หรือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “เงินสกุลดอลลาร์” จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป?

หรือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง “เงินสกุลดอลลาร์” จะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจและการค้าโลกในปัจจุบันมีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ตลอดจนความต้องการถือครองทองคำของธนาคารกลางเพื่อรักษามูลค่าของสกุลเงินทำให้ “ดอลลาร์” และ “ทองคำ” ยังคงเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อชนวนความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (ปาเลสไตน์) ขยายขอบเขตกลายเป็นสงครามในระดับภูมิภาค ส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างมาก นักลงทุนบางส่วนต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างต่อเนื่อง ฉุดดัชนีตลาดหุ้นให้ปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันความต้องการสินทรัพย์ที่เป็นเหมือนหลุมหลบภัยอย่าง “เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ” ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน

อย่างไรก็ดี การถือครองเงินสกุลดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) กลับถูกตั้งคำถามมากขึ้นในระยะหลังจากความพยายามเพิ่มอุปทานเงินสกุลดอลลาร์อย่างมหาศาล เห็นได้ชัดในช่วงที่สหรัฐอเมริกา เพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์เข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงชดเชยการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันจากค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับสงครามเวียดนามและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวอเมริกัน (Great Society) จนทำให้ต้องยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ ปิดฉากการใช้ระบบ Bretton Wood ไปในปี 2514 และล่าสุดกับการเพิ่มอุปทานเงินดอลลาร์อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 จนทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 4.2 ล้านล้านดอลลาร์เป็น 7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงพอ ๆ กับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551

นอกจากนี้ มูลค่าของเงินดอลลาร์เองก็ถูกลดทอนลงจากการเร่งขึ้นเงินเฟ้อสหรัฐฯ 2 ระลอกใหญ่ ๆ รอบแรกจากผลพวงของสงคราม Yom Kippur ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียหยุดส่งน้ำมันดิบให้สหรัฐฯ รวมถึงชาติพันธมิตรซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันดิบหลักของโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 3 เท่า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงขึ้นต่อเนื่องไปแตะ 14.8% ในปี 2523 และนำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อที่เรียกว่า The Great Inflation ขณะที่ระลอกล่าสุด ทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อสูงอีกครั้งแตะระดับ 9.1% หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งแม้เงินเฟ้อในปัจจุบันจะปรับลดลงไปบ้าง แต่ก็คาดว่าจะยังคงค้างสูงต่อไปซักระยะ แน่นอนว่าอำนาจซื้อในรูปแบบของเงินสกุลดอลลาร์มีความเสี่ยงที่จะลดลงตามไปด้วย  

นอกเหนือจากนั้น ความต้องการถือเงินสกุลดอลลาร์จากกลุ่มประเทศ BRICS ยังมีแนวโน้มลดลง โดย BRICS (ประกอบด้วย 9 ประเทศ นำโดยจีน รัสเซีย และอินเดีย) ถือเป็นประเทศมหาอำนาจขั้วใหม่ที่มีขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 31.5% ของจีดีพีทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบมากถึง 44% ของการผลิตทั้งโลก โดยกลุ่มประเทศ BRICS มีแนวความคิดที่จะสร้างสกุลเงินของตนเอง (BRICS Currency) เพื่อใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้เร่งเพิ่มการจัดสรรทุนสำรองเข้าสู่สกุลเงินของตนในรูปแบบของทองคำมากขึ้น โดยเฉพาะปริมาณการถือทองคำของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 1,900 ตันในช่วงปลายปี 2565 เป็น 2,262 ตัน ในไตรมาส 1 ของปี 2567 หรือคิดเป็น 4.6 % ของเงินตราสำรองระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ ผู้นำกลุ่ม BRICS ยังมีความพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้สกุลเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สำหรับการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ประจวบกับช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อต้นปี 2565 ซึ่งเป็นผลให้รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศ NATO ทำให้จีนเข้าช่วยเหลือรัสเซียและบรรลุข้อตกลงการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเริ่มใช้สกุลเงินหยวนแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินรูเบิลแทนการใช้ดอลลาร์ ทำให้สัดส่วนการทำธุรกรรมชำระเงินข้ามประเทศในรูปสกุลเงินรูเบิลและเงินหยวนของรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 13 % เป็น 47 % ในช่วงเวลาเดียวกัน 

มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนจะเปิดทางให้ “ทองคำ” กลายเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกของสินทรัพย์ปลอดภัยที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งโดยหลักแล้ว การปรับขึ้นของราคาทองคำมาจากอุปทานทองคำทั่วโลกมีค่อนข้างจำกัด โดยปริมาณทองคำที่ซื้อขายในตลาดโลกแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 5,000 ตัน ซึ่งมาจากทองคำที่ได้จากการขุดใหม่ราว 3,500 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อขายทองคำที่มีในอดีต ขณะเดียวกันอุปสงค์ทองคำที่มาจากธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้ถือทองคำรายใหญ่ของโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 79 ตันในปี 2553 เป็น 1,037 ตันในปี 2566 หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปีที่มียอดซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นปีที่ 14 และสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 เป็นรองเพียงปี 2565

อย่างไรก็ดี แม้ธนาคารกลางทั่วโลกจะเพิ่มการถือทองคำและทยอยลดสัดส่วนเงินสกุลดอลลาร์ลง แต่การถือครองดอลลาร์ของธนาคารกลางยังคงมีสัดส่วนในตะกร้าทุนสำรองสูงที่สุด โดยข้อมูลจาก IMF ชี้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกปรับสัดส่วนการถือครองเงินสกุลดอลลาร์ลงจาก 57% ของมูลค่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมด ณ สิ้นปี 2562 เหลือ 54% หรือประมาณ 6.7 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งค่อนข้างทิ้งห่างเงินสกุลยูโรที่มีสัดส่วนเงินทุนสำรอง 20% และเงินสกุลเยน 6% ตามลำดับ นอกจากนี้ ปริมาณการทำธุรกรรมทั่วโลกส่วนใหญ่ยังเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ข้อมูลการสำรวจของ Bank of International Settlements (BIS) ในปี 2565 เงินดอลลาร์เป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเครื่องมือทางการเงินโดยตรง (Over-the-Counter Foreign Exchange Market - OTC FX) 88% ของธุรกรรมทั้งหมด ขณะที่หนี้ทั่วโลกส่วนใหญ่กว่า 53% ก็ยังคงอยู่ในรูปแบบของการใช้เงินสกุลดอลลาร์เช่นกัน

ท้ายที่สุด เชื่อว่าเงินสกุลดอลลาร์จะยังไม่ถูกทดแทนโดยสมบูรณ์ด้วยสินทรัพย์อื่นได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกยังคงถือครองเงินสกุลดอลลาร์ในตะกร้าทุนสำรองมากที่สุด ขณะที่หนี้สินทั่วโลก รวมถึงปริมาณการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงเป็นเงินสกุลดอลลาร์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพเศรษฐกิจและการค้าโลกในปัจจุบันมีความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ตลอดจนความต้องการถือครองทองคำของธนาคารกลางเพื่อรักษามูลค่าของสกุลเงินทำให้ “ดอลลาร์” และ “ทองคำ” ยังคงเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ต่อไป