‘กอบศักดิ์’ ห่วง ‘ทรัมป์’ เขย่า ตลาดทุนยาว 4 ปี ชี้ไทยกำลังอยู่บน ‘ถนนขรุขระ’
![‘กอบศักดิ์’ ห่วง ‘ทรัมป์’ เขย่า ตลาดทุนยาว 4 ปี ชี้ไทยกำลังอยู่บน ‘ถนนขรุขระ’](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/sgesKKM6IXitHevyLwP3.webp?x-image-process=style/LG)
‘กอบศักดิ์’ เตือนไทย นโยบาย ‘ทรัมป์’ เขย่า ‘ตลาดทุน’ ผันผวนลากยาว 4 ปี เปรียบไทยเหมือนอยู่บน ‘ถนนขรุขระ’ ต้องทำใจรับความแปรปรวน ชง 3 ข้อ รมว.คลัง พลิกฟื้นตลาดหุ้น
หากพูดถึงภาพของ “ตลาดหุ้นไทย” สถานการณ์อาจไม่ได้สู้ดีนัก สะท้อนจาก ดัชนี SET INDEX มีการปรับตัว “ลดลง” ต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีหลุดระดับ 1,300 จุด !! ซึ่งยังไม่ไปไหนไกลหากเทียบกับปี 2567 ที่ผ่านมา
ซ้ำร้ายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “ตลาดหุ้นไทย” และ “ตลาดหุ้นโลก” ปรับตัวลดลงอย่างมาก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนำร่องขึ้นกำแพงภาษีกับ 3 ประเทศคือ แคนาดา เม็กซิโก และจีน ก่อนจะเลื่อนการเก็บภาษีใน 2 ประเทศ (แคนาดา-เม็กซิโก) ออกไปอีก 1 เดือน ส่วนจีนขึ้นภาษีทันที 10%
ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลกปรับลดลงแรง โดยเฉพาะ “ตลาดหุ้นไทย” ที่ดัชนีหลุด 1,300 จุด และไปอยู่ต่ำสุดที่ 1,270 จุด จากการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง “หุ้น” ของนักลงทุน เพื่อกลับไปถือ “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven) มากขึ้น
“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่า ที่ผ่านมาเห็นดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง ส่วนหนึ่งมาจาก นโยบายทรัมป์ที่ทำช่วง 20 วันของการรับตำแหน่ง โดยมองว่า หลัง “ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2568 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันผ่านมากกว่า 20 วัน ได้สร้าง “ความผันผวน” และการเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก
และอยากเตือนว่าเราต้องเจอความผันผวนต่อเนื่องช่วง 4 ปีข้างหน้า จากการมาของทรัมป์ ที่ทำให้ตลาดผันผวน มีทั้งขึ้นมีลง หรือเปรียบเหมือนเรากำลังอยู่ในช่วง “ถนนขรุขระ” ต่างกับก่อนหน้านี้ที่เราอยู่บนถนนทางเรียบ ดังนั้น เป็นช่วงที่ต้องทำใจกับความแปรปรวน
ส่วนการสร้าง “ความเชื่อมั่น” ในตลาดทุน โดยเฉพาะใน “ตลาดหุ้นไทย” จะกลับมาได้หรือไม่นั้น มองว่าปัญหาขณะนี้ของตลาดทุนคือ มาจากความไม่เชื่อมั่น และกังวลใจ และบางครั้งมาจากปัจจัยระยะสั้นๆ
เช่นในช่วง 20 วันของทรัมป์ ที่มีคำสั่งขึ้นกำแพงภาษีกับ 3 ประเทศ เหล่านี้ทำให้ตลาดกลับมาผันผวน แม้ครั้งนี้จะขึ้นภาษีไม่มาก โดยเฉพาะ “จีน” ที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าเพียง 10% แต่เชื่อว่าผลกระทบระหว่างสองประเทศ ทั้งสหรัฐ และจีน ยังไม่จบ ฉะนั้น ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งมาสู่อนาคตได้ต่อเนื่อง
ดังนั้น การเรียกความเชื่อมั่นให้กับมาในตลาดมองว่า มีหลายเรื่องที่ต้องเร่งทำ ทั้งการสร้างความชัดเจน และผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งโครงการใน “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EEC หรือปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ ให้ “ต่างชาติ” เข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ดังนั้นเราต้องทำให้ประเทศมีข่าวดีมากขึ้น
“ยิ่งในช่วง 2 ปีข้างหน้า เราจะเจอความท้าทายอีกเยอะ ในเรื่องของฟันด์โฟลว์ แล้วบางครั้งนักลงทุนก็คงอยากจะวิ่งออกจากตลาด ออกจากมาร์เก็ต ดังนั้น เราต้องทำให้เขาเห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่เป็นประเทศที่มีปัญหา เราต้องเอาข่าวดีออกไปสื่อสาร เช่น ส่งออกได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวยังมีต่อเนื่อง และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กำลังเดินหน้าได้ต่อเนื่องทำให้คนที่เอาเงินเข้ามามองว่า เรากำลังมีข่าวดี ท่ามกลางความแย่เราต้องทำให้รู้ว่าเราไปต่อได้ เรากำลังจะดีขึ้น เพราะตอนนี้เราอยู่ตรงกลาง มันก้ำกึ่งมาก”
อย่างไรก็ตาม ในนามของ FETCO ได้มีการนำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอเข้าพบและหารือถึง 3 ประเด็นหลัก รวมถึงภาพตลาดของตลาดทุนด้วย โดย ด้านแรก การต่ออายุกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปลายปีก่อน และขอต่อย้อนหลังตั้งแต่ต้นปี ทำให้คนที่ซื้อตั้งแต่ต้นปีได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย ซึ่งส่วนนี้มองว่าไม่กระทบต่อภาครัฐมากนัก
ด้านที่สอง การเสนอให้เงินที่เข้ามาใน Thai ESG กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ปรับเปลี่ยนมาซื้อหุ้นได้มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่ เป็นเม็ดเงินที่หนุนในการเข้ามาซื้อบอนด์เป็นหลัก เพราะมองว่าในช่วงที่ตลาดผันผวน นักลงทุนก็อาจอยากซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่เมื่อเวลาที่ตลาดหุ้นไทยฟื้นกลับมา ก็ควรทำให้การโยกเงินต่างๆ ไปสู่หุ้นทำได้ง่ายมากขึ้น
สุดท้ายคือ อยากให้เม็ดเงินใหม่ที่เข้ามามุ่งไปที่หุ้นเพียงอย่างเดียวคือ การเสนอออกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่อิงกับ ESG มากขึ้น ไม่ว่าเป็นการออกกองใหม่ หรือปัดฝุ่นจากกองทุนเดิม เพราะในยุคปัจจุบัน ESG เป็นเทรนด์ของโลก และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเมื่อได้รับการตอบกลับจาก รมว.คลังเรียบร้อยก็จะเตรียมนำ “3 ข้อเสนอดังกล่าว” ไปหารือทันที เพราะขณะนี้ตลาดทุนถือว่ามีความพร้อมอยู่แล้วการดำเนินการเรื่องต่างๆ ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว หากนโยบายต่างๆ มีความชัดเจน
ส่วนการเปิดทางให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) สามารถซื้อหุ้นคืนได้นั้น มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี และที่ผ่านมามีการแก้กฎหมายเรื่องนี้แล้ว เพื่อเอื้อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถซื้อหุ้นคืนได้ง่ายขึ้น ทั้งสถาบันการเงิน หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในตัวของบริษัทของตนเอง เพราะบริษัทจะรู้ดีว่า กรณีที่หุ้นปรับตัวลดลง มาจากความกังวลใจในบางเรื่อง หรือปัจจัยกระทบชั่วคราว
ดังนั้น การที่เห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลง และอยากกลับมาซื้อหุ้นคืน จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น จากการซื้อหุ้นคืนของบริษัท และเชื่อว่ามีหลายบริษัทจดทะเบียนที่มีความคิดในการซื้อหุ้นคืนมากขึ้นหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นโดยรวมปรับลดลง ก็เป็นจังหวะที่เหมาะในการเข้าทำธุรกรรมซื้อหุ้นคืนได้
“ผมคิดว่าช่วงที่ราคาหุ้นลงมามากๆ แล้ว เจ้าของบริษัทสามารถดำเนินซื้อหุ้นคืน ก็สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพราะขนาดบริษัทยังกล้าซื้อหุ้นคืน ซึ่งต่างกับตอนหุ้นตกแล้วบริษัทไม่กล้าซื้อหุ้นคืน และช่วงนี้ที่ตลาดหุ้นผันผวนเยอะ และบางอย่างไม่ได้มาจากปัจจัยที่มาจากตัวเอง ดังนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทจะสามารถทำได้ เพราะบริษัทเขารู้พื้นฐานบริษัทดี”
อีกทั้ง การที่บริษัทต่างๆ ซื้อหุ้นคืนมากขึ้น จะมีส่วนเรียกความเชื่อมั่นคืนสู่ตลาดหุ้นไทยได้ เช่นเดียวกัน กองทุนพยุงหุ้นในอดีตที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ดัชนีฯ ปรับตัวลดอย่างมาก และเมื่อเวลาผ่านไปก็พบว่าการตั้งกองทุนพยุงหุ้นประสบความสำเร็จที่ดี จากดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้พอร์ตโดยรวมกำไรขึ้นมาได้ หลังผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ
ฉะนั้น การให้บริษัทในตลาดสามารถซื้อหุ้นคืนได้ ก็เหมือนกองทุนพยุงหุ้นเฉพาะตัว ของบริษัทตัวเอง เพราะบางครั้งการที่ดัชนีฯ โดยรวมปรับตัวลดลงมาจากตลาดโลกที่ผันผวน
แต่ทั้งนี้ มองว่าปัจจุบันตลาดค่อนข้างผันผวนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และมีเพียงประเทศเดียวที่ดีคือ “สหรัฐ” ที่ยังไม่ลดดอกเบี้ย แต่ต่างกับประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มในการลดดอกเบี้ยลง ดังนั้น ส่วนนี้จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ฟื้นคืนมาได้ ซึ่งจะทำให้ภาพรวมต่างๆ กลับมาดีขึ้นได้บ้าง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์