การนำนวัตกรรมเทคโนโลยี AI มาใช้ในทางการแพทย์ -สาธารณสุข
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่อง Artificial Intelligence: AI หรือ “ปัญญาภิวัฒน์” อยากจะบอกว่าเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อสังคม ที่เรียกว่า Social technology
นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมัยเรียนเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วก็มีโอกาสอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ Public technology ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในภาคสาธารณะ
ในการประชุม กมธ.สาธารณสุข เรื่อง AI หัวข้อการประชุมเป็นเรื่องการรับฟังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมทั้งนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการเข้าถึงและการให้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ ตลอดจนการดำเนินการด้านกฎหมายรวมทั้งการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้ชี้แจงเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมการแพทย์และทีมงาน กับอาจารย์นักวิจัยด้าน AI คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ที่มีผลงานวิจัยหลายเรื่องเกี่ยวกับวิศวกรรมทางการแพทย์ (Medical engineering) และได้จดสิทธิบัตรไว้หลายเรื่อง การชี้แจงของผู้ชี้แจงกรมการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ทางการแพทย์ และความร่วมมือกับหลายสถาบันทางวิชาการที่ทำการวิจัยในเรื่องต่างๆ
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์นี้ยังมีความขัดข้องในการขอรับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพราะเป็นเรื่องที่ อย. ไม่มีความรู้ความชำนาญ ไม่สามารถอนุญาตได้ การขึ้นทะเบียนนวัตกรรมใหม่ๆ จึงไม่สามารถทำได้รวดเร็ว ต้องผ่านกลไกและการออกกฎหมายมารองรับ แต่เราก็ยังไม่มีกฎหมายลำดับรองมารองรับ งานส่วนใหญ่จึงกลายเป็นเรื่องของการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นต้น ซึ่งถ้าหากจะผลักดันให้งานด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขเดินไปข้างหน้า ก็คงต้องมีหน่วยงานกลางที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งทางกรมก็มีแนวคิดที่จะมีศูนย์ Workstation Medical AI Collaboration Center ตั้งอยู่ที่ Yothi Medical Innovation District นวัตกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่เกือบทั้งหมดเป็นระดับนำร่อง เช่น การคัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา การคัดกรองวัณโรคที่ปอด การแปรผลเลือดทางห้องปฏิบัติการ การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
ส่วนผู้ชี้แจงจากคณะวิศวกรรมฯ มธ.นั้น เน้นในเรื่องวิศวกรรมทางการแพทย์ หรือ Medical engineering ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่เฉพาะโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่รวมถึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เช่นเรื่องของ stroke, alzheimer, cytomegalovirus, diabetic retinopathy, aged related macular degeneration แต่ดูเหมือนทุกเรื่องยังเป็นขั้นเริ่มต้น และยังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์
หลังจากผู้ชี้แจงได้อธิบายทั้งหมดแล้ว กรรมาธิการและผู้เข้าร่วมประชุมได้ซักถามในรายละเอียดหลายเรื่อง หลากหลายแตกต่างกัน จึงไม่ขอกล่าวในที่นี้
เฉพาะที่ส่วนตัวมีความสนใจนั้นก็มากจนเกินที่ผู้ชี้แจงจะตอบได้ทั้งหมด จึงได้เสนอเป็นทั้งคำถามและข้อสังเกตเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานดังนี้ 1. นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็น technology transfer จากต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อนวัตกรรมฯที่ผลิตโดยคนไทย อย.ไม่สามารถรับรองได้และไม่มีหน่วยงานเฉพาะ จึงอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการขอการรับรองจากต่างประเทศที่สามารถให้การรับรองได้ก่อน แล้วจึงมาขอรับรองในประเทศไทย ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ใช้วิธีการนี้ในการจดสิทธิบัตร 2. ความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขยังจำกัดวงอยู่กับโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทยศาสตร์ ควรขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเช่น สวทช. ที่มีการทำวิจัยในศูนย์ต่างๆ เช่น BioTech วัสดุศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น วิทยาลัยนานาชาติสิรินธร (SIIT) ที่ทำเรื่อง Humanoid
3.เรากำลังมีเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก(อีอีซี)ซึ่งจะมีศูนย์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ โดยมี BOI เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในด้านนี้ เราน่าจะใช้ประโยชน์จากศูนย์อุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่กำลังจะเกิดขึ้น 4. ถ้าประเด็นคือเพื่อสุขภาพประชาชน ก็ต้องพิจารณานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนคนไทยทั่วไปที่อาจไม่ล้ำหน้าเหมือนประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว นวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับเราต้องมีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตและในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงมาก 5. เรื่องงบประมาณทางด้านนวัตกรรมตอนนี้มีการกระจายไปในหลายหน่วยงาน รวมถึงทุนส่งเสริมงานวิจัย ตอนนี้เรามี กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีอี) กระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่กำลังเปลี่ยนเป็น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การที่งบประมาณกระจายแบบนี้ทำให้ยากลำบากในการทำวิจัยโครงการใหญ่ๆ ใช้เงินทุนมาก คงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรในการ pull resources มาทำ ไม่เป็นเบี้ยหัวแตกอย่างทุกวันนี้
6.เรื่องที่น่าทำและทุ่มเทมากสุดน่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที)จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น Blockchain 7. ควรมีความร่วมมือกับกลุ่ม Startup ทางด้าน HealthTech ในการพัฒนา โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลที่สามารถนำไปพัฒนา AI ใน HealthTech 8. เรื่อง Telemedicine เราจะพัฒนาได้อีกแค่ไหน เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยที่จะต้องพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่เป็นปัญหาขณะนี้ 9. หน่วยบริการปฐมภูมิ กับระบบไอที น่าจะช่วยเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ไม่ติดต่อ (NCD) ที่เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่ามะเร็ง ไต ความดัน เบาหวาน หัวใจ จะทำได้อย่างไร และ 10. ถ้ามีการใช้ Blockchain ข้อมูลจะถูก encrypt ไม่สามารถแก้ไขได้ ตรงนี้อาจช่วยด้านการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล แต่ในขณะเดียวกันนักวิจัยและผู้ที่ต้องการข้อมูลเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะถูกสกัดกั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ จะทำอย่างไร
ผู้ชี้แจงได้อธิบายในบางคำถาม เช่นเรื่องการใช้ Blockchain ว่าอยู่ในขั้นตอนการศึกษา แต่เรายังมีปัญหามากกว่านั้นเพราะข้อมูลที่ได้มามีหลายระดับ ถ้าเราต้องการเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับล่างเช่นจากอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ข้อมูลจะมีศักยภาพต่ำมาก และไม่มีมาตรฐานเดียว อีกทั้งการเก็บข้อมูลจำนวนมากที่เป็น Big data นั้นต้องใช้เงินจำนวนมากในการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งทางกระทรวงมีแนวคิดแต่ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงานและงบประมาณที่พอเพียง
ในรายละเอียดที่ผู้ชี้แจงได้อธิบายให้คณะกรรมาธิการรับฟังนั้น เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมทั้งสิ้น หลายๆ เรื่องเป็นสิ่งที่รัฐควรเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพและการสาธารณสุข เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆควรนำมาใช้ให้มากที่สุดเพราะเท่ากับแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรและงบประมาณที่ไม่พอเพียงด้วยพร้อมๆกัน นวัตกรรมทำให้เกิดการให้บริการดูแลรักษาถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอน ผู้ป่วยไม่ต้องไปแออัดยัดเยียดรอพบแพทย์ หลายอย่างทำได้ด้วยการส่งต่อข้อมูล
บางทีก็คิดว่า ต่อไปประชาชนที่ไปติดต่อเพื่อรับการรักษาอาการเจ็บป่วยอาจทำเองได้ เช่นวัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน การเต้นหัวใจ และเชื่อมต่อข้อมูลไปยังแพทย์ที่จะพบกับผู้ป่วยโดยตรง เราก็คงลดการจ้างพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายลงไปได้อีก การปฏิรูประบบสุขภาพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐของเรา