เข้าสู่วงการ “Digital Nomad” อาชีพอิสระ ทำงานได้ทุกที่ ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?

เข้าสู่วงการ “Digital Nomad” อาชีพอิสระ ทำงานได้ทุกที่ ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?

โลกยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “เทรนด์การทำงาน” อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ มากมาย  “Digital Nomad” หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “คนเร่ร่อนดิจิทัล”

KEY

POINTS

  • "Digital Nomad"เป็นรูปแบบการทำงานในฝันของเด็กยุคใหม่ ที่ชื่นชอบการทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดในออฟฟิศเท่านั้น  แต่การจะทำงานลักษณะดังกล่าวได้ ต้องมีทักษะที่เหมาะ
  • ทุกอาชีพต้องมีทักษะความรับผิดชอบ  ทักษะการบริหาร การจัดการเวลา และที่สำคัญต้องเป็นนักเดินทางที่รับผิดชอบต่อโลกและสังคม ไม่เพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • รับจ้างอิสระไร้ข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่ เหมาะกับอาชีพอีคอมเมิร์ซ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ออกแบบกราฟิก วิเคราะห์ข้อมูล สื่อสารการตลาด ฯลฯ

ปัจจุบันการทำงาน  สถานที่ทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องสีเหลี่ยม  บนโต๊ะในออฟฟิศอีกต่อไป เมื่อมีอีกหลายอาชีพที่สามารถทำงานไปด้วย เดินทางไปด้วย หรือทำงานได้ที่บ้าน และเข้าออฟฟิศ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ตามไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของแต่ละคน และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกนี้ ซึ่งเราเรียกคนกลุ่มนั้นว่า Digital Nomad

Digital Nomad วิถีชีวิตแบบใหม่ที่ใครๆ ใฝ่หา เมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลายคนคงจินตนาการไม่ออกว่าการเที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วยนั้นจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่เกิดจริง ไหนจะติดขัดเรื่องการติดต่อสื่อสาร ไหนจะอุปกรณ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่เอื้ออำนวย

แต่หลังจากมีเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน ที่พาเราเข้าสู่ยุค Digital Disruption อะไรที่เคยเป็นเรื่องยาก ก็กลับกลายเป็นง่าย อะไรที่เคยดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ก็กลายเป็นจริงเสียอย่างนั้น รวมถึงรูปแบบการทำงาน ที่เปลี่ยนให้โลกใบใหญ่กลายเป็นห้องทำงานที่ไร้ขีดจำกัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้

งานแบบไหนที่คนรุ่นใหม่ SAY YES อยากทำงานด้วยมากที่สุด

Digital Nomad ทำงานที่ไหนก็ได้ อิสระในการทำงาน

คำว่า Nomad แปลตรงตัวหมายความว่า เร่ร่อน พเนจร Digital Nomad จึงหมายความว่าการทำงานผ่านระบบดิจิทัลโดยเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปเรื่อยๆ ซึ่งการเปลี่ยนสถานที่ทำงานนี้ไม่ได้หมายถึงเปลี่ยนบริษัท แต่หมายถึงเปลี่ยนสถานที่นั่งทำงานต่างหาก

วันหนึ่ง Digital Nomad อาจนั่งทำงานริมทะเล อีกวันเข้าไปอยู่ในป่า ก่อนจะกลับมาทำงานในคาเฟ่กลางกรุง ซึ่งปัจจุบันการทำงานรูปแบบนี้ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และจากสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา พิสูจน์ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศเสมอไป เพราะเทคโนโลยีทำให้เราอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานให้สำเร็จได้

ข้อดีของ Digital Nomad คือ มีความอิสระในระดับหนึ่ง ขณะที่ยังคงมีรายได้ประจำ ไม่ต้องผูกติดกับสถานที่ เวลาเข้างาน ขอเพียงรับผิดชอบงานให้เสร็จก็สามารถอยู่ที่ไหนบนโลกก็ได้

สายงานที่เหมาะกับ Digital Nomad

สายอาชีพไหนเป็น Digital Nomad ได้บ้าง มีหลากหลายสาขาอาชีพที่สามารถทำงานแบบ Digital Nomad ได้ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรด้วยว่าเปิดรับวิธีการทำงานสไตล์นี้มากน้อยเพียงใด ต่อไปนี้ เป็นสายงานที่เหมาะกับการเป็น Digital Nomad

  • สายงานเทคโนโลยี

งานเขียนโปรแกรม พัฒนาโปรแกรม ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานได้ทุกที่ หนำซ้ำบริษัทที่เป็นสายงาน Tech ส่วนใหญ่ก็มักมีวัฒนธรรมการทำงานที่ให้อิสระจึงมีโอกาสว่าหากอยู่ในสายงานนี้ก็อาจมีห้องทำงานเป็นโลกใบใหญ่ก็เป็นได้

  • สายงานการตลาดดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็นงาน Ads Optimizer หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาชีพในสายงานนี้มีโอกาสเป็น Digital Nomad ได้ เพราะเพียงมีคอมพิวเตอร์กับอินเทอร์เน็ต ก็ทำงานได้ทุกที่ เพราะเป็นงานที่อยู่กับระบบออนไลน์ หรือหากต้องพูดคุยกับลูกค้าก็สามารถสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มประชุมออนไลน์ที่มีให้เลือกหลากหลายแพลตฟอร์ม

  • สายงาน Creative

 ที่เน้นใช้ความคิด ผลิตผลงานจากไอเดีย ไม่ว่าจะเป็น Content Creater ไปจนถึง Video Editor สามารถทำงาน Digital Nomad ได้ เพราะเป็นงานที่ส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องประสานงานเท่าใดนัก อีกทั้งการเป็น Digital Nomad ยังมีข้อดีสำหรับงาน creative เพราะช่วยเปิดโลกกว้าง สร้างแรงบันดาลใจผลิตผลงานใหม่ๆ ได้ไม่ซ้ำซากจำเจ

ทักษะที่จำเป็นเมื่อเข้าสู่ Digital Nomad

ทักษะจำเป็นของ Digital Nomad การทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ อาจเป็นความฝันของใครหลายๆ คน แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จบนเส้นทางนี้ เพราะจะว่าไปแล้วอิสระเสรีที่ได้มา ย่อมต้องแลกมาด้วยการพิสูจน์ตนเองจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากองค์กรหรือหัวหน้างาน ลองมาดูกันว่าหากต้องการเลือกเส้นทางการทำงานแบบ Digital Nomad แล้ว ควรมีทักษะได้บ้าง

  • ความรับผิดชอบ

สิ่งที่ทุกคนควรมีไม่ว่าจะทำงานรูปแบบใด แต่สำหรับ Digital Nomand ความรับผิดชอบอาจต้องมากเป็นสองเท่า เพราะการทำงานในบรรยากาศที่มีสิ่งล่อตาล่อใจ เช่น หาดทรายขาวๆ น้ำทะเลสีคราม หรือเตียงนอนนุ่มฟู ก็อาจทำให้ไขว้เขวจนทำงานไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ความรับผิดชอบที่จะทำงานให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด จึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก

  • Management Skill: ทักษะการบริหาร

Digital Nomad บ่อยครั้งต้องเดินทาง เปลี่ยนสถานที่ต่างๆ จึงต้องสามารถวางแผนจัดการเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานให้สมดุลกัน เช่น จัดการได้ว่าสถานที่จะไปนอกจากเป็นที่ที่อยากไปแล้ว ก็ควรเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการทำงาน มีบริเวณให้นั่งทำงานได้อย่างสงบ มีอินเทอร์เน็ต การเดินทาง ติดต่อสื่อสารสะดวก

  • การบริหารเวลา

เนื่องจาก Digital Nomad ไม่มีเวลาเข้างานที่แน่นอน แต่อย่างน้อยๆ ก็จำเป็นต้องบริหารเวลาเพื่อทำงานให้เสร็จทันกำหนด ขณะเดียวกันก็รักษาสมดุลระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน

  •  นักเดินทางที่รับผิดชอบ

นอกจากรับผิดชอบงานแล้ว นักเดินทางอย่าง Digital Nomad ควรเป็นนักเดินทางที่รับผิดชอบต่อโลกและสังคมด้วย หาวิธีลด Carbon Footprint, เที่ยวอย่างใส่ใจและให้ความเคารพวัฒนธรรมของชุมชนที่ไปเยือน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และร่วมกิจกรรมอาสาเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเมื่อมีโอกาส เพื่อไม่ให้การทำงานของเราเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม

Digital Nomad อาจเป็นรูปแบบการทำงานในฝันของเด็กยุคใหม่ แต่ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่เช่นกัน ที่จะทำให้ลูกๆ เข้าใจถึงไลฟ์สไตล์การทำงานนี้อย่างถูกต้องเพราะ Digital Nomad ไม่ใช่แค่การทำงานที่ไหนก็ได้ หรือ ทำงานไปเที่ยวไปเพราะชีวิตการทำงานจริงๆ ยังมีเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อนมากมายซ่อนอยู่ซึ่งหากเด็กๆ เติบโตมาโดยขาดความเข้าใจและไม่ได้รับการปลูกฝังทักษะที่จำเป็น การเป็น Digital Nomad ก็อาจกลายเป็นฝันร้าย มากกว่าฝันที่เป็นจริงสำหรับเด็กยุคใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม  'ดิจิทัลโนแมด' (Digital nomad) คือแรงงานรับจ้างอิสระ (Freelance) หรืออาจเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่สามารถทำงานทางไกลผ่านทางระบบออนไลน์ มีอิสระจากข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่

ส่วนใหญ่ทำอาชีพที่มีรายได้สูง เช่น อีคอมเมิร์ซ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ออกแบบกราฟิก วิเคราะห์ข้อมูล สื่อสารการตลาด ฯลฯ มักทำงานตามร้านกาแฟ สำนักงานเช่าชั่วคราว และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Space)

การศึกษา Digital Nomad

ปี ค.ศ. 1997 หนังสือเรื่อง Digital Nomad ของ Makimoto & Manners เป็นจุดเริ่มต้นของการอธิบายชีวิตของคนที่เดินทางย้ายที่พักไปเรื่อย ๆ โดยที่คนเหล่านั้นอาศัยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คและแล็ปท็อปเพื่อทำงานและสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งทำให้มีอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดที่ 

คนที่จะมีชีวิตแบบนี้จะต้องมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การศึกษาที่อธิบายชีวิตของคนที่เป็น Digital Nomad จะสนใจการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของการทำงาน และลักษณะการเดินทางเคลื่อนย้ายที่หลากหลาย (Thompson, 2019)

กระบวนทัศน์ที่ใช้ศึกษา Digital Nomad แบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ หนึ่ง ศึกษาด้วยกรอบคิดเรื่อง work life perspective คำอธิบายแนวนี้จะชี้ให้เห็นว่าชีวิตการทำงานของคนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้เวลาว่างและเวลาทำงานมิได้แยกขาดจากกันแบบคู่ตรงข้าม

การศึกษาของ Müller (2016) พบว่าคนรุ่นใหม่นิยมทำงานอิสระไม่สังกัดองค์กรใด (self-employed worker) คนเหล่านี้ต้องการทำงานด้วยตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ รูปแบบการทำงานจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ย้ายที่ทำงานไปตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านที่บริการพื้นที่ทำงานร่วมของคนหลายคน (co-working space) (Orel, 2019; Thompson, 2018)

อย่างไรก็ตาม Digital Nomad ยังต่างไปจากคนที่มีอาชีพอิสระ (freelancer) ซึ่งไม่มีการเดินทางย้ายที่ไปเรื่อย ๆ แต่ยังคงรับจ้างทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงคนที่เป็นลูกจ้างอิสระที่ทำงานตามโอกาสที่มีคนจ้าง โดยที่พวกเขายังอาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง (Manyika et al., 2016)

รายงานของ The State of Independence in America ระบุว่าในปี ค.ศ. 2019 มีกลุ่มคนในสหรัฐอเมริกาที่นิยามตัวเองเป็น Digital Nomad ประมาณ 7 ล้าน 3 แสนคน และยังคาดการณ์ว่าคนจำนวน 16 ล้านคน ต้องการที่จะมีชีวิตแบบ Digital Nomad อย่างไรก็ตาม ความหมายของการเป็นคนเดินทางเร่ร่อนและเปลี่ยนที่อยู่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีนิยามที่ตายตัว (Jacobs & Gussekloo, 2016)

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และวิธีคิดของคนแต่ละคน ในเชิงวิชาการ นักวิชาการจึงให้ความหมายของ Digital Nomad แบบกว้าง ๆ ซึ่งอาจหมายถึงคนรุ่นใหม่ที่ชอบการเดินทางท่องเที่ยว คนที่ทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ รวมถึงคนที่มีอาชีพอิสระ ความหมายเหล่านี้คือการเชื่อมกันระหว่างการเดินทาง การใช้เวลาว่างและการทำงาน (Orel, 2019; Richars, 2015)

ในการศึกษาของ Toussaint (2009) แบ่งประเภทของ Digital Nomad เป็น 3 ลักษณะ คือ (1) นักท่องเที่ยวที่เดินทางต่อเนื่องและใช้จ่ายอย่างประหยัด (2) คนทำงานอิสระที่ชอบเดินทางและใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน และ (3) นักธุรกิจที่ชอบเดินทางเพื่อพบปะกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งเลือกใช้ชีวิตแบบสะดวกสบายในโรงแรมที่ทันสมัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

อ้างอิง:ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) starfishlabz