'พิชิต-สมศักดิ์' แบบอย่าง? ทำอย่างไรเข้าตา 'ทักษิณ'

'พิชิต-สมศักดิ์' แบบอย่าง? ทำอย่างไรเข้าตา 'ทักษิณ'

หลายคนคงตั้งข้อสงสัย และไม่เข้าใจว่า คนในพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครเพียบพร้อมเพียงพอแล้วหรือ จึงแต่งตั้งคนที่มีปัญหาคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งผลักดันบางคนที่ “ผิดฝาผิดตัว” ไปนั่งรัฐมนตรี ทั้งที่มีคน “ถูกฝาถูกตัว” นั่งอยู่ก่อนแล้ว แต่ดันปรับออก เกิดอะไรขึ้น?

อย่างกรณี แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโยก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จากรองนายกฯ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแทน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี

แต่ถ้ามองคนที่มี “บารมี” ตัวจริง เสียงจริง ในการจัดวางตำแหน่งปรับ ครม. “เศรษฐา 1/1” ครั้งนี้ จะรู้แจ้งเห็นจริงทันที ว่าเพราะอะไร ทำไมสองคนนี้ จึงเข้าตา

ความจริง ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย ถ้าดูจากการแสดงบทบาทของ “พิชิต” และ “สมศักดิ์” ในช่วงที่ นายทักษิณ ชินวัตร ถูกกระแสต่อต้าน โจมตี กรณีถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ตั้งแต่คืนแรกที่ส่งเข้าเรือนจำ กระทั่งได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ นั่นเท่ากับ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิน 3 คดี จำคุก 8 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี นั้น ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำ แม้แต่วันเดียว 

“พิชิต” มักออกมาปกป้อง “ทักษิณ” โดยอ้างเป็นไปตามกฎหมาย และสิทธิที่มีอยู่แล้วตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

ขณะที่ “สมศักดิ์” อาศัยเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบโต้ในเรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้ “ทักษิณ” รวมทั้งปฏิเสธการร่างระเบียบใหม่ เพื่อ “ทักษิณ” กรณีใช้สถานที่อื่นคุมขังนอกเรือนจำได้ ว่า เป็นกฎกระทรวงที่มีมาก่อนที่ตัวเองจะเข้าไปรับตำแหน่ง เพียงแต่ตัวเองเป็นผู้ลงนามเท่านั้น

รวมทั้งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างเชื่อมั่น ว่า “ทักษิณ”เข้าเกณฑ์ระเบียบใหม่ในการคุมขังนอกเรือนจำ และการได้รับ “พักโทษ”

อย่าลืม คนอย่าง “ทักษิณ” เป็นคนที่จดจำ “บุญคุณ” และ “ความแค้น” ได้แม่น จำได้หรือไม่ คำพูดที่ว่า จะพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคไทยรักไทยก่อน จนกลายเป็นกระแสถูกโจมตีเลือกปฏิบัติ “สองมาตรฐาน” มาแล้ว  

ลองคิดดู ช่วง “ทักษิณ” อยู่ในท่ามกลางถูกโจมตีอย่างหนัก เรื่อง “ป่วยทิพย์” เสมือน “นักโทษเทวดา” ที่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือนักโทษคนอื่น อาศัยช่องว่างระเบียบกรมราชทัณฑ์เอื้อประโยชน์ส่วนตัว ทำลายกระบวนการยุติธรรม 

ดูเหมือนคนที่ยอมมอบกายถวายหัวให้อย่างจริงจังก็มีเพียงสองคนนี้ คนอื่นแม้ว่าจะออกมาปกป้องบ้าง แต่ก็หลบเลี่ยงที่จะตอบให้ชัดเจนเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม ในรายของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่า “เสี่ยง” ผลักดัน ทั้งที่รู้ว่า อาจถูกร้องเรื่องคุณสมบัติ และความผิดจริยธรรมการเป็นรัฐมนตรี เพราะเคยถูกศาลตัดสินจำคุก 6เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

แม้เจ้าตัวยืนยันมาตลอดว่า ตัวเองไม่ขาดคุณสมบัติ ล่าสุด ตอบสื่อมวลชนสั้นๆ ว่า วันนี้ไม่ขอพูดอะไร วันอังคาร(7 พ.ค.)ประชุมครม.ค่อยพบกัน โดยในวันนั้นตนจะพูดทุกอย่างตามที่สื่อมวลชนถาม

ก่อนที่จะตอบถึงความหนักใจหรือไม่ ว่า “ตัวเบาหวิวเลย”

ส่วนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการ “ขาดคุณสมบัติ” การเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ 

น่าสนใจ กรณีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ก.ย.2566ตอบกลับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เนื้อหาระบุว่า 

คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทน สลค. และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่ามาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (7) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” ดังนั้น การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด จึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่ามาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้ การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทน สลค.ชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกาว่า ประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น

“อนึ่ง ข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น” ตอนท้ายของหนังสือกฤษฎีกา ระบุ

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สลค.ถามกฤษฎีกาประเด็นเดียวเรื่อง โทษจำคุก ซึ่งรับโทษพ้น 10 ปีมาแล้ว จึงไม่ขัดต่อ รธน. มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (7) 

ส่วนคุณสมบัติตาม มาตรา 160 (4) “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ (5) “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ไม่ได้ถาม 

ทั้งนี้ นายพิชิต เป็นทนายความครอบครัวชินวัตร เคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อปี 2551 ให้จำคุก 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา คดี “ถุงขนม 2 ล้านบาท” ฐานละเมิดอำนาจศาล ขณะเดียวกันก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทนายความด้วย จึงถูกร้องเรียนว่า ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5)

ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจากหนังสือตอบกลับของกฤษฎีการะบุในตอนท้ายดังกล่าว ทำให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต อาจต้องมีข้อยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

นอกจากนี้ตามประวัติ พิชิต จบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สาขากฎหมายมหาชน เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 34 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

เคยเป็นหัวหน้าทีมทนายความของ “ทักษิณ” ในการต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และตกเป็นข่าวดัง กรณีหิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งผลให้ศาลมีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล

ต่อมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “พิชิต” มีบทบาทในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และอยู่เบื้องหลังในการกลั่นกรองระเบียบกฎหมาย ในการสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรม จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารปี 2557 อีกทั้ง ทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีโครงการจำนำข้าวมาตลอด

เมื่อปี 2562 “พิชิต” ได้เป็นประธานที่ปรึกษากฎหมายของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย ก่อนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ทั้ง 13 คน โดย 1 ในนั้น คือนายพิชิต ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี 

ในช่วง “ครม.เศรษฐา 1” นายพิชิต ได้ประกาศไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี หลังมีชื่อเป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” พร้อมยืนยันว่าคุณสมบัติของตนเองครบถ้วนถูกต้องทุกประการ ไม่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามใดๆ และขอขอบคุณ ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่ให้โอกาส ที่เห็นความสำคัญของตนเองมาโดยตลอด ซึ่งการสละตำแหน่งของนายพิชิตในครั้งนั้น เจ้าตัวระบุว่า เพื่อต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ก็ไม่ได้แต่งตั้งคนในพรรคเพื่อไทยมานั่งแทน และยังเว้นว่างเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1 เก้าอี้ ไว้รอ จนกระทั่งวันนี้ 

อย่างนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก อาจอยู่ที่ การทำหน้าที่ของ “รัฐมนตรี” ที่ได้รับแต่งตั้งเพราะปกป้อง “นายใหญ่” จะเป็นไปเพื่อประชาชน และประเทศชาติ เป็นหลัก หรือ เพื่อใคร?