รัฐเล็งโยก 'หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ' คืน ’ธปท.‘ ลดหนี้สาธารณะ-เปิดพื้นที่การคลัง

รัฐเล็งโยก 'หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ' คืน ’ธปท.‘ ลดหนี้สาธารณะ-เปิดพื้นที่การคลัง

รัฐบาลเล็งโยกเงินกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯ 8 แสนล้าน ให้แบงก์ชาติแทนการใช้ FIDF แบบในปัจจุบัน เปิดพื้นที่การคลัง ลดเพดานหนี้สาธารณะ หลังก่อนหน้านี้สมัยเป็นรัฐบาลครั้งก่อน เคยโยกภาระการจ่ายดอกเบี้ยไปให้สถาบันการเงินมาแล้ว เตรียมหารือแบงก์ชาติทำเป็นขั้นตอน

KEY

POINTS

  • หนี้ของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินที่เกิดจากวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 ปัจจุบันอยู่ในบัญชี FIDF ประมาณ 5.9 แสนล้าน ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะที่ต้องมีการรายงานทุกปี
  • ล่าสุดมีแนวคิดจากทางรัฐบาลที่จะบริหารหนี้ก้อนนี้ใหม่ โดยโยกไปให้ธปท.รับหนี้เอาไว้แทน เพราะมองว่าหนี้ส่วนนี้มาจากความเสียหายของสถาบันการเงิน หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลเพื่อไทยเคยออก พ.ร.ก.ในปี 2555 ให้มีการนำ FIDF fee มาทยอยจ่ายคืนแทนการตั้งงบประมาณมาแล้ว 
  • การดำเนินการนี้จะช่วยเปิดพื้นที่การคลัง ลดเพดานหนี้สาธารณะ ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังในการทำนโยบายต่างๆเพิ่มขึ้น 

ตลอด 8 เดือน บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน มีประเด็นที่เห็นแตกต่างจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินดิจิทัล รวมถึงความเป็นอิสระของ ธปท.ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมองเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ล่าสุดมีความเห็นของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 โดยเห็นว่ากฎหมายพยายามให้ ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล 

สำหรับประเด็นดังกล่าว น.ส.แพทองธาร เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นทุกปี จากการที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุล รวมทั้งเห็นว่านโยบายการเงินที่บริหารโดย ธปท.ไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ จะทำให้ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ลงมาได้

นอกจากนี้เป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลและ ธปท.แตกต่างกัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายในช่วง 4 ปี เศรษฐกิจจะต้องเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ในขณะที่ ธปท.ประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.5-3.0%

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังวางแนวทางในการบริหารงานเกี่ยวกับ ธปท.เพื่อให้ส่งเสริมนโยบายการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น โดยหนี้สาธารณะบางส่วนที่อยู่ในบัญชีบริหารหนี้สาธารณะที่เกิดจากความเสียหายของสถาบันการเงินตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2540 

สำหรับหนี้ส่วนนี้ปัจจุบันอยู่ในบัญชีของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund) หรือ FIDF ปัจจุบันมีหนี้คงเหลืออยู่ตามบัญชี FIDF 1 และ FIDF 3 ณ เดือน เม.ย.2567 เป็นวงเงิน 590,869  ล้านบาท จากยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้

1.FIDF 1 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 463,275 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 265,327 ล้านบาท

2.FIDF 3 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 675,030 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 325,542 ล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้ในส่วนนี้แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีการออกกฎหมายเมื่อปี 2555 ให้หนี้ส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ ธปท.โดยมีการออก พ.ร.ก.การปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 

โดยกำหนดให้ ธปท.นำอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์อัตรา 0.46% ต่อปี  มาเข้ากองทุนเพื่อชดเชยส่วนนี้แทนการตั้งงบประมาณใช้คืนที่ทำมานับสิบปีปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหนี้ส่วนนี้ยังนับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะของรัฐบาลทำให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องบันทึกหนี้สาธารณะรายงานและคำนวณในหนี้สาธารณะของประเทศทุกปี 

รัฐเล็งโยก \'หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ\' คืน ’ธปท.‘ ลดหนี้สาธารณะ-เปิดพื้นที่การคลัง

รัฐบาลเล็งหารือ ธปท.รับภาระหนี้กองทุน FIDF

นอกจากนี้ รัฐบาลมีมุมมองว่าหนี้ในส่วนนี้ควรจะมีการหารือกับ ธปท.ในการรับหนี้จำนวนนี้ไปอยู่ในบัญชีการบริหารหนี้ของ ธปท.เองทั้งหมด เพื่อให้หนี้ในส่วนนี้ไม่ต้องอยู่กับกองทุน FIDF ที่จะต้องมานับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้บริหารงบประมาณและหนี้สาธารณะในส่วนของรัฐบาลได้คล่องตัวมากขึ้น และสอดคล้องกับระดับหนี้สาธารณะปัจจุบันที่อยู่ใกล้ระดับ 70% ซึ่งเป็นเพดานหนี้สาธาณระด้วย

“หนี้ในส่วนนี้เกิดจากสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ใช่หนี้ของรัฐบาลและประชาชนอยู่แล้วแต่เกิดจากความเสียหายของสถาบันการเงินในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติขึ้น ซึ่งหากสามารถที่จะคุยกับ ธปท.และนำหนี้ส่วนนี้ออกไปให้ ธปท.บริหาร ซึ่งอาจมีการกำหนดสัดส่วนในการใช้หนี้คืนให้มากขึ้นซึ่งสามารถจะจัดการหนี้ได้ วงเงินที่ลดลงจากหนี้สาธารณะส่วนนี้ก็จะสามารถมาทำนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้”

ด้านนายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าหนี้ของกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯนั้นมีการออกกฎหมายให้ ธปท. ดูแลอยู่แล้ว แต่ใช้รายได้ส่วนแบ่งจากดอกเงินฝากที่ประชาชนออมมาใช้หนี้ซึ่งตรงนี้ซึ่งตรงนี้ต้องนับเป็นหนี้สาธารณะเพราะเป็นมรดกหนี้ที่มาจากในอดีต ซึ่งหากจะลดหนี้ตรงนี้ก็ต้องหาทางบริหารจัดการให้มีการใช้หนี้ได้มากขึ้น

“หนี้ส่วนนี้ไม่ว่าจะใครดูแล มันคือหนี้ของประเทศที่เกิดขึ้นสมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เป็นมรดกจากการ รักษาความน่าเชื่อถือของประเทศโดยการกำหนดเป็นหนี้สาธารณะเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคการเงินของไทย จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ โดยการลดหนี้ก็คือต้องเร่งการใช้หนี้ให้เร็วขึ้น” นายนณริฏ กล่าว