‘พลังงาน’ จ่อขยับ เพดานดีเซล 32บาท หวั่นกองทุนน้ำมันติดลบ ‘แสนล้าน’ เม.ย.นี้
สนพ.เผยภูมิรัฐศาตร์ป่วนราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เงินบาทอ่อนดันต้นทุนดีเซลเพิ่ม 0.72 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันอุ้มดีเซลวันละ 308 ล้าน สถานะติดลบ 8.9 หมื่นล้าน คาด เม.ย.ติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท จับตา “พีระพันธุ์” ทยอยปรับขึ้นเพดานอุ้มดีเซลจาก 30 บาท ขึ้นเป็น 32 บาท
KEY
POINTS
- สนพ. ระบุ ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 81.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- "พลังงาน" เผย น้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว และยังคงคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2567 ที่วันละ 2.25 ล้านบาร์เรล
- ฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 18 ก.พ.2567 สินทรัพย์รวม 29,335 ล้านหนี้สิน 119,217 ล้านบาท ติลบสุทธิ 89,882 ล้าน
- "พลังงาน" จ่อเสนอ "พีระพันธุ์" ปรับเพดานขึ้นราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร หลังกองทุนน้ำมันฯ ติดละใกล้แสนล้าน
กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงทรงตัวในระดับสูงจากความกังวลด้านอุปทานในตะวันออกกลางหลังสถานการณ์ความขัดแย้งยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มฮูตีได้โจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในทะเลแดงอีกครั้ง ขณะที่ด้านการสู้รบในฉนวนกาซาที่อิสราเอลยื่นคำขาดให้ฮามาสปล่อยตัวประกันภายใน วันที่ 10 มี.ค.2567
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ให้จับตาโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งล่าสุดหัวหน้าของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency IAEA) ที่ระบุว่า อิหร่านยังคงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกินความจำเป็นในการใช้นิวเคลียร์เชิงพาณิชย์แม้ว่าสหประชาชาติจะกดดันให้หยุดก็ตาม
นอกจากนี้ ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 12-18 ก.พ.2567) ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 81.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส เฉลี่ยที่ 77.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ (OPEC) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2567 ขึ้นจากระดับ 2.6% มาอยู่ที่ระดับ 2.7% หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มชะลอลง โดย OPEC ยังคงคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2567 ที่วันละ 2.25 ล้านบาร์เรล
สำหรับสถานการณ์ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เฉลี่ยที่ 101.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยที่ 109.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.30 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36.17 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.87 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.72 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของกลุ่มเบนซินและดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.31 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 18 ก.พ.2567 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 29,335 ล้านบาท หนี้สิน 119,217 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 89,882 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 43,275 ล้านบาท บัญชี LPG 46,607 ล้านบาท โดย สนพ.จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานใกล้ชิด เพื่อให้ราคาสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นธรรมทุกภาคส่วน
ห่วงกองทุนน้ำมันติดลบแสนล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกส่งผลให้กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรองรับสถานการณ์อย่างเข้มข้น ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ ติดลบใกล้ทะลุ 100,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งเชื่อว่าช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2567 ติดลบทะลุแน่นอน เพราะดูแนวโน้มแล้วกองทุนน้ำมันฯ ควักอุดหนุนเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ม.ค.2567 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน จะครบกำหนดวันที่ 19 เม.ย.2567 ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ 6 พันล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังอาจไม่ต้องการลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันเงินตรงนี้
ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะต้องเตรียมแผนรับมือหรือสมมติฐานทุกด้านเพื่อเสนอนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมหาทางออก
เสนอปรับเพดานดีเซล32บาท
แหล่งข่าว กล่าวว่า ยอมรับว่าหนักใจแทนกองทุนน้ำมันฯ เหมือนกัน เพราะจากสภานการณ์ตอนนี้ถ้าสภาพคล่องยังเป็นแบบนี้ต่อให้กระทรวงการคลังขยายเพดานการกู้เงินให้กังวลว่าจะไม่มีธนาคารไหนปล่อยเงินกู้เพิ่มให้ เพราะสภาพคล่องไม่ดี ธนาคารเองต่างเริ่มวิตกกังวล เพราะกองทุนน้ำมันฯ เริ่มย่ำแย่ โดยควักเงินอุ้มราคาดีเซลวันละ 308 ล้านบาท พร้อมจ่ายดอกเบี้ยราวเดือนละเกือบ 200 ล้านบาท
“ช่วงที่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ไม่ควรยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แต่ฝ่ายนโยบายอยากให้อุ้มราคาเบนซิน รวมถึงมาตรการลดราคาดีเซลลงไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เมื่อสะสมมาเริ่มทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพแย่ลงและเริ่มติดหนี้สูงขึ้นเกือบจะทะลุ 1 แสนล้านบาทอีกรอบแล้ว ซึ่งคงถึงเวลาที่กองทุนน้ำมันฯ ควรขยับมาตรการตรึงราคาดีเซลมาที่ 32 บาทต่อลิตร” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า กองทุนน้ำมันฯ เตรียมแผนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหลายรูปแบบ ซึ่งแผนมีทั้งการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลคงเดิมที่ 30 บาทต่อลิตร และการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลระดับไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ทั้งนี้ ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ เบิกเงินกู้เข้าบัญชีแล้ว 80,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งยังเหลือเงินเข้าบัญชีอีกราว 30,000 ล้านบาท จากการที่กระทรวงการคลังอนุมัติค้ำประกันการกู้เงินให้ที่ 105,000 ล้านบาท โดยหลัก ๆ เป็นการเบิกมาชำระให้กับคู่ค้าน้ำมันมาตรา 7
“สถานการณ์นี้หลังจากวันที่ 31 มี.ค.2567 อาจต้องขึ้นราคาดีเซลจากไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะมีสมมุติฐานไว้หมดแล้ว แต่แนวทางครั้งนี้จะต่างกับที่ผ่านมาตรงที่ไม่ใช่วิกฤติด้านราคา เพราะราคาน้ำมันไม่สูงมากเกินไปเท่าช่วงหลังโควิดคลี่คลาย แต่ที่ต้องขึ้นราคาเพราะมีวิกฤติสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯ ดังนั้นต้องปรับราคาดีเซลและขึ้นกับรัฐบาลจะเลือกข้อเสนอไหน” แหล่งข่าว กล่าว
คาด“คลัง”ไม่ต่ออายุลดภาษีดีเซล
ทั้งนี้ ยอมรับว่าก็เข้าใจกระทรวงการคลัง หากจะไม่ต่อลดภาษีน้ำมันดีเซลให้กับกองทุนน้ำมันฯ อีก เพราะกระทรวงการคลังก็มีเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้เข้าคลังเหมือนกัน ทุกหน่วยงานก็มีเป้าหมายของตัวเอง เพราะภาษีประเทศไทยที่จัดเก็บนอกจากภาษีสุราแล้วก็มีภาษีน้ำมันที่เหมือนจะจัดเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น อาจถึงเวลาที่กระทรวงพลังงานจะพึ่งแต่กระทรวงการคลังคงเป็นไปไม่ได้
รายงานข่าว ระบุว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นเร็ว เพราะเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.2565 จนเป็นวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงมาต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง และกระทบค่าครองชีพประชาชน ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจ
ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ปี 2565 เฉลี่ยที่ 135.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 74.26% ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาสนับสนุนมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบ อาทิ ทยอยปรับราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากเดิมตรึงราคาตั้งแต่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึงวันที่ 31 มี.ค.2567
“พีระพันธุ์”กัดฟันตรึงค่าไฟฟ้า
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 จะหาทางให้อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ไม่สูงถึงหน่วยละ 4.68 บาท ถึงแม้จะมีปัจจัยลบจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาการขุดก๊าซจากอ่าวไทยที่หายไปจำนวนมากทำให้ต้องนำเข้าก๊าซที่มีราคาแพงมาชดเชยช่วงดังกล่าว แต่เมื่อทุกฝ่ายช่วยกันบริหารจัดการทำให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท และยืนอัตราหน่วยละ 3.99 บาทสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากอัตราค่าไฟฟ้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มากนัก
ทั้งนี้ กกพ.จะปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับการกำหนดค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนเม.ย. 2567 นี้ ก็จะต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับงวดต่อไปคืองวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567 กันใหม่อีกในเร็ว ๆ นี้