IRPC กำไร Q1/67 แตะ 1.5 พันล้าน โต 413% คาดโค้ง 2 ดีมานด์ดีขึ้นอีก

IRPC กำไร Q1/67 แตะ 1.5 พันล้าน โต 413% คาดโค้ง 2 ดีมานด์ดีขึ้นอีก

บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดกำไรสุทธิ Q1/67 แตะ 1,545 ล้านบาท โต 413% จากงวดเดียวกันปีก่อน และถือว่าพลิกกำไรจากไตรมาส 4 ที่ผ่านมาที่ติดลบ 3,417 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ Q2/67 ดีมานด์ตลาดน้ำมันดิบ และแนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมียังไปต่อ

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ มีผลประกอบการไตรมาส 1/ 2567 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/ 2566 รายได้จากการขายสุทธิ ลดลง 1,116 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลงร้อยละ 8 ตามกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมี Market GRM ที่ลดลง โดยหลักลดลงจากกลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคายางมะตอยเทียบกับราคาน้ำมันเตาปรับลดลง ในขณะที่กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง มี Market GRM เพิ่มขึ้น จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ และจากค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่ลดลง
นอกจากนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มี Market PTF ที่ลดลงจากความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มปีโตรเคมียังคงซบเซาต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นคงที่ ส่งผลให้บริษัทฯ มี Market GIM ลดลงร้อยละ 21
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ บันทึก Net Inventory Gain 2,284 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มี Accounting GIM อยู่ที่ 7,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 

บริษัทฯ มี EBITDA อยู่ที่ 4,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ซึ่งในไตรมาส 1/2567 ผลการดำเนินงานกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 413 จากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งไตรมาส 1/2566 ทำได้ 301 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4/2566 ติดลบ 3,417 ล้านบาท

พร้อมกันนี้คาดการณ์ แนวโน้มสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบ และแนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2/2567 คาดเป็นทิศทางที่ดีขึ้นจากไตรมาสแรก
คาดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการบินที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจากการคลี่คลายของโรคระบาด COVID-19 และกิจกรรมการบินที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล อีกทั้งยังมีอานิสงส์จากความต้องการใช้น้ำมันในภาคการก่อสร้าง การเกษตรกรรม และการคมนาคมขนส่ง สำหรับอุปทาน มีปัจจัยสนับสนุนจากการโอเปกพลัสมีมติคงนโยบายการลดการผลิตน้ำมันดิบโดยสมัครใจตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากมีการประชุมในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2567 โดยมีการแถลงว่าการคงนโยบายดังกล่าวจะมีความเข้มงวดมากขึ้น และประเทศสมาชิกของโอเปกพลัสที่ผลิตน้ำมันดิบเกินกว่าโควตาที่กำหนดอย่างมีนัยสำคัญจะต้องนำส่งแผนการชดเชยการผลิตส่วนเกินอย่างละเอียดให้แก่เลขาธิการโอเปกพลัสภายในสิ้นเดือนเม.ย. 2567 นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่เริ่มทวีความรุนแรงเดือนเม.ย. 2567 มีผลให้ตลาดกังวลต่อการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2567