ธุรกิจ-อีคอมเมิร์ซ บูม ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ซื้อสินค้าเพียงปลายนิ้วสัมผัส

ธุรกิจ-อีคอมเมิร์ซ บูม ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ซื้อสินค้าเพียงปลายนิ้วสัมผัส

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย คนไทยซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ กว่า 67% ดันธุรกิจธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เติบโตต่อเนื่อง  คาด!! มูลค่าตลาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ตลอดปี 2567 แตะ 7 แสนล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยข้อมูลธุรกิจที่น่าจับตามองไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโต ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความสะดวกสบาย ความคุ้มค่าในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค และบริการต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เข้าถึงสินค้าและบริการเพียงปลายนิ้วสัมผัส

โดยข้อมูลจาก www.datareporter.com (Digital 2024 : Thailand) พบว่า ปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต 63.21 ล้านคน (88%) ใช้งานเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้งานมากที่สุด คือ Facebook, LINE และ TikTok ตามลำดับ เพื่อติดต่อครอบครัวและเพื่อน ติดตามข่าวสาร และซื้อสินค้าออนไลน์ โดยคนไทยใช้แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซซื้อสินค้าและบริการสูงถึง 66.90%

“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า   ‘อี-คอมเมิร์ซ’ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ชนิด ‘แรงไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่’ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมากที่สุด คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง การเปิดใจรับเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันทั้งการดำรงชีวิตและเป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวก

โดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้คนเปลี่ยนมุมมอง ‘นึกถึงสุขภาพร่างกายที่ดี ที่เป็นความมั่นคงที่แท้จริง พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต’ ส่งผลให้คนไทยมีจำนวนการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น  

ธุรกิจ-อีคอมเมิร์ซ บูม ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ซื้อสินค้าเพียงปลายนิ้วสัมผัส    

ความนิยมที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน

-ปี 2561 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 310 ราย ทุนจดทะเบียน 545.00 ล้านบาท

- ปี 2562 จัดตั้ง 576 ราย เพิ่มขึ้น 266 ราย หรือ 85.81% ทุน 772.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 227.05 ล้านบาท หรือ 41.66%

- ปี 2563 จัดตั้ง 798 ราย เพิ่มขึ้น 222 ราย หรือ 38.55% ทุน 1,177.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 405.20 ล้านบาท หรือ 52.49%

- ปี 2564 จัดตั้ง 1,404 ราย  เพิ่มขึ้น 606 ราย หรือ 75.94% ทุน 1,800.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 623.16 ล้านบาท หรือ 52.94%

-ปี 2565 จัดตั้ง 1,459 ราย เพิ่มขึ้น 55 ราย หรือ 3.92% ทุน 1,922.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 122.15 ล้านบาท หรือ 6.79%

- ปี 2566 จัดตั้ง 1,713 ราย เพิ่มขึ้น 254 ราย หรือ 17.41% ทุน 2,270.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 348.28 ล้านบาท หรือ 18.12%

“ปี 2566 มูลค่าตลาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย อยู่ที่ 6.34 แสนล้านบาท คาดปี 2567 มูลค่าตลาดจะแตะ 7 แสนล้านบาท แรงหนุนมาจากคนไทยแห่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และคาดว่า ปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.94 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และ ปี 2568 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.50 แสนล้านบาท ”นางอรมน ระบุ

นางอรมน กล่าวว่า  ปัจจุบันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 43,704.22 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่  กรุงเทพมหานคร 2,626 ราย นนทบุรี 534 ราย  สมุทรปราการ 386 ราย ปทุมธานี 386 ราย และ เชียงใหม่ 319 ราย 

จากการที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์และมีอัตราการเติบโตตาม ได้แก่ 1. ธุรกิจขนส่ง (Logistics) เป็นธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญของการค้าปลีกออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งขั้นสุดท้าย หรือ Last-Mile Delivery จากการขยายตัวของฐานผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยในปี 2565 - 2566 มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เติบโตเฉลี่ย 4.50% และคาดว่าจะเติบโตตามธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 

2.ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) ธุรกิจคลังสินค้าสมัยใหม่ที่มีรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจร (Fulfillment Center) มีศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงห้องเก็บความเย็น ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์ 

3. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Package) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ขยายตัวควบคู่กับการเติบโตของค้าปลีกออนไลน์ เน้นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือพลาสติกรีไซเคิล โดยปี 2563 - 2566 มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ เติบโตเฉลี่ย 9.51% 

4. ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ (Digital Ads) การโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มเติบโตควบคู่ไปกับการขายปลีกออนไลน์ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านการซื้อสินค้าและบริการบนแพลตฟอร์ม และเป็นช่องทางชี้ชวนขั้นสุดท้ายก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา