‘เทรดวอร์’ จีน-สหรัฐสะเทือนโลก กระทบสินค้าไทยใน ‘ซัพพลายเชนจีน’
สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ระอุอีกรอบ ตั้งกำแพงภาษีรถอีวีจีน 100% อียูเดินตามรอยสหรัฐ สกัดรถจีนราคาถูก คาดได้ข้อสรุป มิ.ย.นี้ ส.อ.ท.มองวิกฤติเป็นโอกาสรับย้ายฐานการลงทุน สรท.ห่วงกระทบส่งออกไทยระยะสั้น ไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของจีน
การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนหลายรายการของสหรัฐเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 คิดเป็นมูลค่าถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.6 แสนล้านบาท) นำโดยกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ถูกขึ้นภาษีเป็น 4 เท่าไปทะลุระดับ 100% อาจส่งผลกระทบถึงสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำลังพิจารณามาตรการรับมือการล้นทะลักของรถอีวีราคาถูกจากจีน
สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า อียูเริ่มกระบวนการสืบสวนการอุดหนุนรถไฟฟ้าของจีนมาตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 เพื่อหาความจริงว่า รถอีวีจีนได้รับการอุดหนุนจนมีราคาถูกและเข้ามาแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การออกมาตรการทางภาษีเพื่อตอบโต้การอุดหนุนรถไฟฟ้าของจีน
ทั้งนี้ การสืบสวนจะทราบผลภายในวันที่ 5 มิ.ย.2567 และคาดว่าอียูจะได้ข้อสรุปในเชิงยืนยันถึงการอุดหนุนและบิดเบือนตลาดรถยุโรปของรถอีวีจีน เพียงแต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทิศทางแน่ชัดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างไร
นายเร็ม คอร์เตเว็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ของสถาบันคลังสมองคลิงเกนเดล ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การที่สหรัฐขึ้นภาษีรถอีวีจีน 100% อาจกดดันให้อียูต้องทำตาม และอาจเป็นบรรทัดฐานของการกำหนดอัตราภาษีอากรตอบโต้การทุ่มตลาดให้อียู
ขณะที่บริษัทวิจัยโรเดียม กรุ๊ป เปิดเผยผลการศึกษาเมื่อเดือนที่แล้วว่า อียูอาจต้องกำหนดภอัตราภาษีที่ 50% จึงจะสกัดการทะลักของรถอีวีจีนในตลาดยุโรปได้ ขณะที่ปัจจุบันอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดโดยเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ 19%
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอียูบางรายเริ่มแสดงความกังวลและไม่เห็นด้วยหากต้องดำเนินการตามแนวทางเดียวกันกับสหรัฐ หรือตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจีน
นายกรัฐมนตรีอูลฟ์ คริสเตอร์สัน ของสวีเดน กล่าวระหว่างร่วมประชุมที่เดนมาร์กในสัปดาห์นี้ว่า การใช้มาตรการกำแพงภาษีไม่ใช่ความคิดที่ดีในการแก้ปัญหาเหมารวมให้กับประเทศผู้ส่งออกและนำเข้า
นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า รถยนต์อย่างน้อย 50% ที่นำเข้าจากจีนมายังยุโรปในปัจจุบันนี้ เป็นรถจากแบรนด์สัญชาติตะวันตกที่เข้าไปผลิตในจีน
“จีน”ลั่นมีมาตรการเด็ดขาดปกป้องตนเอง
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน รายงานเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีนคัดค้านและประท้วงกรณีสหรัฐขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับสินค้าจีนบางส่วน และจะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของจีน
ทั้งนี้ สหรัฐมีมติปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมภายใต้มาตรา 301 กับการนำเข้าสินค้าจีน ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โซลาร์เซลล์ แร่ธาตุสำคัญ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม และเครน จากการจัดเก็บในอัตราปัจจุบัน
โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า จีนไม่พอใจอย่างยิ่งกับกระบวนการทบทวนการจัดเก็บภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 โดยมิชอบของสหรัฐ และการปรับขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับสินค้าจีนบางส่วน ซึ่งมีแรงผลักดันจากประเด็นทางการเมืองในประเทศ
รวมทั้งการดำเนินการของสหรัฐใช้การค้ามาสร้างประเด็นทางการเมืองและใช้เป็นเครื่องมือ “ชักใยทางการเมือง” ตามแบบฉบับ ทั้งที่องค์การการค้าโลก (WTO) ชี้ชัดแล้วว่าการจัดเก็บภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 ขัดข้อบังคับ WTO แต่สหรัฐยังทำผิดต่อ
นอกจากนี้ การขึ้นภาษีของสหรัฐขัดฉันทามติที่ผู้นำของสองประเทศเห็นพ้องต้องกัน รวมถึงสวนทางกับคำมั่นสัญญาของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบรรยากาศความร่วมมือทวิภาคี
กระทรวงพาณิชย์จีนเน้นย้ำว่า ฝ่ายสหรัฐควรแก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที และยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับจีน
ห่วงไทยเป็นซัพพลายเชนของจีน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่ของสหรัฐต่อสินค้าจีนอาจกระทบในระยะสั้น เพราะไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานสินค้าจีนหลายประเภท เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยได้อานิสงค์จากปัญหาระหว่างสหรัฐและจีน โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐเพิ่มขึ้น 112% สินค้าที่สูงขึ้นมากใน 3 อันดับแรก คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ รถยนต์ เพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7 เท่า และผลิตภัณฑ์ยางพาราเพิ่มขึ้น 2 เท่า
รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าแม้มีสงครามการค้าไทยแต่ไทยได้รับอานิสงค์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้ประกอบการอย่าวางใจต้องปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อรับสถานการณ์ทั้งการลดต้นทุนเพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ที่รับการย้ายฐานการผลิต และการปรับปรุงการผลิตสอดคล้องมาตรฐานสหรัฐเพื่อความมั่นในการส่งออกสินค้าไทย
“การตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่ อาจจะกระทบบ้างเพราะไทยเป็นซัพพลายเชนของจีน แต่ไทยยังได้ประโยชน์มากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยไปสหรัฐก็เพิ่มขึ้น โดยปี 2566 การส่งออกไทยไปสหรัฐขยายตัวถึง 2.8% และใน 3 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 10% โดยสหรัฐยังเป็นตลาดหลักของไทยมีสัดส่วนการส่งออก 18%” นายชัยชาญ กล่าว
แนะไทยใช้โครงสร้างพื้นฐานดูดการลงทุน
นายชัยชาญ กล่าวว่า สถานการณ์เช่นนี้ไทยควรใช้โอกาสให้เกิดการลงทุนหรือย้ายฐานผลิต ล่าสุดอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และอุตสาหกรรม PCB รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยต้องรีบดึงนักลงทุนด้วยการระบบโลจิติกส์ สาธาณูปโภค นอกจากนี้ต้องเชิญชวนให้มีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของไทยรวมทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการเทรดวอร์จะยังคงอยู่คู่สังคมโลกไปพักใหญ่ และจะเข้มข้นมากขึ้น จะเห้นว่าวงที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศมาตรการด้านภาษีในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนที่มียอดการผผิตและส่งออกมากที่สุดของโลกและแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว
ทั้งนี้ ตลาดสำคัญของรถ EV คือ อเมริกา และยุโรป ที่จีนได้ขยายตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกแบบดีไซน์ที่มีรูปลักษ์ที่ดี ราคาไม่สูงมากและจับต้องได้ส่งผลให้จีนสามารถส่งออกได้ทั่วโลก ดังนั้น ขณะนี้สหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีสินจาก 25% เป็น 100%
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มองทุกวิกฤติคือโอกาส เพราะฐานการผลิตที่ย้ายเข้ามาลงทุนไทยหากผลิตสินค้าหรือรถ EV ส่งออกไปจะยังโดนเก็บภาษีอยู่ที่ 25% ดังนั้น เทรนวอร์ที่ผ่านมาจะเกิดได้ทั้งอุตสาหกรรมชิป เซมิคอนดักเตอร์ หรือแม้แต่แอปพลิเคชั่นติ๊กตอก รัฐบาลสหรัฐก็กีดกัน ยกเว้นจะขายให้เท่านั้น เพราะมองว่าหากอยู่กับจีนจะเป็นภัยด้านความมั่นคง จึงต้องเลือกข้างมากขึ้น
“ปัญหาเทรดวอร์ดังกล่าว ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศที่คบทุกฝ่าย มีความเป็นกลาง ไทยต้องวางเป้าหมายให้ดี ปรับโครสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นสินค้าคนรุ่นใหม่ และกระแสโลก เช่นอุตสาหกรรมที่ดูแลสิ่งแวดล้อม เป้นต้น” นายเกรียงไกร กล่าว