‘Mobility Data’ ตัวช่วยทำความเข้าใจ วิถีชีวิต ‘คนเมือง’

ไม่ใช่แค่การสื่อสารแต่ปัจจุบันเครือข่ายโทรศัพท์มือถือสามารถนำมาสำรวจพฤติกรรมของคนเมืองได้เช่นกัน ด้วย “Mobility Data” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมือง
พฤติกรรมของ “คนเมือง” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและยากที่จะทำการวิเคราะห์ แต่ล่าสุด “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” โครงการล่าสุดซึ่งเป็นโครงการแรกด้วยของ Data Playground for Human Impacts ได้เปิดพื้นที่การทำงานของคนที่มีความสนใจร่วมกันในการใช้ Mobility Data เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ทางด้าน ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้นำข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรที่สำรวจผ่านการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Mobility Data) และข้อมูลการใช้งานแพลตฟอร์มบริการดิจิทัล ภายใต้มาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมเปิดพื้นที่การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อมองหาความเป็นไปได้รูปแบบใหม่ๆ ในการนำไปต่อยอดพัฒนาเมือง ไปจนถึงนำไปสู่การนำเสนอนโยบายสาธารณะที่สอดรับกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคม แต่การสำรวจครั้งนี้จะเน้นไปยัง 4 เมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา
พฤติกรรมของผู้คนและเมืองที่น่าสนใจ 3 มิติหลัก
1. มิติพื้นที่เมือง
จากข้อมูล Mobility Data ทำให้มองเห็นพื้นที่หลักที่ผู้คนใช้ชีวิตประจำวันได้ชัดเจน ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน และพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่น เช่น การพักผ่อน พบปะสังสรรค์ หรือการทำกิจกรรมนอกบ้าน
จากการแบ่งพื้นที่ตามพฤติกรรมจริงในแต่ละเมือง พบว่าโครงสร้างการใช้ชีวิตของคนในแต่ละภูมิภาคมีบริบทที่ต่างกัน ถือเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้สำหรับการวางผังและพัฒนาเมืองให้ตอบสนองกับการใช้ชีวิตจริงที่ซับซ้อนได้
2. มิติเวลา
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือความไม่เท่าเทียมเรื่องการใช้เวลาในแต่ละเมือง โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง กทม. เพราะประชาชนต้องใช้เวลาเดินทางนานมาก ส่งผลให้กระทบกับเวลาสำหรับพักผ่อนหรือทำกิจกรรมนอกบ้านที่ลดลง
ทั้งนี้ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการจัดสรรเวลา ซึ่งสามารถนำไปใช้ประเมินคุณภาพชีวิตและความคุ้มค่าของการใช้เวลาของคนในแต่ละพื้นที่
3. มิติพฤติกรรมคนเมือง
หากจำแนกลงไปตามช่วงวัย จะพบว่าคนแต่ละเจนเนอเรชันมีรูปแบบการชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เช่น วัยทำงานใน กทม. ส่วนมากต้องเดินทางไกลเพื่อเข้าเมือง ขณะที่คนทำงานในเชียงใหม่หรือหาดใหญ่มักใช้ชีวิตอยู่ในละแวกบ้านมากกว่า ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมักใช้ชีวิตอยู่ในย่านที่คุ้นเคย
นอกจากนี้ข้อมูลยังสะท้อนให้เห็นโอกาสในการออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับทุกวัย โดยเฉพาะในบริบทของสังคมสูงวัยที่กำลังขยายตัวมากขึ้น
Mobility Data กับการมองเมืองในมุมที่แตกต่าง
ด้วยความสำคัญของข้อมูลและเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้านั้นจะสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากกว่าการสื่อสารทำให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น มองว่า “Mobility Data” คือเครื่องมือที่ทรงพลังในการทำความเข้าใจเมืองยุคใหม่ เพราะสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนแบบเรียลไทม์ เห็นการใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาได้แม่นยำและครอบคลุม จึงเป็นที่มาของโครงการ “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” เพื่อนำมาสร้างความเชื่อมโยงด้านการพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าทรูเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีและโครงข่ายที่ทันสมัย ไม่ควรหยุดอยู่แค่การสื่อสาร แต่ต้องสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในภาพรวมได้ด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวได้สะท้อนถึงพลังของ Mobility Data ที่ช่วยให้เข้าใจรูปแบบการใช้ผู้คนใช้ชีวิตในเมือง
“นี่คือจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการร่วมออกแบบเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตเมือง และจะเดินหน้าต่อยอดความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเมืองไทยสู่อนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน” จักรกฤษณ์ระบุ
นอกจากนี้ “ข้อมูลเชิงลึก” ของเมืองยังสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะได้อีกด้วย ซึ่ง อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิเคราะห์ข้อมูลโครงการนี้ กล่าวว่า “Mobility Data” ช่วยให้เข้าใจเมืองอย่างที่ข้อมูลแบบเก่าไม่สามารถระบุได้ โดยเฉพาะการสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนแบบเรียลไทม์ พร้อมระบุว่าข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปต่อยอดสู่การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรสำหรับทุกคน และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่ตรงจุดมากขึ้น
ที่สำคัญข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้มองเห็นภาพรวมการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละเมืองได้อย่างละเอียด เช่น ผู้คนใน กทม. มีปัญหาเรื่องเวลาในการเดินทางมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างชัดเจน ส่งผลให้ช่วงเวลาหลังเลิกงานที่ควรเป็นเวลาส่วนตัวและพักผ่อนกลับถูกลดทอนไป ขณะที่คนในเชียงใหม่และขอนแก่นสามารถใช้ชีวิตภายในรัศมีใกล้บ้านได้มากกว่า แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างที่อยู่อาศัย การทำงาน และพื้นที่ใช้ชีวิต
“ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุก็ยังใช้ชีวิตอยู่แถวบ้านเป็นหลัก และแทบไม่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะที่ไกลออกไป สะท้อนถึงข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของเมืองที่ยังไม่เอื้อต่อการเข้าถึงและความปลอดภัย แม้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว หากรูปแบบการใช้ชีวิตและการเดินทางของกลุ่มวัยเกษียณอายุเป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะอย่างไร” อดิศักดิ์ หยิบส่วนหนึ่งของชุดข้อมูลขึ้นมาตั้งคำถาม
นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆ ที่โครงการได้มายังสะท้อนถึงบทบาทของพื้นที่กลาง (Third Place) ที่ผู้คนใช้เพื่อสังสรรค์ พบปะ ทำกิจกรรม หรือพักจากชีวิตประจำวัน ซึ่งในบางเมืองยังมีไม่เพียงพอ หรือมีเวลาการให้บริการที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมจริง
ทั้งนี้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้สามารถต่อยอดเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาเปิดสวนสาธารณะ การจัดระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาที่มีการใช้งานจริง หรือการวางแผนพื้นที่รองรับผู้สูงอายุในย่านที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น และไม่ใช่เพียงแค่ทำแผนที่หรือเป็นเพียงแนวคิดเชิงผังเมืองเท่านั้น แต่เมืองที่ดีไม่ควรออกแบบเพียงแค่พื้นที่ แต่ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย