ไทยติดท็อป 10 เกินดุลสหรัฐ 4.15 หมื่นล้านดอลล์ หวั่นถูกขึ้นภาษี-ฉุด GDP 0.5%

ไทยติดท็อป 10 เกินดุลสหรัฐ 4.15 หมื่นล้านดอลล์ หวั่นถูกขึ้นภาษี-ฉุด GDP 0.5%

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" เผย ไทยติดท็อป 10 เกินดุลสหรัฐ 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หวั่นถูกขึ้นภาษี ฉุด GDP 0.5% แนะรัฐบาลลดการพึ่งพาการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และรักษาจุดยืนความเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจ

KEY

POINTS

  • ไทยเลื่อนจากอันดับ 12 ขึ้นมาเป็นอันดับ 10 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐด้วยมูลค่า 41,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  • จีนยังครองอันดับ 1 ด้วยมูลค่าเกินดุล 270,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  • ไทยอาจต้องเตรียมรับมือมาตรการกดดันทางการค้าจากสหรัฐโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ 
  • หากถูกขึ้นภาษีศุลกากร คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยราว 0.5% 

 

ทั้งโลกประสบกับความปั่นป่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา และประเด็นเรื่องการขึ้นภาษีศุลกากรเพราะได้ดุลการค้ากับสหรัฐก็เป็นประเด็นที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก

มากไปกว่านั้น นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค - พ.ย. 2567 ประเทศไทยได้เลื่อนอันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 10 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด โดยมีมูลค่าเกินดุล 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับที่ 12

ไทยติดท็อป 10 เกินดุลสหรัฐ 4.15 หมื่นล้านดอลล์ หวั่นถูกขึ้นภาษี-ฉุด GDP 0.5% ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ จีนยังคงครองอันดับ 1 ด้วยมูลค่าเกินดุลการค้า 2.704 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเม็กซิโกที่ 1.572 แสนล้านดอลลาร์ และเวียดนามที่ 1.131 แสนล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

นายบุรินทร์กล่าวว่า สถานการณ์นี้อาจส่งผลให้ไทยต้องเตรียมรับมือกับมาตรการทางการค้าจากสหรัฐโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐ ต้องการดึงการผลิตกลับประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ไทยอาจต้องพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น พลังงาน ถั่วเหลือง และข้าวโพด เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ หากการเจรจาไม่เป็นผลและไทยถูกขึ้นภาษีศุลกากร คาดว่าจะกระทบตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราว 0.5% และอาจส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท โดยต้องติดตามความชัดเจนของมาตรการในวันที่ 1 เม.ย.นี้

"ไทยควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการค้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และรักษาจุดยืนความเป็นกลางระหว่างมหาอำนาจ" นายบุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย​​

ทั้งนี้ นายบุรินทร์กล่าวว่า ก่อนจะมาถึงประเทศไทยประเทศต่อไปที่ทรัมป์มีแนวโน้มจะขึ้นภาษีศุลกากรใส่คือเยอรมนีเนื่องจากได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด มีการใช้เงินยูโรที่อ่อนค่าเป็นประโยชน์ในการส่งออก และไม่จ่ายค่าใช้จ่ายด้านการทหารตามข้อตกลงนาโต้ที่ร้อยละ 2 ของ GDP และต่อมาคือไอร์แลนด์ที่ถูกมองว่าใช้อัตราภาษีนิติบุคคลต่ำที่ร้อยละ 12.5 ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันให้ย้ายฐานภาษีไปเมืองดับลิน