GULF เซ็นโครงการใหม่กับ กฟผ. สัญญา 25 ปี โซลาร์พร้อมแบต 59 MW เริ่ม COD ปี 2569

GULF เซ็นโครงการใหม่กับ กฟผ. สัญญา 25 ปี โซลาร์พร้อมแบต 59 MW เริ่ม COD ปี 2569

บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เผย บ.ย่อย เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 59 เมกะวัตต์ กำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2569

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท แสงดี พลังงานสะอาด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท ถือหุ้นทางอ้อมผ่านบริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 59 เมกะวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. มีระยะเวลา 25 ปี และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่มบริษัท มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ไปแล้วทั้งสิ้น 25 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 1,353.1 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 13 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 652.8 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 12 โครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 700.2 เมกะวัตต์

ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567 - 2572 โดยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems มีอัตราจำหน่ายไฟฟ้าในรูปแบบ FT ที่ 2.1679 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และ 2.8331 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตามลำดับ ตลอดอายุสัญญา ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ จะช่วยลดความผันผวนจากราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการฯ มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบัน

การพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามแผนของบริษัท ที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ภายในปี 2578 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่มุ่งผลักดันการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดเพื่อเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยบริษัท มีแผนการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานขยะอุตสาหกรรม ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์