เงินเยนอ่อน

ในความเห็นของดิฉันในฐานะนักท่องเที่ยวและนักลงทุน เงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท เมื่อคิดตามอำนาจซื้ออ่อนค่ากว่าบาท ประมาณ 25-28% ค่ะ คืออัตราที่ประมาณ 100 เยน เท่ากับ 30 บาท ดูจะเหมาะสมเป็นธรรม

เงินเยนของญี่ปุ่น เพิ่งทำสถิติอ่อนที่สุดในรอบ 34 ปีไปเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 โดยแตะที่ระดับ 160.03 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำเอาผู้ลงทุนอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆกัน โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่ไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้

เงินเยนของญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับสามของโลก รองจาก ดอลลาร์สหรัฐ และยูโร และมีธนาคารของประเทศต่างๆใช้เป็นทุนสำรองมากเป็นอันดับสาม รองจากดอลลาร์สหรัฐและยูโร เช่นเดียวกัน

หลังจากเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ค่าเงินเยนถูกกำหนดโดยระบบเบรตตันวู้ดส์ (Bretton Woods) ไว้ที่ 360 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อระบบเบรตตันวู้ดส์ถูกยกเลิกไปในปี 1971 เงินเยนก็ถูกลอยตัว และแข็งค่าไปแตะที่ระดับ 271 เยนต่อดอลลาร์ ในปี 1973 หลังจากนั้นก็อ่อนค่า และแข็งค่าในช่วงวิกฤติน้ำมัน ปี 1973 ไปอยู่ที่ 229 เยนต่อดอลลาร์ ในปี 1980 โดยทางการญี่ปุ่นมีนโยบายแทรกแซงไม่ให้แข็งค่า เพราะต้องการส่งเสริมการส่งออก 

เงินเยนอ่อนค่าในขณะที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างหนัก ทำให้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าจากโลกมหาศาล โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา อเมริกาจึงได้เชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เข้าหารือที่โรงแรมพลาซ่า ในนครนิวยอร์ค เมื่อปี 1985 เพื่อกำหนดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ โดยเงินเยนของญี่ปุ่นซึ่งถูกมองว่า อ่อนค่าเกินไป (ทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบในการส่งออก) ทำให้ญี่ปุ่นต้องทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น โดยแข็งค่าจาก 239 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1985 เป็น 128 เยนต่อดอลลาร์ในปี 1988 และขึ้นมาแข็งค่าที่สุดในปี 1995 ที่ 80 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ 

หลังจากนั้น ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง จนมีค่าตกไปถึง 134 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2002 และเมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น นำนโยบายดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยติดลบมาใช้ ก็ยิ่งทำให้เงินเยนไม่น่าสนใจลงทุน แต่เป็นสกุลเงินที่ผู้ลงทุนมองเป็น สวรรค์ที่ปลอดภัย หรือ safe haven และดึงดูดนักค้าให้กู้เงินเยน ไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินอื่น ที่เรียกว่า แครี่เทรด (Carry Trade) โดยมีการคาดว่า ปริมาณแครี่เทรดเงินเยน ในปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

เงินเยนเริ่มอ่อนค่าในรอบล่าสุดนี้ตั้งแต่กลางปี 2022 จาก 116 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนไปถึง 130 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มแห่กันไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นกันอย่างล้นหลามค่าเงินเยน แข็งขึ้นเล็กน้อยเป็น 127 เยนต่อดอลลาร์ แต่ก็มีผู้ขายจนอ่อนไป140 เยน ก็มีผู้เห็นว่าเงินเยน อ่อนค่าเกินความเป็นจริง แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 132 ไม่นาน ก็อ่อนค่ากลับไป คราวนี้ทะลุ 150 เยนต่อดอลลาร์เลยทีเดียว เมื่อแต่ 150 แล้วก็แข็งค่ากลับขึ้นมาที่ 128 เยนในปี 2023 และแข็งๆอ่อนๆอีกพักใหญ่ จนแตะ 150 เยนอีกครั้ง เมื่อเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มผ่อนคลายลง ตลาดเกิดความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอาจจะลดลง ช่องห่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย 0% ของญี่ปุ่น กับอัตรา 5% ของสหรัฐ อาจจะน้อยลง ประกอบกับเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล เงินเยนซึ่งเป็น สวรรค์ที่ปลอดภัย จึงแข็งค่ากลับมาที่ 140 เยนต่อดอลลาร์ ในปลายปี 2023 

พอขึ้นปี 2024 ความไม่สงบดูจะกลายเป็นเรื่องปกติของโลก และเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆเกือบทั้งหมดโลกที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าญี่ปุ่น เงินเยนจึงอ่อนค่าลงอีก มีกระตุกแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่อิหร่านกับอิสราเอลฮึ่มๆให้กัน และยิงโชว์แสดงแสนยานุภาพกันพอหอมปากหอมคอ ค่าเงินเยนก็กลับมาแข็งค่านิดหน่อย แต่พอทุกฝ่ายบอกว่า พอแล้ว สั่งสอนกันพอแล้ว ค่าเงินเยนก็กลับมาอ่อนค่าลงอีก 

กลุ่มผู้ลงทุนที่มีความสุขเพราะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ คือกลุ่มที่ทำแครี่เทรดค่ะ คือกู้เงินเยน ไปลงทุนในสกุลเงินอื่น ซึ่งข้อมูลจากบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดเทื่อเทียบกับเงินเยน คือเตอร์กิชลีร่า โดยได้ผลตอบแทนจากแครี่เทรดถึง 19% เม็กซิกันเปโซ ได้กำไรถึง 14% รูปีอินเดีย 13% หยวนจีน 9% อินโดนีเซียรูเปี๊ยะห์ 7% (ณ 26 เมษายน 2567)

อย่างไรก็ดี การประกาศเข้ามาแทรกแซงตลาดของทางการญี่ปุ่น หลังจากที่เงินเยนแตะระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ ในวันที่ 29 เมษายน ก็ทำให้เงินเยนกลับขึ้นมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในวันเดียวกัน และหลังจากนั้น ก็ขึ้นๆลงๆผันผวนแรงทุกวัน พวกแครี่เทรดจึงลำบากมากขึ้น

อีกสองปัจจัยที่ให้เงินเยนและเงินหลายๆสกุลที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐอเมริกาอ่อนค่า คือ การที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากปีนี้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีการรณรงค์ของทั้งสองฝ่ายว่าจะใช้นโยบายอเมริกามาก่อน ทำให้คนอเมริกันพยายามจำกัดตัวเองในการใช้สินค้านำเข้า ซึ่งปกติทำได้ไม่นาน เนื่องจากปกติคนอเมริกัน รักอิสระเสรี ไม่ชอบให้ใครมาชี้นำ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐยังไม่คิดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ก็ยิ่งทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆค่ะ

ค่าเงินเยนจะอ่อนไปถึงไหนไม่มีใครตอบได้ หากมองจากด้านเทคนิค ระยะสั้นน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 141-160 เยนต่อดอลลาร์ แต่หากมองถึงอำนาจซื้อ(Purchasing Power)แล้ว ค่าเงินเยนอ่อนเกินไปค่ะ ท่านที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นคงรู้สึกนะคะว่าราคาอะไรก็ดูจะถูกไปหมด นักวิเคราะห์ มองว่า เมื่อเทียบตามอำนาจซื้อ เยนอ่อนกว่าดอลลาร์สหรัฐ 25% และอ่อนกว่าเงินยูโร 40% 

การอ่อนตัวของสกุลเงินต่างๆนั้น โดยทั่วไปจะส่งผลผลดีในด้านการส่งออกสินค้าและบริการ ซึ่งเงินเยนก็เป็นเช่นนั้น ตอนนี้จึงมีนักท่องเที่ยวทั่วโลก หลั่งไหลเข้าไปเที่ยวญี่ปุ่นกันอย่างล้นหลาม CNBC รายงานว่าสี่เดือนแรกของปีนี้ ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในเดือนมีนาคมมากกว่า 3 ล้านคน เลยทีเดียว

แต่ก็ส่งผลด้านลบต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นพอสมควร เพราะอำนาจซื้อลดลง (เสมือนหนึ่งจนลง) โดยเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้า และการออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศก็ทำได้น้อยลง จะเที่ยวในประเทศก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากันจนแน่นขนัด รถสาธารณะไม่เพียงพอ เดือดร้อนพอสมควร 

ในความเห็นของดิฉันในฐานะนักท่องเที่ยวและนักลงทุน เงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาท เมื่อคิดตามอำนาจซื้ออ่อนค่ากว่าบาท ประมาณ 25-28% ค่ะ คืออัตราที่ประมาณ 100 เยน เท่ากับ 30 บาท ดูจะเหมาะสมเป็นธรรม