‘สะพานมิตรภาพไทย - ลาว’ แห่งที่ 5 จุดข้ามแดนใหม่ เปิดบริการ พ.ย.นี้

‘สะพานมิตรภาพไทย - ลาว’ แห่งที่ 5 จุดข้ามแดนใหม่ เปิดบริการ พ.ย.นี้

“คมนาคม” เปิดความคืบหน้า “สะพานมิตรภาพไทย - ลาว” แห่งที่ 5 เตรียมเปิดให้บริการ พ.ย.นี้ ดันเป็นจุดข้ามแดนแห่งใหม่ เชื่อมไทยกับแขวงบอริคำไซ สปป.ลาว ยกระดับเส้นทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การค้าชายแดนไทย ลาว เวียดนาม และจีน

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” เปิดความคืบหน้า “สะพานมิตรภาพไทย - ลาว” แห่งที่ 5 เตรียมเปิดให้บริการ พ.ย.นี้ ดันเป็นจุดข้ามแดนแห่งใหม่ เชื่อมไทยกับแขวงบอริคำไซ สปป.ลาว
  • มั่นใจเป็นประตูยกระดับเส้นทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว การค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาว รวมถึงทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น

สะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ – ปากซัน) เป็นโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมมิตรภาพระหว่างไทยกับลาว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างโครงการตั้งแต่ปี 2555 ก่อนจะลงนามความตกลงว่าด้วยการก่อสร้างร่วมกันระหว่างไทยและลาว ณ จังหวัดบึงกาฬ เมื่อวันที่14 มิ.ย.2562

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้ามากกว่า 80% และคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในเดือน พ.ย.นี้ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นอีกข้ามแดนแห่งใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทยกับลาว รวมถึงทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้คล่องตัวขึ้น

สำหรับโครงการสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 5 ทั้งโครงการมีระยะทางรวม 16.18 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนฝั่งไทยยาว 12.13 กิโลเมตร และถนนฝั่งลาวยาว 2.86 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 (กม.123+430) อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และจุดสิ้นสุดโครงการที่ กม.16+340.580 (จุดตัดถนนสาย 13) เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

‘สะพานมิตรภาพไทย - ลาว’ แห่งที่ 5 จุดข้ามแดนใหม่ เปิดบริการ พ.ย.นี้

โดยรูปแบบทางหลวงของโครงการเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร จะมีช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร ในเขตทาง 60 เมตร ขณะที่รูปแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นแบบสะพานคานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง (Extradosed Prestress Concrete Bridge) ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางและทางเท้าโดยมีความยาวช่วงข้ามแม่น้ำโขง 810 เมตรและทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร มีด่านควบคุม (Border Control Facilities, BCF) อยู่ทั้ง 2 ฝั่งประเทศ และจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

ในส่วนของงบประมาณการก่อสร้างโครงการรวมทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท แบ่งเป็น

ฝ่ายไทย ใช้เงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ 2,630 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท
  • ค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท

‘สะพานมิตรภาพไทย - ลาว’ แห่งที่ 5 จุดข้ามแดนใหม่ เปิดบริการ พ.ย.นี้

ฝ่าย สปป.ลาว ใช้เงินกู้ 1,300 ล้านบาท จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย

  • ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท
  • ค่าควบคุมงาน 44 ล้านบาท

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในฐานะเป็นตัวแทนกระทรวงคมนาคม ได้มีโอกาสลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 5 พร้อมรับทราบปัญหา ซึ่งปัจจุบันถือว่าการก่อสร้างเป็นไปตามระยะเวลากำหนด และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือน พ.ย.2567