Satya Nadella กับการปรับกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์

Satya Nadella กับการปรับกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์

การมาไทยและประเทศอื่นๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วของ Satya Nadella เป็นข่าวดังไปทั่ว ชื่อของซีอีโอของไมโครซอฟท์เป็นที่สนใจในวงกว้างมากขึ้น

สาเหตุที่ทำให้การมาเยือนในครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากความเป็นซีอีโอของไมโครซอฟท์แล้ว ยังมาจากเครดิตและความน่าเชื่อถือของตัว Satya เอง ด้วย Satya ถือเป็นซีอีโอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคนหนึ่ง สามารถปลุกไมโครซอฟท์จากยักษ์ที่ใกล้หลับ เป็นยักษ์ตื่นเช่นในปัจจุบัน

ก่อนที่ Satya เป็นซีอีโอในปี 2557 ทิศทางและกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์มุ่งเน้นในเรื่องของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และการขายซอฟต์แวร์เป็นหลัก คงจำกันได้ถึงวิสัยทัศน์ไมโครซอฟท์ในอดีต คือ “Empowering people through great software anytime, anyplace, and on any device”

ไมโครซอฟท์ก็เหมือนธุรกิจอื่นคือ ความสำเร็จในอดีต สุดท้ายจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง และความสำเร็จในอดีตก็ไม่ได้รับประกันความสำเร็จในอนาคต ไมโครซอฟท์ยังเก่งและโชคดีที่ปรับเปลี่ยนได้ทันเวลา โดยเริ่มจากเลือก Satya Nadella มาเป็นซีอีโอ

Satya ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเดิม สิ่งที่ Satya มองว่าจะมีความสำคัญมากต่อไปในอนาคต คือ Cloud และความสำคัญของ Mobile ที่จะเชื่อมต่อทุกคนในโลกเข้าด้วยกัน ทิศทางของไมโครซอฟท์เปลี่ยนไปจากการทำให้มีซอฟต์แวร์บนอุปกรณ์ทุกชิ้น เป็น “Empower every person and every organization on the planet to achieve more”

จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ธุรกิจของไมโครซอฟท์เปลี่ยนโฉมไปอย่างมากมาย Satya ได้ปิดบางธุรกิจที่ได้รับสืบทอดมา เช่น ธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ซื้อมาจากโนเกีย ขณะเดียวกัน ก็เลือกที่จะเข้าไปลงทุนและมุ่งเน้นในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจคลาวด์ ที่นอกจากจะขายให้กับลูกค้าแล้ว ยังทำให้มั่นใจได้ว่าซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์สามารถถูกเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์บนโลก

ผลิตภัณฑ์หลักเดิมอย่างซอฟต์แวร์นั้น Satya ได้เปลี่ยน Business model จากเดิมที่จะขายเป็นระบบ License ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ Subscription ที่ทำให้ได้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นและสามารถคาดการณ์รายได้ในอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น

ส่วน Mobile นั้น เนื่องจากธุรกิจระบบปฏิบัติการของมือถือและแท็บเล็ตนั้น ไมโครซอฟท์พลาดพลั้งให้กับ iOS และ Android ไปแล้ว ดังนั้น แทนที่จะแข่งก็เปลี่ยนมาร่วมมือกับทั้งสองค่ายและทำให้ Office สามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นในทั้งสองระบบปฏิบัติการ

ในบางธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและไม่สามารถพัฒนาจากภายในขึ้นมาได้ Satya ก็เข้าไปซื้อบริษัทในธุรกิจดังกล่าวเสีย ไม่ว่าจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์สำหรับคนทำงานอย่าง LinkedIn ที่ทำให้ไมโครซอฟท์เข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก หรือ Activision Blizzard ผู้ผลิตเกมชื่อดังของโลก ที่เข้ามาช่วยทั้งเสริมธุรกิจเดิมที่ไมโครซอฟท์มีอยู่ และจับจองธุรกิจเกมที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต

หรือการเข้าไปลงทุนใน OpenAI ที่ทำให้ไมโครซอฟท์กลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้าน AI ของโลก และสามารถนำ AI เข้ามาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์เดิมของตนได้

เมื่อมีกลยุทธ์ก็ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภายในตัวองค์กรด้วย โดยก่อนที่ Satya เป็นซีอีโอนั้น บรรยากาศและวัฒนธรรมในการทำงานจะเป็นการแข่งขันภายใน เพื่อแย่งชิงทรัพยากรมากกว่าความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์หรือ Product-Centric ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

หัวใจสำคัญที่ Satya ทำเพื่อปรับเปลี่ยนไมโครซอฟท์ คือการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานของบริษัท ให้มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานมากขึ้น และมุ่งเน้นที่ตัวลูกค้าเป็นสำคัญ โดย Satya ได้นำแนวคิดในเรื่องของ Growth Mindset มาใช้

พนักงานสามารถที่จะเสี่ยงและทดลองในสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้จากความล้มเหลว กล้าที่จะตั้งคำถามและพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา มีการปรับโครงสร้างเพื่อให้มีการทำงาน สื่อสาร และแบ่งปันความรู้ร่วมกันระหว่างแต่ละหน่วยงานภายใน

ผลของการเปลี่ยนแปลงทั้งกลยุทธ์และตัวองค์กรเองของ Satya พิสูจน์ได้จากผลประกอบการของไมโครซอฟท์ ที่ปัจจุบันไมโครซอฟท์ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลกบริษัทหนึ่ง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Satya ได้รับการยอมรับจากทั้งแวดวงธุรกิจและผู้นำประเทศต่างๆ