แม่ทัพหญิง ชูสูตรเพิ่มขีดสามารถ ‘การศึกษา คน-คุณค่า เทคโนโลยี’ พาไทยแข่งโลก

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ฉลอง 60 ปี จัดสัมมนา “60 Years OF EXCELLENCE” ด้วยแนวคิด Creating Great Leaders, Designing the Future ในงานมีประเด็นมากมายที่หยิบยกมาแบ่งปัน จากวิทยากรหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรธุรกิจ
วานนี้(17 ก.ย.67)TMA ชูประเด็น “Building a Competitive Nation” และดึงหัวข้อ “The Soft Power” พร้อม 3 แม่ทัพธุรกิจหญิงเก่งมาให้มุมมองเกี่ยวกับการใช้อำนาจละมุนหรือ Soft Power เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า ห้วงเวลานี้ผู้คนเข้าใจคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” เพียงมิติด้านวัฒนธรรม(soft side) ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่นั้น เพราะอำนาจละมุนคือสิ่งที่ทำให้มี “อิทธิพลเหนือคนอื่นโดยไม่ต้องใช้กำลัง” และนิยามความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยังมีถึง 7 เสาหลักครอบคลุมด้านต่างๆ 1.ธุรกิจและการค้า(Business&Trade) 2.ความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล(Governance) 3.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(International Relations) 4.วัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมา(Culture&Herritage) 5.สื่อและการสื่อสาร(Media&Communication) 6.การศึกษาและวิทยาศาสตร์(Education&Science) และ7.คนและคุณค่า(People&Value)
“7 เสาหลักมีความสำคัญที่จะเชื่อมประสานให้ซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆเกิดผลกระทบเชิงบวกมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ หากหยิบยกสิ่งที่จะช่วยให้ “ประเทศไทย” มีขีดความสามารถด้านแข่งขันได้ “การศึกษา” เป็นเสาหลักสำคัญมาก เพราะถือเป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ การเพิ่มขีดความแข่งขันกับโลก มีผลต่อสังคม ความเหลื่อมล้ำ การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยี
ทว่า เจาะลึกการศึกษาไทย กลับเผชิญความท้าทาย เพราะสถิติการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของคนไทยหรือระดับอุดมศึกษา ที่มีผลต่อการเพิ่มทักษะในตลาดกลับ “ลดลง” ต่อเนื่องรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และประชากรที่ได้รับการศึกษาของไทยยัง “ต่ำ” เพียง 16% เทียบค่าเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 28% ยิ่งเทียบกับเกาหลีใต้ประเทศที่ทรงพลังด้านซอฟต์พาวเวอร์อยู่ที่ 69% ญี่ปุ่น 65% เป็นต้น
“ประชากรไทยเข้าถึงการศึกษาระดับปริญญาน้อยลงจนน่าตกใจ ซึ่งคนที่จบปริญญาตรีจะมีรายได้เฉลี่ย 2.3-2.7 หมื่นบาทต่อเดือน จะมีโอกาสต่างๆ ที่สำคัญเมื่อไม่มีการศึกษา เราจะไม่มีปัญญา”
ด้าน ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จาก 7 เสาหลักซอฟต์พาวเวอร์ บริษัทมองเรื่อง “คนและคุณค่า” เป็นพลังขับเคลื่อนขีดความสามารถได้ เพราะช่วยสร้าง “โอกาส” ที่เปรียบเสมือนออกซิเจนที่ให้ความสดชื่นในองค์กร และผู้คนทำงานอย่างเป็นสุข
“บีเจซี บิ๊กซี” มีพนักงานกว่า 5.5 หมื่นคน ใน 7 ประเทศที่มีฐานทัพธุรกิจอยู่ ทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฮ่องกงและจีน
บริษัทให้ความสำคัญเรื่องคนและสร้างคุณค่าด้วยการเปิดกว้างรับ “ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก” หรือ DEI : Diversity, Equity and Inclusion
จากงานวิจัยของ Deloitte ระบุว่า ความหลากหลายทางความสามารถช่วยเพิ่มนวัตกรรมได้สูงขึ้น 20% และช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจได้ 30% ด้าน Mckinsey ศึกษา 366 องค์กรตัวอย่างพบว่าองค์กรที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและชาติพันธุ์ จะมีผลประกอบการที่ดีกว่าถึง 35% ขณะที่ความหลากหลายทางเพศส่งผลที่ 15% ยังมีผลสำรวจจาก Glassdoor พบว่า 67% ของผู้สมัครงานใช้ความหลากหลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเลือกองค์กร
นอกจากปัจจัยข้างต้น การเพิ่มขีดแข่งขันได้ “วิธีการคิด”หรือ Mindset ที่เปิดกว้างเป็นอีกองค์ประกอบที่จะขจัดอุปสรรค หาทางออกเมื่อเผชิญโจทย์ยากต่างๆ
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า หากมองประเทศไทยเหมือนบริษัท และต้องหา New S-curve เพื่อสร้างการเติบโต ต้องให้ความสำคัญกับ “เทคโนโลยี-นวัตกรรม” อย่างมาก นอกจากนี้ ภาพประเทศต้องมีโมเดลธุรกิจ ที่จะขับเคลื่อนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นสุภาพหรือ เมดิคัล เฮลธ์แคร์ เวลเนสต่างๆ การยกระดับธุรกิจการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งไทยมีแต้มต่อในการแข่งขัน
“เทคโนโลยี นวัตกรรม จะช่วยค้นหา New S-curve และไม่ใช่เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถแข่งขัน แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างให้แคบลงด้วย”