ต่างเจนฯ ต่างความคิด ทลายช่องว่าง ลดความขัดแย้ง

ต่างเจนฯ ต่างความคิด ทลายช่องว่าง ลดความขัดแย้ง

ความแตกต่างระหว่างวัย ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะในที่ทำงาน หรือ ในครอบครัว การเข้าใจธรรมชาติ และความแตกต่างของแต่ละเจนฯ ทำให้ทุกคน สามารถอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

KEY

POINTS

  • ความแตกต่างของ Generation เกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ใช่การทำงาน แต่ยังรวมถึงในครอบครัว ที่มีคนหลายรุ่นอยู่รวมกัน
  • ครอบครัวไทย ในปัจจุบันมีลักษณะเป็น “ครัวเรือนข้ามรุ่น” มากขึ้น โดยในบ้านมีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน
  • การเข้าใจความแตกต่าง และธรรรมชาติของแต่ละเจนฯ จะช่วยให้การอยู่ร่วมกัน และ การทำงานร่วมกันในองค์กร สามารถเดินไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่น

จากกรณี โน้ส อุดม พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ Generation ในเดี่ยวซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของ Netflix "กรุงเทพธุรกิจ" ชวนมาเข้าใจ ความแตกต่างของ Generation ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกที่ไม่ใช่การทำงาน แต่ยังรวมถึงในครอบครัว ที่มีคนหลายรุ่นอยู่รวมกัน ความไม่เข้าใจ ความคิด และธรรมชาติของคนที่เติบโตมาต่างยุคต่างสมัย ทำให้เกิดช่องว่างและความไม่เข้าใจกันบ้างทางการสื่อสารและการใช้ชีวิต

 

แต่หากทำความเข้าใจ จะช่วยให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขและลดความขัดแย้งมากขึ้นได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ในแต่ละ Generation มีลักษณะ และความเป็นเอกลักษณ์อย่างไร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หยิบยก ทฤษฎีเจนเนอเรชั่น ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายความแตกต่างของคนต่างรุ่นโดยแบ่ง Generation ตามช่วงปีเกิด ซึ่งเจนเนอเรชั่นหลักในปัจจุบัน ดังนี้

 

Baby Boomer หรือ Gen B หรือ บูมเมอร์ 

คนที่เกิดช่วงปี 2489 – 2507 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด มีการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจ ต้องการแรงงานทดแทนผู้เสียชีวิต จึงเกิดค่านิยมการมีลูกหลายคน ลักษณะร่วมของคนเจนนี้คือ จริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้งาน อดทน อดออม ชอบงานมั่นคง ภักดีต่อองค์กร และให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่พลเมือง

 

Generation X หรือ Gen X หรือ Yuppie

คนที่เกิดช่วงปี 2508-2522 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีชีวิตในช่วงเวลาโลกสงบสุข มั่งคั่ง สุขสบาย เป็นยุคสมัยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล มีการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรเหมาะกับทรัพยากร บุคลิกง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่เป็นทางการ ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลชีวิต เป็นตัวของตัวเอง เปิดกว้าง สร้างสรรค์ และยืดหยุ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

Generation Y หรือ Gen Y หรือ Millennials

คนที่เกิดช่วงปี 2523-2540 เติบโตในยุคดิจิทัล มีความเป็นสากล เปิดรับวัฒนธรรม รักความสะดวกสบาย มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ชัดเจน คาดหวังผลตอบแทนสูง เปลี่ยนงาน ต้องการสร้างสมดุลเวลาให้กับตัวเอง และทำกิจกรรมให้ความสุขกับตัวเอง

 

Generation Z หรือ Gen Z

คนที่เกิดหลังปี 2540 เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก ดำเนินชีวิตในสังคมแบบดิจิทัล มีการติดต่อสื่อสารไร้สาย และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อและแม่ของตัวเอง ทันโลก ตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่าง ปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยก เป็นมนุษย์หลายงาน อดทนต่ำ ต้องการคำอธิบายมากขึ้น ต้องมีเหตุผล และต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต

 

นอกจากนี้ ยังมีเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ เช่น Silent Generation คือ คนที่เกิดปี 2468 – 2485 หรืออายุ 80 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดในช่วงสงครามโลกที่เศรษฐกิจตกต่ำ, Generation Alpha หรือ Gen Alpha คือ เด็ก ๆ ที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้รับความรักท่วมท้นจากพ่อแม่ ขาดความยืดหยุ่น และห่างไกลธรรมชาติ

 

สะพานเชื่อมคนต่างวัยในบ้าน

ครอบครัวไทยในปัจจุบันมีลักษณะเป็น “ครัวเรือนข้ามรุ่น” มากขึ้น โดยในบ้านมีเพียงคน 2 รุ่น คือ คนรุ่นปู่ย่าตายายกับคนรุ่นหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน จากสถิติพบว่า ในปี 2557 ประเทศไทยมีครัวเรือนข้ามรุ่นถึงร้อยละ 15 ความห่างเหิน อีกทั้ง ช่องว่างระหว่างวัยไม่ว่าจะผู้สูงอายุและลูกหลาน พี่กับน้อง พ่อแม่กับลูก ล้วนสามารถจุดฉนวนปัญหาจากความห่างของอายุ

 

อีกทั้ง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้คนหนุ่มสาวซึ่งเป็น “วัยแรงงาน” จำเป็นต้องแบกรับหน้าที่ดูแล และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยในบ้านกว้างขึ้นได้ ความเข้าใจกันของคนต่างรุ่นจึงมีความสำคัญ โดยสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในครอบครัว ดังนี้

 

เข้าใจและยอมรับ

แม้จะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันได้ ด้วยเติบโตมาในสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณตาคุณยาย หรือลูกหลาน ต้องเข้าใจและนับถือตัวตนกันและกัน ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในทุกสถานการณ์ สมาชิกในบ้านแต่ละคนจึงควรเปิดใจยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง

 

รับฟังความเห็น

การเป็นผู้ฟังที่ดีกว่าเดิมทำให้เป็นผู้ใหญ่น่าเคารพ และลูกหลานน่าเอ็นดู รวมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาอย่างเป็นกลาง โดยไม่ลืมคิดถึงมุมมองของอีกฝ่ายอย่างเปิดใจด้วย ผู้สูงวัยที่ทำตัวสมวัย ไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สามารถเป็นต้นแบบให้ลูกหลาน ทำให้ลูกหลานอยากเข้าหา พูดคุย ปรึกษาได้ และเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

 

เปิดประตูโลกส่วนตัว

การมีโลกส่วนตัวสูงยิ่งทำให้มีการเว้นระยะห่างจากกันขึ้นเรื่อย ๆ สมาชิกในครอบครัวจึงควรแบ่งปันโลกของตัวเองให้อีกฝ่ายได้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ลูกหลานชวนคุณตาคุณยายมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือพ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กในบ้านเข้าวัดทำบุญร่วมกัน

 

กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์

การสร้างหรือทำกิจกรรมร่วมกันสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้สามารถพูดคุยในเรื่องเดียวกันได้ การใช้เวลาร่วมกันช่วยให้ได้เรียนรู้ตัวตนกันและกันมากขึ้น ซึ่งเรื่องการถมช่องว่างระหว่างวัยในบ้านเป็นหน้าที่ของคนทุกวัยในครอบครัวที่ต้องช่วยกัน

 

คนแต่ละเจนฯ ในองค์กร เป็นอย่างไร

สำหรับ การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎกติกาเข้มงวด แต่ “ความเข้าใจในความต่าง” ของแต่ละเจนฯ คือ กุญแจสำคัญ ที่สามารถเปิดให้ทุกเจนฯ สามารถทำความร่วมกันได้ดี

 

คนทำงาน Baby Boomer

มักจะเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัท คนวัยนี้ยังชอบการคุยงานแบบต้องเจอตัว ซึ่งตรงข้ามกับคนทำงานกลุ่ม Gen Y ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากกว่า การทำงานร่วมกันจึงน่าจะใช้เหตุผลมาสนับสนุน และใช้ความยืดหยุ่นเป็นตัวเชื่อมให้สองเจนนี้เข้าถึงกันได้ แบบไม่ใช่การสั่งการในลักษณะออกคำสั่ง

 

คนทำงาน Gen X

ชอบความชัดเจน กระชับไม่อ้อมค้อม เริ่มยอมรับการสั่งงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ตามความเหมาะสม เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนในกลุ่มนี้คือไม่ชอบถูกบงการ Gen X ชอบการมอบหมายงานแบบให้โจทย์ปลายเปิด ที่ทำมีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

 

คนทำงาน Gen Y

ไม่ชอบกฎระเบียบที่เข้มงวด และชื่นชอบความท้าทายใหม่ๆ การได้รับโจทย์ในบทบาทใหม่ หรือการสลับทำนั่นทำนี่ในเวลาเดียวกันช่วยกระตุ้นให้เจนนี้มีความกระตือรือร้นที่จะลองทำ หากต้องทำงานกับกลุ่มควรสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความผ่อนคลาย เป็นกันเอง เอื้อต่อการให้อิสระในการทำงาน และห้ามเพิกเฉยต่องานของพวกเขา รีบฟีดแบ็กให้ไว เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ชอบรออะไรนานๆ และไม่ชอบความไม่ชัดเจน

 

คนทำงาน Gen Z

น้องใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน คนวัยนี้มองโลกในแง่ดี มีความมั่นใจสูง การทำงานกับ Gen Z จึงต้องเข้าใจว่าพวกเขามั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง เรียนรู้ได้เร็ว และรับอิทธิพลจากเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คนใน Gen มักจะไม่นั่งรอคำสั่ง แต่จะคิดแล้วเสนอออกมาเอง ฉะนั้นหัวหน้างานจึงควรเน้นสั่งให้น้อย ฟังให้เยอะ พร้อมรับฟังพวกเขาอย่างไม่ตัดสินไปก่อน

 

วัฒนธรรมองค์กรเก่าๆ อาจสลัดคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่คนในองค์กรมองว่าวัฒนธรรมในองค์กรนั้นดีหรือเหมาะสมอยู่แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มองแบบนั้น เพราะนอกจากความแตกต่างของเจนเนอเรชันแล้ว ยังมีความแตกต่างของปัจเจกที่ทำให้แม้แต่คนเจนเดียวกันก็คิดต่างกันด้วย

 

จึงเรียกได้ว่าวัฒนธรรมองค์กร เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ไปจนถึงหัวหน้างาน ที่ต้องหาจุดร่วมในการทำงานที่ลงตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต ที่หากปรับตัวไม่ได้คนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจทิ้งองค์กรไว้ข้างหลังจนเติบโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และจำต้องล้มหายไปในที่สุด

 

4 เทคนิค บริหารคนหลายเจนฯ

นอกจากคนทำงานที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างซึ่งกันและกันแล้ว ผู้นำ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาพใหญ่ขององค์กร ต้องรุ้จักการบริหารคน บริหารองค์กร ที่มีความแตกต่างและความหลากหลาย ให้ทุกคนเดินหน้าไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่น โดย ธนาคารกรุงเทพ แนะ 4 เทคนิค การบริหารคนหลายเจนฯ ให้ทำงานร่วมกันได้ ดังนี้

 

1. เคารพและเข้าใจความแตกต่างซึ่งกันและกัน

ผู้นำองค์กร ต้องสร้างการยอมรับในความแตกต่างให้กับคนในองค์กร เพราะการที่จะให้คนหลายเจนฯ สามารถทำงานร่วมกันได้ ทุกคนต้องเปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องไม่มีอคติต่อกัน เช่น คนที่เคยทำงานมาก่อนต้องยอมรับความคิดเห็นของรุ่นน้อง โดยที่รุ่นน้องเองก็ต้องไม่คิดว่าความคิดของรุ่นพี่เก่า หรือล้าสมัย แต่ต้องยอมรับในประสบการณ์ในการทำงานที่มีมากกว่า

 

การที่เรามัวแต่คิดว่าความคิดเห็นของคนอื่นดูไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่มีเหตุผลมากพอ จะทำให้เราไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ แต่ยังจะทำให้เกิดอุปสรรคในการทำงานอีกด้วย

 

ดังนั้น การทำงานในองค์กรไม่ว่าจะทำงานกับ Gen ไหน สิ่งที่ควรคำนึงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือ ผู้ใหญ่ นั่นคือ การเคารพและการให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน

 

โลกนี้ไม่มีใครมีนิสัยเหมือนกัน 100% แม้แค่คน Gen เดียวกัน บางทีก็ยังนิสัยไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้นำองค์กรควรจำเป็นต้องช่วยให้พนักงานแต่ละ Gen ก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่าง Gen ไปให้ได้ เคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกันเพื่อลดความขัดแย้งของช่องว่างระหว่างวัย ควรมององค์กรเป็นหลักมากกว่าตนเอง อย่าเอาเรื่องวัยมาเป็นปัญหา การทำงานย่อมลดปัญหา และทำให้การทำงานราบรื่น เพราะจะมองในจุดเป้าหมายเดียวกัน คือความสำเร็จขององค์กร

 

2. พยายามหาจุดที่เห็นด้วยเหมือนกัน

เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือ การดีลกันลับหลัง แต่สิ่งที่ควรทำคือ การพยายามเอาปัญหาออกมาให้อยู่ในที่แจ้งก่อน ว่าตอนนี้คนในองค์กรกำลังมีปัญหาอะไรอยู่ แล้วมาดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในเชิงความคิดหรือปัญหาเรื่องบุคคล แล้วจึงหาวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้คลี่คลาย

 

และเวลาที่มีการถกเถียงกันแล้วหาทางออกไม่ได้ หรือความขัดแย้งระหว่างคนที่คิดเห็นไม่ตรงกัน ผู้นำองค์กรควรมองหาเรื่องที่มีความเห็นตรงกัน เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถทำความเข้าใจกันได้

 

3. พูดคุยสื่อสารกันให้มากขึ้น

ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหาหลายๆ อย่างเกิดขึ้นจากการไม่พูดคุยกัน หรือพูดคุยกันน้อยเกินไป เช่น เมื่อมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานบางคน บางคนไม่ได้แก้ปัญหา แต่เลือกที่จะให้สถานการณ์เงียบหายไปเอง ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็ดูเหมือนจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี จะเห็นได้ว่าหากต้องการให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราทำ หรือสิ่งที่เราคิด ต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น

 

การที่สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ไม่เพียงแต่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้งานมีปัญหาน้อยลงด้วย เพราะมีการสื่อสารและพูดคุยกันในทุกขั้นตอน และการที่ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญในการพูดคุยสื่อสารกับพนักงานในองค์กรมากขึ้น ก็ถือว่าจะนำพาซึ่งความสำเร็จในองค์กรหรือธุรกิจได้ แม้พนักงานจะมีหลายเจนฯ ก็ตาม

 

4. สร้างกิจกรรมให้พนักงาน พี่สอนน้อง – น้องสอนพี่

การนำพนักงานรุ่นใหม่และพนักงานรุ่นเก่ามาทำกิจกรรมเสวนากลุ่มและระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานไม่เข้าขากันของคนทั้งสองกลุ่ม คือวิธีที่ผู้นำองค์กรสามารถสร้างความเข้าใจระบบการทำงานร่วมกันได้ เช่น กิจกรรมพี่สอนน้อง หรือน้องสอนพี่ ให้พนักงานรุ่นใหม่จะต้องสอนให้พนักงานรุ่นเก่าใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนพนักงานรุ่นเก่าก็สามารถนำประสบการณ์ที่สั่งสมมานานมาช่วยสอนงาน – การแก้ปัญหาให้กับพนักงานรุ่นใหม่

 

ดังนั้น เรื่องคำแนะนำเรื่องการทำงานที่มาจากเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นประสบการณ์และคำสอนชั้นดีที่หาไม่ได้จากหนังสือ จึงควรให้พนักงานได้ทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือและให้คำปรึกษากัน เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น เมื่อรู้จักกันมากขึ้น ก็นำไปสู่การทำงานที่ราบรื่น

 

 

อ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , ธนาคารกรุงเทพ