‘คลองปานามา’ น้ำลด เพราะ ‘เอลนีโญ’ ไม่ใช่เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’ จากฝีมือมนุษย์

‘คลองปานามา’ น้ำลด เพราะ ‘เอลนีโญ’ ไม่ใช่เพราะ ‘ภาวะโลกร้อน’ จากฝีมือมนุษย์

การศึกษาพบ “คลองปานานา” แห้งแล้งจนมีระดับน้ำต่ำ เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้ เพราะ “เอลนีโญ” เป็นหลัก ไม่ได้มาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

เกือบตลอดปี 2566 ระดับน้ำใน “คลองปานามา” เส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาจนไม่มีน้ำเพียงพอให้ “เรือบรรทุกสินค้า” สัญจรผ่านได้ จนเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องลดจำนวนที่อนุญาตให้แล่นผ่านได้ 

ขณะนี้เรือหลายลำต้องเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือที่อ้อมกว่าเดิม ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง จนต้องเปลี่ยนไปใช้การขนส่งช่องทางอื่น เช่น รถบรรทุกและรถไฟ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ทำให้ฝนตกน้อยลง

ข้อมูลจากรัฐบาลของปานามาระบุว่า ความต้องการน้ำภายในประเทศจะมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากจำนวนประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น และการค้าทางทะเลขยายตัวมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาภัยแล้งจะยังรุนแรงและทำให้ปริมาณน้ำในคลองปานามาลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ระดับน้ำในคลองยังคงอยู่ที่ระดับต่ำตามฤดูกาลในช่วงสามเดือนแรกของปี 2567

นั่นหมายความว่าปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในอนาคต อาจจะทำให้การขนส่งทั่วโลกต้องหยุดชะงัก อีกทั้งคนในประเทศก็จะไม่มีน้ำใช้ด้วยเช่นกัน 

“การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนเพียงเล็กน้อยก็สร้างผลกระทบร้ายแรงได้เช่นกัน” มายา วาห์ลเบิร์ก ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงของศูนย์ภูมิอากาศเสี้ยววงเดือนแดงของสภากาชาดกล่าว

ปานามา” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีฝนตกชุกที่สุดในโลก ปรกติอ่างเก็บน้ำที่ป้อนน้ำจืดเข้าสู่คลองปานามามีฝนตกเฉลี่ยมากกว่า 2.4 เมตรต่อปี ซึ่งปริมาณฝนนี้มีความสำคัญต่อการเดินเรือในคลองปานามาและแหล่งน้ำดื่มของประชากรมากกว่า 4.5 ล้านคนของในประเทศ 

ปี 2566 ปริมาณน้ำฝนในปานามาต่ำกว่าปรกติถึง 25% ทำให้กลายเป็นปีที่แห้งแล้งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในรอบเกือบ 50 ปีที่มีการบันทึกสถิติ นอกจากนี้ในปี 2566 ยังมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเวลา 7 เดือนจากทั้งหมด 8 เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน

ความแห้งแล้งใหญ่ที่สุดของปานามาทั้ง 3 ครั้ง จนส่งผลกระทบต่อการจราจรในคลองปานามา ได้แก่ ปี 2540-41 อีกครั้งในปี 2558-2559 และล่าสุดปี 2566-2567 ทั้งหมดล้วนเป็นช่วงปีที่เกิดเอลนีโญทั้งสิ้น

“เราไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่รุนแรงภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ขนาดนี้มาก่อน” สตีเวน ปาตัน ผู้อำนวยการโครงการติดตามธรรมชาติของสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนในปานามากล่าว

น้ำใน "คลองปานามา" ลดลงเพราะ "เอลนีโญ"

เพื่อให้รู้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนในปานามาลดลง ปาตันและทีมนักวิจัยจึงย้อนดูบันทึกสภาพอากาศในปานามา และสร้างแบบจำลองสภาพอากาศโลกภายใต้สภาวะที่แตกต่างกัน เช่น แบบจำลองโลกที่ไม่มีภาวะโลกร้อน โลกไม่ได้อุณหภูมิสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ก่อนอุตสาหกรรม 

ฝนตกน้อยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณน้ำในคลองลดต่ำลง จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลังแสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนน้อยลง เพราะฝนไม่ตกลงมา โดยแบบจำลองไม่ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้น้ำลดลง เพราะอุณหภูมิไม่ได้ขึ้นสูงจนทำให้น้ำระเหยออกไป

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปานามา การวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าเอลนีโญลดปริมาณน้ำฝนในปี 2566 ลงประมาณ 8% ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ปานามาจะแห้งแล้งโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

การระเหยของน้ำในปานามามีสาเหตุหลักมาจากความเร็วลม ความชื้น และเมฆปกคลุมเป็นหลัก  ซึ่งตรงกันข้ามกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ที่มีอุณหภูมิขึ้นสูงจนทำให้น้ำระเหยไปในอากาศ แม้ว่าในตอนนี้จะพบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำในปานามาระเหยมากขึ้น แต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณน้ำที่หายไปเพราะฝนตกน้อยลง

เรามั่นใจมากว่าเอลนีโญกำลังทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ” ฟรีเดอริก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากวิทยาลัยอิมพีเรียล ผู้ประสานงานทีมศึกษาการระบุแหล่งที่มากล่าว

ขณะที่ คิม คอบบ์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้กล่าวว่า “ความแปรปรวนทางธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วหลายประการ ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่คำตอบเสมอไป” 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนตัวลง และจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงกลางปี 2567 คาดว่าปริมาณน้ำในคลองปานามาจะกลับสู่ภาวะปรกติอีกครั้ง แต่ยังคงต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำขาดแคลน


ที่มา: AP NewsThe New York TimesVOA News,  World Weather Attribution