชนมีแนวโน้มแย่ลง

ในกรณีของต่างประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกงก็มีกลไกในการกำกับดูแลค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีความยั่งยืนด้านการเงิน และสามารถให้บริการเดินรถได้อย่างต่อเนื่อง กลไกการปรับค่าโดยสารทั้ง 2 ประเทศมีสูตรกลางในการพิจารณาและทบทวนค่าโดยสารทุกปี โดยคำนึงถึง 2 ประเด็นหลัก คือ 1) โครงสร้างต้นทุนการเดินรถ และ 2) การปรับค่าโดยสารตามดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีค่าจ้างแรงงาน ดัชนีพลังงาน และดัชนีผลิตภาพการให้บริการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพบริการที่ดียิ่งขึ้น เมื่อมีคุณภาพบริการที่ดี ทั้ง 2 ประเทศจึงมีจำนวนประชากรมากถึงร้อยละ 80 ที่ใช้บริการรถเมล์เป็นระบบขนส่งสาธารณะหลักในการเดินทาง

ดังนั้น การปรับค่าโดยสารรถเมล์ของกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็น โดยมีแนวทางการพิจารณาปรับราคาไม่แตกต่างจากหลายประเทศ เนื่องจากมีสูตรค่าโดยสารคล้ายกันกับสิงคโปร์และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม การชดเชยเยียวยาให้แก่กลุ่มคนมีรายได้น้อยก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงเช่นกัน

แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐมีการอุดหนุนค่าเดินทางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่กลุ่มคนมีรายได้น้อยเดือนละ 500 บาท แต่จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ในเรื่องความสามารถของประชาชนที่มีรายได้น้อยในการจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ พบว่าหากนำเงินดังกล่าวรวมกับค่าเดินทางที่คนกลุ่มนี้ต้องจ่าย จะทำให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยมีความสามารถในการจ่ายเพื่อใช้บริการรถเมล์อยู่ที่เที่ยวละ 24 บาทภายใต้ 20 วันทำงาน จึงเห็นได้ว่า เมื่อค่าโดยสารปรับขึ้น ส่งผลให้นโยบายการเยียวยาของภาครัฐในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอต่อผู้ที่ต้องเดินทางระยะไกลด้วยรถเมล์แอร์

เพื่อให้กลไกการปรับค่าโดยสารเป็นระบบและสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ภาครัฐควรมีแนวทางการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้

1) ควรพิจารณาค่าโดยสารภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงและปรับตามดัชนีทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจัดตั้งคณะทำงานที่มีหน้าที่ทบทวนค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาค่าโดยสาร ตลอดจนความพึงพอใจของผู้โดยสาร เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำแผนค่าโดยสารในอนาคต

2) ควรติดตามและประเมินปริมาณผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง หากเส้นทางไหนมีแนวโน้มขาดทุนเนื่องจากปริมาณผู้โดยสารน้อย ภาครัฐควรพิจารณาโครงข่ายเส้นทางใหม่ ไม่ให้เกิดการทับซ้อน หรือปรับแผนการเดินรถ เช่น ความถี่ จำนวนรถ ฯลฯ เพื่อให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุด ตลอดจนการกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ เพื่อประกันถึงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน

3) ควรพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนการเดินทางเป็น 700 บาทต่อเดือนผ่านบัตรสวัสดิการฯ เพื่อให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยมีความสามารถในการจ่ายที่สูงขึ้นและสามารถใช้บริการที่มีคุณภาพ

การปรับค่าโดยสารเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกการปรับที่เหมาะสมและมีการทบทวน ค่าโดยสารทุกปี รวมถึง การวางแผนชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มคนมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการรถเมล์ก็ควรได้รับการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการหาแนวทางการเดินรถที่ดีและมีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปลงทุนพัฒนามาตรฐานการให้บริการรถเมล์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถเมล์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

โดย... 

กิตติยา ยิษฐาณิชกุล