30 ปีดับบลิวทีโอช่วยการค้าโลกขยายตัวกว่าเดิม 5 เท่า

30 ปีดับบลิวทีโอช่วยการค้าโลกขยายตัวกว่าเดิม 5 เท่า

ทูตไทยประจำดับบลิวทีโอ เผย ตลอด 30 ปีดับบลิวทีโอ ช่วยทำให้การค้าโลกขยายตัวกว่าเดิม 5 เท่า ช่วยลดต้นทุน ลดความยากจน  แนะดับบลิวทีโอ คิดใหม่ ทำใหม่ เจรจาประเด็นที่ตอบโจทย์สมัยใหม่ ส่วนไทยรับอานิสงส์เข้าเป็นสมาชิก ทำการค้ากับโลกโตเฉลี่ยปีละกว่า 6%

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ในปี 67 องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลกฎระเบียบทางการค้าของโลก ให้เกิดความโปร่งใส คาดการณ์ได้ ครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้ง โดยตลอดช่วง 30 ปีนั้น กฎเกณฑ์การค้าโลกภายใต้ดับบลิวทีโอ ทำให้การค้าโลกขยายตัวขึ้นอย่างมาก เพราะการค้าโลกมีความโปร่งใส มีเสถียรภาพ กำแพงภาษีที่เคยสูงมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้ลดลงมาอย่างมาก ทำให้ต้นทุนทางการค้าลดลง ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ลดความยากจนของประเทศสมาชิก

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนา และสร้างความยืดหยุ่นในการรองรับวิกฤติต่างๆ ของโลก อีกทั้งยังมีกลไกระงับข้อพิพาทที่ใช้ได้ทั้งประเทศใหญ่ประเทศเล็ก รวมทั้งมีการจัดทำกฎเกณฑ์การค้าสินค้าเกษตรใหม่ที่ชัดเจนขึ้น ยกเลิกโคต้าสิ่งทอ เสื้อผ้า ตลอดจนมีการเปิดเสรีภาคบริการ และนำกฎเกณฑ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเชื่อมกับการค้าเป็นครั้งแรก เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ส่งผลดีต่อไทย ในฐานะประเทศที่สนับสนุนระบบการค้าตามกลไกตลาด และพึ่งพาการค้าเป็นปัจจัยสำคัญของเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัวจาก 99,672 ล้านดอลลาร์ ในปี 2537 มาเป็น 571,934 ล้านดอลลาร์  ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.21% ต่อปี

ระบบการค้าพหุภาคีทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทย สามารถเกาะเกี่ยวและใช้โอกาสในการผลิตสินค้าที่ตนมีความได้เปรียบ และส่งออกไปยังโลกได้ รวมทั้งสามารถนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตหรือสินค้าจำเป็นในช่วงวิกฤติจากแหล่งอื่นๆ ได้ในราคาถูกลง ส่งให้ห่วงโซ่อุปทานโลก สามารถรองรับปัญหาในช่วงวิกฤติได้ดีขึ้น ทั้งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ การเมือง และสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎเกณฑ์ดับบลิวทีโอ จะช่วยสนับสนุนให้การค้าของประเทศต่างๆ ขยายตัวมากขึ้น และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ปัจจุบัน สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การค้าเริ่มเปลี่ยนไป มีความเปราะบาง มีความขัดแย้งในหลายรูปแบบ มีการใช้มาตรการกีดกันอย่างไม่ค่อยเกรงใจกันมากขึ้น จากกระแสปกป้องตนเองทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกิดภัยพิบัติหรือโรคระบาดร้ายแรง ที่กระทบการค้าด้วย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดกลางและเล็ก มีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ ต่างจากประเทศใหญ่ๆ เช่น จีน บราซิล อินเดีย ที่ขยายตัวได้ดีกว่า เพราะประเทศเหล่านี้มีปัญหาทางโครงสร้างพื้นฐาน ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุน หรือไม่สามารถเพิ่มการค้าในภูมิภาคเดียวกันได้มาก เพราะผลิตสินค้าใกล้เคียงกัน รวมถึงความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัล

แม้ดับบลิวทีโอ  มีกฎเกณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมให้การค้าแบบดั้งเดิมขยายตัวได้ แต่ปัจจุบันสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและปัญหาต่างๆ ในโลก ทำให้การค้าไม่เหมือนเดิม ดับบลิวทีโอต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ให้มีประเด็นเจรจาที่ตอบโจทย์สมัยใหม่ได้ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนากับกำลังพัฒนา และภายในประเทศเองด้วย ซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญในการร่วมผลักดันการหารือเรื่องการปฏิรูปภาคเกษตร การกำหนดกฎเกณฑ์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การปรับกฎเกณฑ์การค้าให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิรูปกลไกระงับข้อพิพาท เพื่อมิให้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกลุกลามไปมากกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ดับบลิวทีโอ ยังคงเป็นเสาหลักในการกำหนดกฎเกณฑ์ให้สมาชิกทั้ง 166 ประเทศได้ต่อไป

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ดับบลิวทีโอช่วยทำให้มูลค่าการค้าโลกเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ  5.8% ด้วยมูลค่าสูงถึง 30.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2566 และสัดส่วนมูลค่าการค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี)  โลกขยายตัวสูงขึ้นจากประมาณ 20% ในปี 2538 มาสูงสุดถึง 31% ในปี 2563 ก่อนจะตกลงมาเหลือขยายตัว 29% ในปี 2566

ปัจจัยสำคัญคือ การลดลงของต้นทุนทางการค้า เพราะสมาชิกได้เจรจากันเพื่อลดภาษีนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาษีนำเข้าจริงลดลงเหลือ 3.8% จากเดิม 7.1% ส่งผลให้ต้นทุนการค้าระหว่างประเทศ ที่รวมถึงอุปสรรคทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ลดลง 6-10% แต่ต้นทุนการค้าที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2543-2551