กระบวนทัศน์เทคโนโลยี

กระบวนทัศน์เทคโนโลยี

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในมุมมองใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครมองเห็นได้

คำว่า “กระบวนทัศน์” เป็นคำภาษาไทยที่นิยมใช้แปลคำว่า “Paradigm” ซึ่งมีความหมายถึงมุมมองเฉพาะที่มองไปยังปัญหาหรือประเด็นที่สนใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นมุมมองที่เกิดจากชุดข้อมูลเดียวกัน แต่ผู้มองอาจมองเห็นภาพหรือให้คำอธิบายกับชุดข้อมูลนั้นแตกต่างกัน ด้วยการใช้เหตุผลสนับสนุนที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างที่มักนำมาใช้อธิบายคำว่า “กระบวนทัศน์” ก็คือการใช้ภาพมาอุปมาอุปมัยเพื่อให้เกิดความเข้าใจขึ้นได้ชัดเจน

ภายใต้ภาพเดียวกัน หรือ ชุดข้อมูลเดียวกันนี้ บางคนอาจมองเห็นภาพกระต่าย แต่บางคนอาจมองเห็นเป็นภาพนก

ซึ่งอธิบายชี้แจงได้อย่างชัดเจนว่า เหตุใดจึงเห็นเป็นภาพเช่นนั้น เรียกได้ว่า “ถูกทั้งคู่”

แต่ความสำคัญของการสร้างกระบวนทัศน์ก็คือ ปรากฏการณ์ที่จะทำให้คนเกิดความสามารถหรือในการแก้ปัญหาเดิมๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันแต่ไม่เคยแก้ไขได้ เกิดมุมมองใหม่ที่นำไปใช้แก้ไขปัญหานั้นๆ ได้

สถานการณ์เช่นนี้ มักนิยมเรียกกันว่า การ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” หรือ Paradigm Shift

คนที่มองเห็นภาพในครั้งแรกเป็นหัวเป็ด เมื่อเกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ขึ้นได้ ก็จะสามารถมองเห็นภาพเป็นหัวนกได้

เกิดมุมมองใหม่ต่อชุดข้อมูลเดิม โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลเดิมแต่อย่างใด!!!

คำว่า Paradigm มีการนำมาใช้เป็นครั้งแรก โดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ชื่อ Thomas Kuhn ในปี 1962 ซึ่งนำมาใช้อธิบายว่า เหตุใดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงสามารถมีการพัฒนาให้สูงขึ้นได้เรื่อยๆ ในขณะที่วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นเพียงความพยายามอธิบาย “ชุดข้อมูล” เดิมของธรรมชาติเท่านั้นเอง

Kuhn พบว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดมุมมองใหม่ ทำให้มองข้อเท็จจริงในธรรมชาติแยกย่อยของเป็นสาขาหรือแขนงต่างๆ ได้มากมาย และในแต่ละมุมมอง หรือแต่ละ “กระบวนทัศน์” ก็จะสามารถเจาะลึกลงไปเพื่อค้นหาความจริงของธรรมชาติได้อย่างละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

เราสามารถนำแนวความคิดของ Kuhn มาประยุกต์ใช้กับการสรรสร้างนวัตกรรมที่เกิดขึ้นกับสินค้าหรือบริการที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการความพึงพอใจหรือสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้

ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการสร้างนวัตกรรม เรียกแนวคิดนี้ว่า Technological Paradigm หรือ กระบวนทัศน์เทคโนโลยี

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในมุมมองใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครมองเห็นได้

ความจริงแล้ว เทคโนโลยีต่างๆ จะประกอบด้วยองค์ประกอบใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ เรื่องของความรู้หรือ know-how ทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังของเทคโนโลยี และเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ประกอบ

ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ จะประกอบด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของอิเล็กตรอน วิธีการคำนวณ ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากวิทยาศาสตร์ และ เครื่องมืออุปกรณ์ประกอบ เช่น ชิปประมวลผล จอแสดงผล และอุปกรณ์ป้อนข้อมูล เป็นต้น

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมขึ้นได้ อาจทำได้ทั้งกระบวนทัศน์ทางความรู้ และกระบวนทัศน์ทางอุปกรณ์ประกอบ

ในขณะที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์มีส่วนสร้างความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ ด้วยการเกิดวิทยาศาสตร์ในสาขาใหม่ๆ ขึ้นมากมาย การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เทคโนโลยี จะนำไปสู่การเกิด “เส้นทางเดิน” ของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน (Technology Trajectory)

ในแต่ละกระบวนทัศน์ของเทคโนโลยี อาจเกิดเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีไปในเส้นทางต่างๆ แตกแขนงกันออกไป ซึ่งในบางเส้นทางก็จะมีความโดดเด่นมาก บางเส้นทางก็อาจมีความโดดเด่นน้อย และเส้นทางเดินต่างๆ กัน อาจทำให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกันได้

ตัวอย่างเช่น ในเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนทัศน์หลักจะเริ่มต้นจากการพัฒนาหลอดสูญญากาศและทรานซิสเตอร์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมวิทยุ แต่ได้พัฒนาไปในเส้นทางอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมโทรทัศน์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมการสื่อสาร เป็นต้น

เส้นทางของเทคโนโลยีหนึ่ง อาจพัฒนาล่าช้าลง เนื่องจากเส้นทางอื่นพัฒนาไปไม่ทัน เช่น การลดขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ จะขึ้นอยู่กับการพัฒนาขนาดของหน่วยความจำหรือหน่วยประมวลผล ทำให้การพัฒนานวัตกรรมต้องหยุดรอซึ่งกันและกัน

ความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรม จึงอยู่ที่การเลือกกระบวนทัศน์เทคโนโลยี และเส้นทางเดินของเทคโนโลยี ให้เหมาะสมกับความรู้ความชำนาญ ความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์นวัตกรรมของธุรกิจ รวมถึงสถานภาพและความแข็งแกร่งด้านการเงิน การลงทุน และความพร้อมของบุคลากร

ปัจจัยที่จะมีส่วนในการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินของเทคโนโลยี ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ สภาวะทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อตลาดและต้นทุนการผลิต และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือ การกำหนดกฎระเบียบที่อาจเอื้อหรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น

การสร้างความรู้ความเข้าใจกับ กระบวนทัศน์เทคโนโลยี (Technological Paradigm) และเส้นทางเดินเทคโนโลยี (Technology Trajectory) อาจจะเป็นภารกิจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ Startup ไทยจะต้องให้ความสนใจ นอกเหนือไปจากเรื่องของการตลาดและการผลิต

เพราะอาจเป็นตัวกำหนดชี้เป็นชี้ตาย ให้กับความคิดสร้างสรรในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ฝันไว้ ก็เป็นได้!!??!!