เปิดภารกิจคืนชีพ ‘ดาราเทวี เชียงใหม่’ ชี้ข้อสังเกตไฟไหม้ ‘ผิดธรรมชาติ’

มหากาพย์ความขัดแย้งเกี่ยวกับโรงแรม “ดาราเทวี เชียงใหม่” แลนด์มาร์กชื่อดังในภาคเหนือ ยืดเยื้อถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะปมที่ดินแปลงใหญ่กว่า 150 ไร่ ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนทันทีหลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2568เวลา 02.00 น.
“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมสัมภาษณ์ สุพรรณ เศษธะพานิช กรรมการและผู้บริหาร บริษัท สยาม เอสเตท ดาราเทวี จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า (JV) ระหว่างบริษัท สยามเอสเตท กับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (IThermal) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ IFEC โดยได้ประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ (ตั้งบนพื้นที่หลัก 80 ไร่) เมื่อปลายปี 2566 มาในราคา 2,400 ล้านบาท และสามารถปิดการโอนที่ดินได้ตอนกลางปี 2567
สุพรรณ เศษธะพานิช กรรมการและผู้บริหาร บริษัทสยาม เอสเตท ดาราเทวี จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี ได้รับความเสียหายน้อยมาก เฉพาะอาคารสปาเท่านั้น “ไม่ได้ไหม้เสียหายทั้งโรงแรม”
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ค่อนข้างผิดธรรมชาติ เพราะอาคารเหล่านี้ไม่ได้ใช้งานมานาน 6-7 ปีแล้ว ภายในอาคารไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ส่วนที่เห็นว่ามีการใช้ไฟ เป็นการต่อไฟเพื่อให้แสงสว่างชั่วคราวบริเวณด้านหน้าและรอบอาคาร”
ที่ได้รับรายงานเกิดเหตุเพลิงไหม้ ค่อนข้างจะไวและลุกลามเร็วมาก จุดต้นเพลิงที่ได้รับรายงานมานั้น อยู่ในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเป็นพื้นซีเมนต์บอร์ดโครงเหล็ก มีไม้เนื้อแข็งเป็นเสาและพื้นบางส่วน โอกาสที่จะเกิดการลัดวงจรจากไฟแสงสว่างนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะตรงนั้นมีเบรกเกอร์ ไฟแสงสว่างทั้งหมดผ่านเบรกเกอร์ ถึงแม้จะไม่ได้ผ่านตู้คอนโทรลไฟ แต่มีเบรกเกอร์ตัดไฟ
นอกจากนี้ พยานที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะชาวบ้านแถบนั้น ได้แจ้งว่ามีเสียงระเบิดติดต่อกันต่อเนื่องเป็น 10 ครั้ง ซึ่งตรงนี้แปลกมาก เพราะว่าในพื้นที่ตรงนั้นไม่น่าจะมีวัสดุหรือเครื่องมือใดๆ ที่ทำให้เกิดเสียงระเบิดเหมือนที่ชาวบ้านให้ข้อมูล
“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเหตุไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี เป็นเรื่องผิดธรรมชาติ”
สุพรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่ บริษัท สยาม เอสเตท ดาราเทวี จำกัด เข้ามาบริหารพื้นที่โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ เราเจอขบวนการหลายมิติ โดยมิติหนึ่งที่น่าจะได้เห็นกันคือขบวนการการให้ข่าวให้ร้ายผม อย่างเช่น เหตุไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี แรกเลยมีความพยายามบิดเบือนว่า เราเองเป็นคนวางเพลิงเพื่อเอาเงินประกัน แต่พอทราบเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คปภ. แจ้งชัดเจนว่าเราไม่ได้ทำประกันโรงแรมดาราเทวี จากนั้นก็พยายามบิดเบือนต่อว่าเป็นเพราะเราบริหารใช้ระบบสาธารณูปโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน”
นอกจากนี้ ยังมีขบวนการฟ้องกลั่นแกล้งในลักษณะใช้เทคนิคทางกฎหมาย “แตกคดี” โดยปัจจุบันบริษัท สยาม เอสเตท ดาราเทวี รวมทั้งคู่ค้า ได้รับคดีฟ้องร้องรวมประมาณ 20 คดีแล้ว อาจเป็นธรรมชาติของการกลั่นแกล้ง
ผมเชื่อว่าทั้งขบวนการการให้ข่าว และขบวนการกลั่นแกล้งเชิงกฎหมายอาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้นเรายังมีหลักฐานพอที่จะเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งกลุ่มบุคคลทั้งหมดอาจจะอยู่ภายใต้การบงการของ “บุคคลคนหนึ่ง” ซึ่งเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรืออาจเป็นผู้ที่อยากจะได้ประโยชน์ในทางไม่พึงชอบ กับการเข้ามาบริหารโรงแรมดาราเทวีของเรา
สำหรับแนวทางการพิสูจน์หาความจริงในพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการพิสูจน์หลักฐาน โดยเราได้ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนไปหมดแล้ว
ส่วนเรื่องที่ผมมองว่ามีการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งนั้น อยากจะขอโอกาสนี้เรียนขอความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม เพราะเวลาที่ผู้ดูเสมือนเป็นผู้เสียหายมากล่าวหากันนั้น บางรายที่ใช้สิทธิฟ้องผม ณ ขณะนี้ถือหุ้นอยู่ 1 หุ้น และก็แตกโจทก์มาฟ้อง รวมๆ กันแล้วกว่า 20 คดี
“ในมุมผม ผมเป็นนักธุรกิจ ไม่อยากเจอการกระทำลักษณะแบบนี้ อยากเดินหน้าพัฒนาพื้นที่โรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ เพราะการฟ้องกันแบบนี้ หรือทำให้สะดุดโดยใช้เทคนิคทางกฎหมาย ผมมองว่าไม่สร้างสรรค์กับการทำงาน”
ส่วนกลุ่มบุคคลดังกล่าว มั่นใจว่าเชื่อมโยงไปยัง “บุคคลคนหนึ่ง” ซึ่งอาจมีอำนาจในการคอนโทรลนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยกลุ่มบุคคลที่ได้กล่าวถึง โดยในตอนนี้ได้ให้การและมอบหลักฐานเอกสารต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว
“ด้านกลุ่มบุคคลที่ขณะนี้พยายามเป็นศูนย์กลางของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ผมขอฝากคำถามไปถึงกลุ่มบุคคลนั้นว่าจริงๆ แล้วกำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ เพราะผมไม่เชื่อว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย IFEC ในวันนี้กับเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว จะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน เพราะ IFEC ในวันนี้ถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแล้ว”
ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่ได้ขายหุ้น IFEC ไปหมดแล้ว ผมจึงคิดว่ากลุ่มผู้ถือหุ้น IFEC วันนี้กับเมื่อแรกๆ 6-7 ปีก่อน เป็นคนละกลุ่มกันแล้ว ผู้ถือหุ้นรายเดิมที่เหลืออยู่คงมีไม่มากแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มเจ้าหนี้ของ IFEC ก็ได้ไปยื่นชื่อตัวเองในแผนฟื้นฟู และทยอยได้รับการชำระแล้ว
สุพรรณ มองว่า เหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรมดาราเทวี ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ “ความเชื่อมั่น” ของโรงแรมอย่างมาก เพราะอยู่ๆ ไฟก็ไหม้ มีข่าวดิสเครดิตตลอดเวลา เช่น เรื่องกาดดาราเทวี ร้านอาหาร ระบบสาธารณูปโภคที่โรงแรมมี ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารพื้นที่โรงแรมดาราเทวี “เราพยายามทำดีที่สุด” เพื่อสร้างประโยชน์แก่ธุรกิจและชุมชนในเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้ กังวลว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจจะไม่หยุดแค่นี้ และอาจจะมาเรื่อยๆ เป็นจุดตัดสินใจที่ผมต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในสาธารณะ ไม่เช่นนั้นผมอาจจะต้องอยู่ภายใต้เกมที่เขาพยายามปั่นป่วนตลอดเวลา
“แต่ชีวิตต้องมูฟออน ต้องดำเนินธุรกิจต่อไป ไม่ถอย พร้อมเดินหน้ารีโนเวตโรงแรมดาราเทวี เชียงใหม่ เพราะเป็นมรดกของจังหวัดเชียงใหม่ และอาจเป็นมรดกของชาติ”
สถานที่นี้เป็น “สถานที่ทรงคุณค่า” อย่างมาก การที่เราเข้ามาบริหารโรงแรมดาราเทวี เพราะเรามีเจตนาพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้เชื่อมโยงกับสังคมและชุมชนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิด “กาดดาราเทวี” ซึ่งเป็นตลาดบนพื้นที่สนามหญ้าของโรงแรมเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยเราอยากเปิดให้คนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวมาชื่นชมอารยะเหล่านี้
นับจากนี้พื้นที่ในส่วนของโรงแรมดาราเทวี จะเปิดสู่ชุมชนมากขึ้น ส่วนที่เราจะทำในเชิงพาณิชย์ อาทิ ร้านอาหาร กาดดาราเทวี และจะมีการจัดอีเวนต์ประจำ นับเป็นโอกาสของคนเชียงใหม่ได้มาชื่นชมสถานวัตถุที่สวยงาม จากสมัยก่อนที่อาจไม่มีโอกาส
ขณะเดียวกันเรามองว่าการกลับมาเปิดตัวโรงแรมดาราเทวีอีกครั้ง ควรจะเอื้อแก่ชุมชนและคนรอบๆ ข้าง ให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้ามาวางของขายและแสดงศิลปหัตถกรรม เปิดคอร์สสอนด้วยก็มี
“ส่วนแผนในระยะยาว เราจะมุ่งเน้นการรีโนเวตโรงแรม และคืนความเป็นโรงแรมดาราเทวีกลับให้เชียงใหม่ เพราะโรงแรมที่มีลักษณะเหมือนโรงแรมดาราเทวีนั้น ผมมองว่าหายากในประเทศไทย โดยภายในปีนี้จะทยอยเปิดโรงแรมในแต่ละส่วนมากขึ้น ซึ่งต้องขอเชิญชวนล่วงหน้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสกับความวิจิตรของที่พักและโรงแรมลักษณะนี้” สุพรรณ กล่าวปิดท้าย