หวั่นวีซ่า ‘DTV’ ค่าธรรมเนียม ‘หมื่นบาท’ สะเทือนยอดขายบัตร ‘ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด’

หวั่นวีซ่า ‘DTV’ ค่าธรรมเนียม ‘หมื่นบาท’ สะเทือนยอดขายบัตร ‘ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด’

บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ยื่นเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์ของบัตรสมาชิก “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” เพื่อยกระดับบริการ เพิ่มความสะดวกสบายแก่สมาชิกผู้ถือบัตร ทำให้ตัวบัตรแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น!

มนาเทศ อันนวัฒน์ เพรสซิเดนท์ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2568 ถือว่ามีความท้าทายอย่างมากเรื่องยอดขายบัตรสมาชิก ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง หลังได้รับผลกระทบจากที่ “กระทรวงมหาดไทย” ประกาศเพิ่มการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทใหม่ “Destination Thailand Visa” (DTV) อนุญาตให้ชาวต่างชาติพำนักอยู่ในประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว และทำงานทางไกลเป็นกรณีพิเศษ สามารถพำนักในไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน และต่อได้อีกไม่เกิน 180 วัน ต้องรายงานตัวทุกๆ 90 วัน อายุการตรวจลงตรา 5 ปี มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนส.ค.2567 โดยจ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่า DTV เริ่มต้นเพียง 10,000 บาท

ขณะที่บัตรสมาชิกไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ประเภท Bronze Card มีค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 650,000 บาท สำหรับอายุการเป็นสมาชิก 5 ปี ราคาถูกสุดในบัตรสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ 5 ประเภท (Bronze, Gold, Platinum, Diamond และ Reserve) ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทย 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีความต่างกับวีซ่า DTV ตรงที่ไม่ต้องรายงานตัวทุกๆ 90 วัน

เมื่อราคาต่างกันมาก แต่ได้วีซ่าพำนักในไทย 5 ปีเหมือนกัน จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายบัตรสมาชิกของบริษัท หากมองในภาพรวมเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลอยากได้ชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาอยู่ในไทยระยะยาวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้อนรับ “ดิจิทัล นอแมด” (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนทำงานผ่านระบบออนไลน์ สามารถทำงานที่ใดในโลกก็ได้ แต่จากความตั้งใจจะดึงคนนอกประเทศเข้ามาในไทย ดันกลายเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยอยู่แล้ว ไปสมัครวีซ่า DTV บินออกนอกประเทศแล้วกลับเข้ามาใหม่ จริงๆ ถ้าภาครัฐเพิ่มเงื่อนไขว่าให้พำนักได้สูงสุด 180 วัน สามารถต่อได้อีกสูงสุด 30 วัน และ 180 วันก่อนหน้านี้ต้องไม่ได้พำนักในไทย จะได้ชาวต่างชาติที่เป็นคนใหม่ล้วนๆ

“ที่ผ่านมามาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) แก่ชาวต่างชาติจาก 93 ประเทศ/ดินแดน สามารถพำนักในไทยได้ไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ และทำงานระยะสั้น แทบจะไม่ค่อยมีผลกระทบต่อยอดขายบัตรสมาชิกไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด แต่วีซ่า DTV ถือว่ามีผลกระทบมาก บริษัทจึงอยากให้รัฐบาลมีการบูรณาการเรื่องวีซ่าต่างๆ เพราะปัจจุบันวีซ่าใหม่ออกมาก็ฆ่าวีซ่าเก่าๆ ควรจะมีหน่วยงานกลางคอยกำกับดูแล เพื่อไม่ให้วีซ่าประเภทต่างๆ มาฆ่ากันเอง แบ่งแยกไม่ให้ทับซ้อนกัน ไม่ไปกินกันเอง

ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว มองว่าทีมงานบริษัท เก่งมากแล้วที่สามารถรักษายอดขายบัตรสมาชิกเอาไว้ได้เมื่อปีที่แล้ว แต่ในปี 2568 นับว่าท้าทายมากเรื่องยอดขาย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อการกำหนดเป้าหมายยอดขาย โดยเฉพาะวีซ่า DTV ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวต่างชาติ! หากข้อเสนอของบริษัท เรื่องยกระดับสิทธิประโยชน์แก่สมาชิกผู้ถือบัตรได้รับการอนุมัติจาก ครม. อย่างน้อยก็เป็นข่าวดีที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายได้

มนาเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ถ้าให้คาดการณ์รายได้ขั้นต่ำในปี 2568 จากการทยอยรับรู้รายได้ คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งในเชิงรายได้ และกำไร

เฉพาะกำไรเมื่อปีที่แล้วเติบโตถึง 68% เพราะสามารถขายบัตรสมาชิกได้จำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยย้อนไปเมื่อปี 2565 บริษัท สามารถขายได้ 3,700 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในปี 2566-2567 มียอดขายรวมกว่า 15,000 ล้านบาท เติบโต 300-400% พอมาทยอยรับรู้รายได้ เลยโตสูงมาก

นอกจากนี้ยังมีการบริหารต้นทุนที่ดีด้วย ควบคู่กับการดีไซน์บัตรสมาชิกแบบใหม่ การปรับราคาบัตรขึ้นซึ่งมีการปรับต้นทุนสูงตามไปด้วย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ได้เอง

“ปัจจุบันมีฐานสมาชิกผู้ถือบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด 37,600 คน เป็นสมาชิกแบบตลอดชีพ 2,500 คน สัดส่วนการใช้งานบัตร 72% แอคทีฟมีการเคลื่อนไหวตลอด ใช้จ่าย 1.4 ล้านบาทต่อคนต่อปี เดินทางเข้าไทย 3 ครั้งต่อปี อาศัยอยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งปี หรือจำนวน 300 กว่าวันต่อปี ทำให้ในแต่ละปีเรามีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์